กิ้งก่าคาเมเลี่ยน ไม่ได้เปลี่ยนสีเพื่อพรางตัวอย่างเดียว

ภาพวิดีโอของ กิ้งก่าคาเมเลี่ยน เปลี่ยนสีและลวดลายบนผิวหนังของมันไปมาตามสิ่งแวดล้อมช่างเป็นอะไรที่น่าทึ่งอย่างมาก ทว่าในความเป็นจริงแล้วบรรดากิ้งก่าคาเมเลี่ยนสามารถอำพรางร่างกายได้ขนาดนั้นเชียวหรือ?

ใช่ และไม่…คือคำตอบจากนักวิทยาศาสตร์ หลายคนคงมีภาพจำจากเจ้ากิ้งก่านาม Pascal จากอนิเมชั่นเรื่อง “ราพันเซล เจ้าหญิงผมยาวกับโจรซ่าจอมแสบ” โดยค่ายวอลต์ดิสนีย์ ซึ่งสามารถเปลี่ยนสีสันบนผิวหนังให้กลมกลืนไปกับฉากหลังทุกรูปแบบ

“ผู้คนเชื่อกันว่าถ้านำกิ้งก่าคาเมเลี่ยนไปวางบนตารางหมากรุก พวกมันจะเปลี่ยนสีจนกลมกลืนเนียนไปกับตารางเลยทีเดียว แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น” Michel Milinkovitch นักพันธุศาสตร์ด้านวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยเจนีวากล่าว ตัวเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสีสันบนผิวหนังของสรรพสัตว์ สำหรับวิดีโอที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย กิ้งก่าคาเมเลี่ยนเปลี่ยนสีสันไปมาตามฉากและสิ่งแวดล้อมรอบตัวนั้นเป็น “ของปลอม”

อย่างไรก็ดี ทักษะการเปลี่ยนสีสันของมันนั้นก็ยังถือได้ว่าเป็นพรสวรรค์ที่น่าทึ่งโดยแท้ และไม่ได้มีไว้แค่เพื่อการพรางตัวอย่างเดียวเท่านั้น (อันที่จริงการเปลี่ยนสีบนร่างกายช่วยให้มันกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมกว้างๆ อย่างแปลงดอกไม้หรือกอหญ้าได้) ซึ่งคุณประโยชน์บางข้อนั้นก็ไปไกลกว่าจินตนาการของมนุษย์เสียอีก จะมีอะไรบ้างไปดูกัน

(กิ้งก่าโบราณเองก็สลัดหางเพื่อหนีจากผู้ล่า)

ผสมกลมกลืน

กิ้งก่าคาเมเลี่ยนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ยากจะสังเกตเห็น ลองถามบรรดานักสำรวจที่กำลังมองหามันตามแหล่งธรรมชาติดูได้ และทักษะนี้มีเหตุผลอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากว่ากิ้งก่าเหล่านี้ไม่มีขากรรไกรคมๆ ไม่มีผิวหนังที่เป็นพิษ ในขณะเดียวกันพวกมันก็ไม่ได้เคลื่อนที่รวดเร็ว ดังนั้นแล้วการหลบซ่อนตัวอยู่นิ่งๆ กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมคือวิธีการที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้พวกมันรอดจากสายตาของบรรดานักล่า

ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายของกิ้งก่าคาเมเลี่ยนนั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการเปลียนสี รายงานจาก Milinkovitch ด้วยรูปลักษณ์ตามธรรมชาติของมันเองนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับกองใบไม้หรือพุ่มไม้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับแมลงกิ่งไม้ที่มีรูปลักษณ์คล้ายกิ่งไม้

กิ้งก่าคาเมเลี่ยน Decary’s leaf หรือ Brokesia decaryi ตัวผู้และตัวเมีย ส่วนใหญ่แล้วกิ้งก่าคาเมเลี่ยนมีรูปลักษณ์ที่กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่พวกมันสามารถเปลี่ยนโทนสีของร่างกายให้สว่างขึ้นได้
ภาพถ่ายโดย Christian Ziegler

