ในโลกแห่งความแฟนตาซี บ่อยครั้งที่ “ยาพิษ” มักถูกเชื่อมโยงเข้ากับความร้ายกาจของสตรี เพราะพิษร้ายแรงสังหารเหยื่อได้อย่างเงียบงันและยากที่จะตรวจสอบเช่นนี้ วัฒนธรรมการใช้พิษกำจัดศัตรูจึงถูกนำเสนอผ่านละครและภาพยนตร์หลายเรื่องนับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ทั้งยังคงทรงพลังในโลกแห่งความเป็นจริง ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2017 นานาชาติพร้อมใจกันนำเสนอกรณีลอบสังหาร “คิม จอง นัม” พี่ชายต่างมารดาของผู้นำเกาหลีเหนือ ด้วยสารพิษวีเอ็กซ์ ณ สนามบินนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์ คิม จอง นัม เสียชีวิตในเวลาเพียง 15 – 20 นาทีที่ได้รับสารพิษ และในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ก็สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้เป็นหญิงชาวอินโดนีเซียและเวียดนาม ด้านเกาหลีเหนือปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงวินาทีลอบสังหารคิม จอง นัม
ทว่าในความเป็นจริง ไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่นำพิษมาเป็นอาวุธ รัสเซียใช้ประโยชน์จากฆาตกรเงียบนี้ในหลายภารกิจที่ต้องการความแนบเนียน กรณีที่โด่งดังเกิดขึ้นในปี 2006 อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโก อดีตสายลับเคจีบีชาวรัสเซียถูกอดีตสายลับเคจีบีด้วยกันวางยาในน้ำชาที่ทั้งคู่ดื่มด้วยกันระหว่างการพบปะในอังกฤษ ต่อมาลิตวิเนนโกล้มป่วย และในที่สุดก็เสียชีวิตในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา ผลการสืบสวนพบว่าสารพิษดังกล่าวคือ โพโลเนียม 210 ที่มีฤทธิ์ทำลายหลอดลมและเม็ดเลือดขาว ซึ่งไม่อาจหาซื้อได้ทั่วไป แต่ต้องสกัดจากกากนิวเคลียร์ บ่งชี้ว่ารัฐบาลรัสเซียน่าจะอยู่เบื้องหลังการสอบสังหารครั้งนั้น
จากสถิติพบว่า ส่วนใหญ่ผู้วางยาพิษมักทำงานเกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ ซึ่งสามารถเข้าถึงสารพิษได้ง่ายกว่าคนทั่วไป หรืองานที่ต้องดูแลผู้อื่นเช่น แม่บ้านหรือคนดูแลผู้สูงอายุเพื่อความแนบเนียนในการวางยา และมีหลายกรณีที่เหยื่อและผู้วางยามีความสัมพันธ์กันมาก่อน เช่น แม่-ลูก, คู่สมรส หรือเพื่อน การฆ่าใครสักคนด้วยยาพิษนั้นต้องอาศัยการวางแผน และกลอุบาย พิษสังหารช่วยให้ฆาตกรไม่ต้องเผชิญหน้าหรือใช้กำลังปะทะกับเป้าหมายโดยตรง และผู้เชี่ยวชาญเสริมว่าหากการฆาตกรรมในอดีตด้วยยาพิษไม่ถูกตรวจพบมีแนวโน้มว่าผู้ลงมืออาจใช้วิธีเดียวกันนี้อีกในอนาคต
