NGT x SaySci Ep.9 “กาแฟกระตุ้นให้เราตื่นได้อย่างไร?”

NGT x SaySci Ep.9 “กาแฟกระตุ้นให้เราตื่นได้อย่างไร?”

หลายคนคงรู้จัก “คาเฟอีน” ที่ผสมอยู่ในกาแฟว่ามีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นทำให้ร่างกายเราตื่นตัวได้ แต่เราเคยสงสัยกันหรือไม่ว่าคาเฟอีนมีกลไกการทำงานอย่างไร ตลอดจนมีผลดีผลเสียต่อร่างกายเราอย่างไร?

ในธรรมชาติ มีพืชประมาณ 60 ชนิดที่สามารถสร้างคาเฟอีนได้ โดยคาเฟอีนจะถูกเก็บสะสมในส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ ยอด เมล็ด เช่น ต้นกาแฟสามารถเก็บคาเฟอีนได้ในเมล็ด เราจึงนำเมล็ดของมันมาทำเป็นกาแฟ ซึ่งสามารถแบ่งกาแฟออกมาได้ 2 ชนิด ได้แก่ อาราบิกา และโรบัสตา

พืชสร้างคาเฟอีนขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับศัตรูทางธรรมชาติ เช่น แมลง และเชื้อราต่างๆ แต่เมื่อมนุษย์นำมารับประทาน กลับรู้สึกกระปรี้กระเปร่า สดชื่น จึงทำให้กาแฟได้รับความนิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่มในเวลาต่อมา ซึ่งหลักการทำงานของคาเฟอีน คือ ตัวโมเลกุลของคาเฟอีนมีลักษณะคล้ายกับสารตัวหนึ่งเรียกว่า “อะดีโนซีน” โดยในสมองของเรามีตัวรับอะดีโนซีนอยู่ เมื่อเรารับประทานคาเฟอีนเข้าไปแล้ว คาเฟอีนสามารถจับกับตัวรับของอะดีโนซีน จึงทำให้ร่างกายเรารู้สึกสดชื่น

อย่างไรก็ตาม ร่างกายของมนุษย์เราไม่ควรรับประทานคาเฟอีนเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานคาเฟอีนเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งหากคนเรารับประทานคาเฟอีนเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวันจะทำให้เกิดภาวะพิษคาเฟอีน เช่น ใจสั่น ปวดท้อง ปัสสาวะผิดปกติ รวมถึงมีอาการพูดจาวกไปวนมา

(เผยเบื้องหลังกาแฟขี้ชะมด กาแฟแพงที่สุดในโลก)

เคล็ดลับเล็กๆน้อยๆในการดื่มกาแฟ เราควรจะแบ่งกาแฟเป็น 4 แก้วเล็กๆ แก้วละไม่เกิน 200 ซีซี หลังจากนั้นเราทานทีละแก้วให้ห่างกันแก้วละ 1-2 ชั่วโมง เพราะว่าคาเฟอีนจะออกฤทธิ์ให้เราสดชื่นประมาณ 4-6 ชั่วโมง เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เรารู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าไปได้ทั้งวันแล้ว

 

อ่านเพิ่มเติม

NGT x SaySci Ep.8 “การแยกขยะ”

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.