นักบินอวกาศจากห้าประเทศร่วมกันทำภารกิจสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในถ้ำของอิตาลีเป็นระยเวลา 6 วัน
ภาพถ่ายโดย Vittorio Crobu
อวกาศคือสภาพแวดล้อมที่ไม่มีโอกาสที่สองจะมอบให้ เพราะความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจนำมาซึ่งหายนะถึงชีวิตของ นักบินอวกาศ ทั้งหมดในยาน
เมื่อการสำรวจอวกาศเต็มไปด้วยอุปสรรคและอันตราย ในปี 2016 องค์การอวกาศยุโรป (ESA) จัดโปรแกรมท้าทายความสามารถในการทำงานร่วมกันของบรรดานักบินอวกาศ ให้พวกเขาทำภารกิจในดินแดนที่ยังไม่ถูกสำรวจ มันคือเครือข่ายของถ้ำที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินถึงครึ่งไมล์ ในแคว้นปกครองตนเองซาร์ดิเนีย ของประเทศอิตาลี
ทีมสำรวจประกอบไปด้วยนักบินอวกาศจากสหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, สเปน และรัสเซีย พวกเขาต้องตั้งแคมป์และสำรวจทางวิทยาศาสตร์ภายในถ้ำดังกล่าวเป็นเวลานาน 6 วัน
“นักบินอวกาศเหล่านี้ต้องไว้วางใจเพื่อนร่วมทีม และทั้งผู้ฝึกตลอดจนครูสอน หลักการเดียวกันในภารกิจนี้ ‘ช้าคือเร็ว’ การทำงานครั้งนี้ต้องอาศัยความสามัคคี ตลอดจนคอยเช็คว่าเพื่อนร่วมทีมอยู่ที่ไหน” บางส่วนจากรายงานขององค์การอวกาศยุโรป “ทีมเวิร์คคือสิ่งที่สำคัญมากในการสำรวจยังสิ่งแวดล้อมที่แปลกแยก เสี่ยงอันตราย เช่นในอวกาศ”
ภูมิประเทศที่เป็นหินของถ้ำเหมาะสมอย่างมากในการจำลองสภาพแวดล้อมบนดาวเคราะห์ดวงอื่น พวกเขาจะเรียกตนเองว่า “The Cavenauts” และประสบการณ์ในภารกิจครั้งนี้จะถูกบันทึกไว้เป็นวิดีโอ โดยแต่ละคนจะได้รับมอบหมายหน้าที่ต่างกันไปตามความถนัด เช่น Jessica Meir นักบินอวกาศและนักชีววิทยาจากนาซ่าต้องศึกษาสิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ “มันน่าเหลือเชื่อมากที่ภายในถ้ำก็ยังเต็มไปด้วยสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย” เธอกล่าว “พวกมันเป็นสัตว์น่าทึ่งมากที่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ เช่น บางชนิดตาบอด และไม่มีเม็ดสีบนผิวเลย” หรือ Pedro Duque นักวิทยาศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมรับหน้าที่เก็บตัวอย่างของจุลินทรีย์ เพื่อการศึกษาต่อในอนาคต
ตัวอย่างวิดีโอบันทึกภารกิจประจำวันของ Jessica Meir
ทั้งนี้รูปแบบของภารกิจจะเลียนแบบภารกิจการทำงานบนสถานีอวกาศนานาชาติ ครอบคลุมตั้งแต่การจำกัดน้ำหนักของเสบียงและอุปกรณ์ระหว่างการทำงาน รวมไปถึงการวางแผนอย่างรอบคอบ และต้องไม่หลงเหลืออะไรทิ้งไว้เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ
และเมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นลงแล้ว บรรดา The Cavenauts เหล่านี้ก็จะได้รับการดูแลและต้อนรับไม่ต่างจากนักบินที่เพิ่งกลับมาจากสถานีอวกาศนานาชาติ “หลายวันที่ต้องทนอยู่กับความชื้น ไม่ได้เจอแสงแดดเลย การได้กลับมาสู่พื้นโลกอีกครั้งคือเรื่องน่ายินดี” รายงานจาก ESA
เรื่อง Mark Strauss
ติดตามการทำงานของพวกเขาได้ผ่านวิดีโอของ ESA
อ่านเพิ่มเติม