เท่านั้นยังไม่พอ พวกมันยังมีความสามารถในการปรับลดความสว่างของผิวหนังอีกด้วย Devi Stuart-Fox นักชีววิทยาวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ผู้ศึกษาการเปลี่ยนสีของกิ้งก่าคาเมเลี่ยนมานานมากกว่าสิบปีเล่าว่า เมื่อกิ้งก่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงน้อย เช่นป่าทึบ เซลล์เมลานินที่ประกอบด้วยเม็ดสีสีน้ำตาลถึงดำจะถูกส่งมายังผิวหนัง และทำให้ร่างกายของกิ้งก่ามีสีเข้มขึ้น เพื่อช่วยในการพรางตัว

“เหมือนผสมสีเลยครับ ในตอนแรกคุณมีสีเขียว แต่เมื่อผสมสีดำลงไป ความสว่างของสีเขียวคุณจะถูกกลืนหายไป” Stuart-Fox กล่าวเสริม ในความเป็นจริงจะกล่าวว่าพวกมันสามารถเปลี่ยนสีบนร่างกายให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ก็ไม่ผิดนัก เพียงแต่ความสามารถนี้มีข้อจำกัดที่ตั้งอยู่บนเฉดสีที่พวกมันสามารถเปลี่ยนได้ ซึ่งไม่ได้กว้างมากนักบนวงล้อสี

 

แสดงความแข็งแกร่ง

กิ้งก่าคาเมเลี่ยนมีสองสถานะ Milinkovitch กล่าว นั่นคือเมื่อพวกมันต้องการที่จะกลืนหายไปกับสิ่งแวดล้อม กับเมื่อพวกมันต้องการปรากฏตัวให้เห็น ด้วยการเปลี่ยนสีสันบนร่างกายไปมา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการระเบิดสีสันเลยทีเดียว และท่ามกลางป่าอันเขียวขจีก็ไม่มีสิ่งใดจะโดดเด่นไปกว่าสถานการณ์เมื่อกิ้งก่าคาเมเลี่ยนตัวผู้สองตัวที่กำลังเผชิญหน้ากัน ปกติแล้วพวกมันเป็นสัตว์ที่หวงดินแดนอย่างมาก และเมื่อถึงตัวผู้ล่วงล้ำเข้าเขตแดนของกันและกัน พวกมันจะแสดงสีสันออกมา “ทั้งเหลือง, แดง และขาว บางครั้งพวกมันก็กลืนหายไปกับต้นไม้ด้วยซ้ำ”

ตัวผู้ที่อ่อนแอกว่า ซึ่งมักจะเป็นกิ้งก่าที่ตัวเล็ก และมีสีสันไม่สดใสเท่า จะเป็นฝ่ายยอมแพ้เองด้วยการเปลี่ยนสีไปเป็นสีแรกเมื่อมันเจอกัน เพื่อเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการต่อสู้ได้ยุติลงแล้ว

หรือบางที กิ้งก่าคาเมเลี่ยนอาจใช้อีกกลยุทธ์หนึ่ง ทีมนักวิจัยพบว่ากิ้งก่าตัวผู้บางตัวเปลี่ยนสีเพื่อเลียนแบบกิ้งก่าตัวเมีย เพื่อที่พวกมันจะได้รอดจากการถูกคุกคาม หรือเลี่ยงการต่อสู้กับตัวผู้ตัวอื่น ซึ่งหมึกกระดองเองก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน นอกจากนั้น ในกิ้งก่าบางตัวพวกมันยังใช้สีสันดึงดูดใจตัวเมียอีกด้วย และหากวิธีนี้ไม่ได้ผลตัวเมียก็จะแสดงออกมาตรงๆ ว่ามันไม่สนใจผ่านสีสันบนร่างกาย

กิ้งก่าคาเมเลี่ยน Parson หรือ Calumma parsonii บนเกาะมาดากัสการ์ พวกมันจะเปลี่ยนสีสันบนร่างกายเมื่อต้องการจับคู่ผสมพันธุ์หรือต่อสู้กัน
ภาพถ่ายโดย Christian Ziegler

 