ข้อมูลจากหน่วยงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ ที่มุ่งสำรวจรูปแบบการฆาตกรรมจำนวน 195,578 คดี ตั้งแต่ปี 1999 – 2012 ชี้ว่า สองในสามของฆาตกรชายใช้อาวุธปืนสังหารเหยื่อ ส่วนในฆาตกรหญิงนั้นอาวุธที่ใช้มีความหลากหลายตั้งแต่ยาพิษ ไปจนถึงเชือก มีด และของแข็ง โดยหากเทียบเป็นสถิติแล้ว 67% ของผู้ชายใช้ปืน มีเพียง 0.4 เท่านั้นที่ใช้ยาพิษ ส่วนในผู้หญิงมี 39% ที่ใช้อาวุธปืน และอีก 2.5% ใช้ยาพิษ โดยในที่นี้หมายความถึงยาธรรมดาๆ ทั่วไป เช่นยานอนหลับ ไม่ใช่สารพิษอันตรายอย่างที่สายลับรัสเซียใช้
ที่สถิติออกมาดูน้อยเป็นเพราะสัดส่วนของอาชญากรชายมีมากกว่าอาชญากรหญิงถึง 9 เท่า แต่จากรายงานชี้ว่าหากเทียบกันแล้ว ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะใช้ยาพิษสังหารเหยื่อมากกว่าผู้ชายถึง 7 เท่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? พิจารณาจากความแข็งแรงของร่างกายตามธรรมชาติชายและหญิงอาจพอได้คำตอบ พละกำลังของผู้หญิงที่มีน้อยกว่าส่งผลให้พวกเธอต้องใช้เครื่องทุ่นแรง แม้ว่าในบางครั้งเหยื่อสังหารจะเป็นผู้หญิงด้วยกันก็ตาม ทว่าไม่ใช่แค่ร่างกายเท่านั้น สมองที่แตกต่างก็เป็นปัจจัยสำคัญ
บนเส้นทางวิวัฒนาการที่ต่างกัน
เมื่อเผชิญปัญหา ผู้ชายมักมีแนวโน้มที่จะหุนหันพลันแล่น และตอบโต้กลับด้วยการเผชิญหน้าและความรุนแรง ในขณะที่ผู้หญิงมักหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และตอบโต้ด้วยการกระทำลับหลังมากกว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
นายแพทย์ชัชพล เกียรติขจรธาดา ผู้เขียนหนังสือ “500 ล้านปีของความรัก” ที่ไขปริศนาพฤติกรรมมนุษย์ผ่านทฤษฎีวิวัฒนาการ เขียนบทหนึ่งเกี่ยวกับการตอบโต้ที่แตกต่างกันของชายและหญิงไว้ว่า พฤติกรรมการเลือกตอบโต้ที่ต่างกันนี้เป็นผลมาจากทฤษฎีวิวัฒนาการทฤษฎีหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า “parental investment theory” หมายความถึงการลงทุนที่ไม่เท่ากันระหว่างเพศชายและเพศหญิง
ตามธรรมชาติในกระบวนการสืบพันธุ์เพื่อผลิตทายาท ผู้ชายลงทุนน้อยกว่า เพราะเพียงหลับนอนกับผู้หญิงก็สามารถส่งต่อพันธุกรรมของตนไปยังรุ่นต่อไปได้แล้ว แต่ในผู้หญิงกระบวนการผลิตทายาทต้องใช้เวลาและการลงทุน ไหนจะต้องอุ้มท้อง ระแวดระวังภัย และกินอาหารให้เพียงพอเพื่อพัฒนาการที่ดีของลูก ดังนั้นในการคัดเลือกทางธรรมชาติ ผู้ชายที่มีความแข็งแรง ใช้พละกำลังและความรุนแรงต่อสู้กับศัตรู ปกป้องเมียและลูกได้จึงถูกผู้หญิงคัดเลือกมากกว่าผู้ชายที่อ่อนแอ และไม่มีความก้าวร้าว ในขณะเดียวกันผู้หญิงที่ดูแลลูก หลีกเลี่ยงการสร้างศัตรูและการเผชิญหน้า กลับเป็นผลดีต่อการผลิตทายาทมากกว่า ลักษณะของพฤติกรรมดังกล่าวจึงถูกผู้ชายคัดเลือกมาเช่นกัน (แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายทุกคนจะก้าวร้าวรุนแรง และไม่มีผู้หญิงที่พร้อมจะตบตีคู่กรณี)