ความประทับใจ และการปฏิเสธ

“กิ้งก่าตัวเมียจะมีปฏิกิริยาตอบสนอง ซึ่งสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับว่าพวกมันอยู่ในช่วงพร้อมผสมพันธุ์หรือไม่” Milinkovitch กล่าว หากกิ้งก่าตัวเมียนั้นๆ มีสเปิร์มของตัวผู้อื่นอยู่ในตัวแล้วมันจะเปลี่ยนสีเป็นสีเข้ม และแสดงกิริยาเกรี้ยวกราดออกมา ด้านตัวผู้เองก็ก้าวร้าวได้เช่นกัน ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะสังเกตสีสันของฝ่ายตรงข้าม โดยปกติแล้วหากตัวเมียนั้นๆ พร้อมที่จะผสมพันธุ์มันมักจะไม่แสดงสีสันชัดเจนออกมา แต่จะคงไว้ซึ่งสีเขียวปนน้ำตาล

ด้าน Stuart-Fox เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของสีสันนั้นยังนำมาซึ่งประโยชน์อื่นๆ อีก ในงานวิจัยปี 2016 บ่งชี้ว่าสีสันบนร่างกายของกิ้งก่านั้นมีส่วนช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย จากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเบียร์ดดราก้อนสามารถเปลี่ยนแปลงสีสันของมันได้ตามอุณหภูมิ เช่นเดียวกับกิ้งก่าคาเมเลี่ยน

ในฐานะของสัตว์เลือดเย็นแล้ว อุณหภูมิร่างกายของมันแปรผกผันตามสิ่งแวดล้อม นั่นทำให้พวกมันต้องนอนผึ่งแดดยามเช้า ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมในแต่ละวัน สีโทนเข้มจะช่วยให้ร่างกายของกิ้งก่าดูดซับแสงแดดได้มากกว่า และดูเหมือนว่ากิ้งก่าคาเมเลี่ยนเองก็วิวัฒน์ร่างกายขึ้นมาบนหลักการนี้ เมื่อร่างกายของมันเย็นลง และช่วงเวลานั้นเป็นตอนกลางวัน พวกมันจะเปลี่ยนสีสันบนร่างกายให้เป็นโทนสีเข้ม เพื่อดูดกลืนความร้อนให้ได้มากที่สุด แม้ว่าสีนั้นๆ จะดูโดดเด่นจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ก็ตาม

กิ้งก่าคาเมเลี่ยนยักษ์ Malagasy หรือ Furcifer oustaleti มีถิ่นอาศัยในอุทยานแห่งชาติ Kirindi บนเกาะมาดากัสการ์
ภาพถ่ายโดย Christian Ziegler

เป็นไปได้ว่าความสามารถในการเปลี่ยนสีสันบนร่างกายของกิ้งก่านี้มีวิวัฒนาการที่เริ่มต้นจากการพรางตัวเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ปัจจุบันงานวิจัยเผยให้เห็นว่าการเปลี่ยนสีของมันนั้นขยายไปสู่การอำนวยความสะดวกให้แก่ความจำเป็นอื่นๆ ของร่างกาย เช่น การควบคุมอุณหภูมิเป็นต้น

ทว่าสำหรับ Stuart-Fox นั้น จุดประสงค์แรกของมันยังคงสร้างความประทับใจให้แก่เธอเสมอมา เธอเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2003 ว่า ขณะที่กำลังวิจัยภาคสนามในแอฟริกาใต้ เธอบังเอิญก้าวข้ามกิ้งก่าคาเมเลี่ยนสายพันธุ์ Smith’s dwarf ที่สีเข้มๆ ของมันกลมกลืนไปกับกอดอกไม้ “เป็นการพรางตัวที่สมบูรณ์แบบมาก” เธอกล่าว ในขณะเดียวกันเจ้ากิ้งก่าก็กำลังดูดซับแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่

“ฉันแค่คิดว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตนี้ไม่เคยหยุดทำให้เราประหลาดใจจากความสามารถของมันเลย”

เรื่อง Benji Jones

 

อ่านเพิ่มเติม  สัตว์เหล่านี้มีหางย๊าวยาว

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.