พิจารณาให้ละเอียดยิ่งขึ้น บนเส้นทางแห่งการวิวัฒนาการที่ผ่านมา อารยธรรมของมนุษย์เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นเมื่อไม่กี่พันปี และช่วงเวลาส่วนใหญ่ของเรานับตั้งแต่ปรากฏขึ้นบนโลกเมื่อราว 200,000 ปีก่อนนั้น คือโลกในธรรมชาติที่ไม่มีกฎเกณฑ์ มีเพียงสัญชาตญาณการเอาตัวรอด ฉะนั้นถิ่นที่อยู่ แหล่งอาหาร ตลอดจนลำดับชั้นทางสังคมคือเรื่องสำคัญ สมองของมนุษย์เพศชายจึงปรับตัวให้สร้างอารมณ์โกรธรุนแรงที่เกินกว่าเหตุเพื่อป้องกันตัว เพราะในสังคมยุคหินคู่กรณีหรือปัญหาเล็กๆ เช่นการรุกล้ำเขตแดนหากปล่อยเอาไว้อาจลุกลามใหญ่โตและสร้างความเสียหายต่อทั้งเผ่าได้ ดังนั้นการตอบสนองเกินกว่าเหตุจึงเป็นฟังก์ชันมีประโยชน์ที่ถูกส่งต่อกันมา บ่อยครั้งเราจึงเห็นผู้ชายสองคนลงไปต่อยตีกันบนท้องถนนเพียงเพราะขับรถปาดหน้า หรือถึงขั้นชักปืนขึ้นมายิงเพียงเพราะเผลอไปจ้องตากันในสถานบันเทิง
ในผู้หญิงที่มีความหุนหันและตอบสนองอารมณ์โกรธที่น้อยกว่าชาย สมองของพวกเธอให้ความสำคัญกับอารมณ์ และความสัมพันธ์เป็นหลัก เนื่องจากการจะเอาตัวรอดในยุคหิน ความสัมพันธ์ระหว่างตนกับสมาชิกอื่นในกลุ่มถือเป็นเรื่องสำคัญ หากถูกขับไล่ หรือถูกทิ้งโดยสมาชิกเผ่า เป็นการยากที่ผู้หญิงและลูกจะสามารถเอาตัวรอดได้เพียงคนเดียวในป่าที่มีสัตว์ผู้ล่ามากมาย เมื่อสมองของผู้หญิงรู้สึกว่าความสัมพันธ์คือเรื่องสำคัญ ฉะนั้นกลยุทธ์ที่ผู้หญิงใช้จัดการกับความโกรธเกรี้ยวจึงมักปรากฏในพฤติกรรมทำลายลับหลังเช่น การนินทาว่าร้ายมากกว่าการใช้กำลังเช่นผู้ชาย เพื่อหวังทำลายภาพพจน์ของคนๆ นั้นในสังคม ระบบความคิดและพฤติกรรมที่ต่างกันระหว่างสองเพศนี้อาจพอฉายภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่าทำไมผู้ชายจึงมีแนวโน้มที่จะใช้กำลังมากกว่า ส่วนผู้หญิงเองก็มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีลับหลัง เช่น พิษสังหาร เป็นต้น
การทำลายตนเอง
เพราะสมองของผู้หญิงใส่ใจกับความสัมพันธ์เช่นนี้ อัตราของผู้ป่วยด้วยโรคจิตเวชจึงมีสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 20 – 40% ด้านหน่วยงานทางจิตเวชของสหราชอาณาจักรเคยสำรวจเอาไว้ในปี 2007 พบว่า 19% ของผู้หญิงเคยมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ส่วนในผู้ชายอยู่ที่ 14% ทว่าที่น่าประหลาดก็คือ ข้อมูลผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2012 ระบุว่า 3 ใน 4 เป็นผู้ชาย ส่วนในสหรัฐฯ ข้อมูลปี 2010 ชี้ว่า 79% ของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 38,000 ก็เป็นผู้ชายเช่นกัน เพราะอะไร?
หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้จำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงก็คือ วิธีการฆ่าตัวตาย ผู้ชายมักเลือกวิธีการทำลายตนเองด้วยความรุนแรงมากกว่าผู้หญิงเช่น ใช้อาวุธปืน, แขวนคอ หรือกระโดดจากที่สูง ส่วนในผู้หญิงมักเลือกวิธีที่นุ่มนวลกว่าเช่น การกินยาเกินขนาด หรือกรีดข้อมือ หนึ่งในทฤษฎีที่ถูกหยิบยกมาอธิบายความต่างนี้คือ ความหุนหันพลันแล่นที่ผู้ชายมีมากกว่า ส่งผลให้กระบวนการฆ่าตัวตายของพวกเขามีแนวโน้มที่จะทำสำเร็จมากกว่าไปด้วยเมื่อเทียบกับผู้หญิง
ความแตกต่างในชายและหญิงต่อประเด็นการฆ่าตัวตายยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ นั่นคือเรื่องของฮอร์โมน ด็อกเตอร์ Mark Goulston จิตแพทย์ผู้เขียนหนังสือ “Just Listen” ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารด้วยมุมมองทางจิตวิทยาชี้ว่า การลดลงของระดับฮอร์โมนอ็อกซีท็อกซินในผู้หญิง และการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเทสโทเตอโรนในผู้ชายน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ จากการทำงานด้านจิตเวชหลายสิบปี Goulston พบว่า ผู้ป่วยหญิงที่เคยและไม่เคยพยายามฆ่าตัวตายมักมีอาการป่วยจากการขาดความรักความอบอุ่น ในขณะที่ผู้ป่วยชายมักมีปัญหาเริ่มต้นจากความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไม่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับงานวิจัยในปี 2013 โดย NCBI ที่พบว่า ระดับของฮอร์โมนเทสโทเตอโรนมีผลต่อความก้าวร้าวในสมอง และการฆ่าตัวตาย หากในผู้ป่วยวัยรุ่นมีฮอร์โมนนี้มากเกินไป แต่ไม่สามารถแสดงออกถึงพลังอำนาจความเป็นชายได้ พวกเขาจะรู้สึกว่าคุณค่าในตนเองลดลง และในทางกลับกันหากผู้ป่วยชายสูงอายุมีระดับของฮอร์โมนเทสโทเตอโรนลดลง พวกเขาจะมีความเสี่ยงคิดฆ่าตัวตาย
การค้นพบนี้อาจเป็นแนวทางช่วยเยียวยาผู้ป่วยทางจิตและลดจำนวนผู้ฆ่าตัวตายเพศชายลงในอนาคต หากสามารถปรับระดับของฮอร์โมนเทสโทเตอโรนได้ เช่นเดียวกับที่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่าการเพิ่มฮอร์โมนอ็อกซีท็อกซินช่วยคลายอาการซึมเศร้า และเพิ่มทักษะการเข้าสังคมให้แก่ผู้ป่วยโรคออทิสซึม
ตลอดเส้นทางที่ผ่านมานับตั้งแต่ยุคหินจนถึงปัจจุบัน ธรรมชาติได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามนุษย์เพศชายและหญิงนั้นมีความแตกต่างกันมากแค่ไหน และไม่ใช่แค่เพียงร่างกายเท่านั้น เมื่อผู้หญิงฆ่าตัวตายเพราะความความเจ็บปวดทางใจ ในขณะที่ผู้ชายฆ่าตัวตายเพราะความละอาย คำปลอบโยนที่ใช้ได้กับฝ่ายหนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้กับอีกฝ่ายด้วยเสมอไป ฉะนั้นการเรียนรู้ความต่างระหว่างเราจะช่วยเพิ่มความเข้าใจที่มีต่อกันให้มากขึ้น ตลอดจนหาวิธีรับมือที่เหมาะสมกับเพศนั้นๆ
อ่านเพิ่มเติม
แหล่งข้อมูล
500 ล้านปีของความรัก โดย นายแพทย์ชัชพล เกียรติขจรธาดา
The weapons men and women most often use to kill
Why do many female serial killers chose poison as their weapon?
A Psychological Profile of a Poisoner
Male Suicide vs. Female Suicide
Differences in Suicide Among Men and Women
Why are men more likely than women to take their own lives?