เลือดข้นความรู้เข้ม! การเก็บลายนิ้วมือบนวัตถุพยาน

เลือดข้นความรู้เข้ม! การเก็บลายนิ้วมือบนวัตถุพยาน

เลือดข้นความรู้เข้ม! การเก็บลายนิ้วมือบนวัตถุพยาน

ในกลางศตวรรษที่ 18 ก่อนที่โลกจะรับรู้ว่า “ลายนิ้วมือ” ของมนุษย์เรานั้นไม่มีใครมีรอยเหมือนกันเลย อาชญากรที่พ้นโทษไปแล้วและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้มักเปลี่ยนรูปลักษณ์หน้าตา และทรงผมของพวกเขาให้ต่างจากเดิม ทว่ามีหลักเกณฑ์หนึ่งที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้คือ “มานุษยมิติ” (Anthropometry) คิดค้นขึ้นโดย อัลโฟงส์ แบร์ติยอง (Alphonse Bertillon) นักอาชญาวิทยาชาวฝรั่งเศส ด้วยแนวคิดที่ว่ามนุษย์แต่ละคนมีขนาดสัดส่วนของอวัยวะต่างๆ ไม่เท่ากัน และการวัดส่วนสูง ความยาวลำตัว ความกว้างของหัว ความยาวเมื่อเหยียดแขน สีปาก สีตา ไปจนถึงลักษณะจมูกและคิ้ว ฯลฯ สามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบการชี้ตัวบุคคลได้ หลังแนวคิดดังกล่าวถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายไม่นาน วิธีการระบุตัวอาชญากรนี้กลับก่อความสับสนเมื่อนักโทษใหม่มีขนาดของร่างกายตรงกับนักโทษเก่าที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันมาก่อน ฉะนั้นในเวลาต่อมาแนวคิดนี้จึงถูกลบล้างไป

ต่อมาในทศวรรษ 1890 Sir William Herschel ข้าราชการอังกฤษในอินเดียค้นพบว่ารอยประทับนิ้วมือบนสัญญากู้ยืมเงินสามารถนำมาระบุอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคลได้ อันที่จริงการใช้รอยนิ้วมือยืนยันตัวเกิดขึ้นมานานแล้ว ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีการพบหลักฐานลายนิ้วมือประทับลงบนเอกสารเก่าแก่ของจีนอายุ 220 ปีก่อนคริสต์กาล และในจักรวรรดิโรมันเองมีบันทึกเกี่ยวกับการสะสางคดีความคืนความบริสุทธิ์ให้แก่ชายตาบอด เมื่อรอยฝ่ามือที่ประทับบนคราบเลือดได้รับการพิสูจน์ว่าไม่ใช่ฝีมือของเขา

ลายนิ้วมือ
ลายนิ้วมือคือผิวหนังที่นูนขึ้นและลึกลงไปเป็นร่อง
ขอบคุณภาพจาก motherboard.vice.com

ลายนิ้วมือคือส่วนของผิวหนังที่นูนขึ้นมาจนมองเห็นเป็นลายเส้น แม้ความสูงและร่องลึกของมันจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทว่าวิวัฒนาการที่มีขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มความฝืดในการยืดจับ และเพิ่มประสิทธิภาพของประสาทสัมผัสนี้กลับทรงพลังอย่างน่าทึ่งในการระบุอัตลักษณ์ของบุคคล เพราะบนโลกใบนี้ไม่มีใครที่มีลายนิ้วมือเหมือนกันเลยแม้แต่ฝาแฝดก็ตาม อันที่จริงในทางสถิติ จากการศึกษาของ Sir Francis Galton บุคคลแรกที่พบว่าลายนิ้วมือเป็นลักษณะเฉพาะตัวชี้ว่ามีโอกาสที่คนๆ หนึ่งจะมีลายนิ้วมือเหมือนกับอีกคนอยู่ที่ 1 ใน 64,000,000,000 แต่ในการรวบรวมลายนิ้วมือที่ผ่านมา นับตั้งแต่ Sir William Herschel เขียนหนังสือ “The Origin of Finger-printing” เผยแพร่เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ยังไม่เคยปรากฏว่ามีคนสองคนที่มีลายนิ้วมือเหมือนกัน

ลายนิ้วมือ
ไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้นที่มีลายนิ้วมือ กอริลล่าและชิมแปนซีก็มีลายนิ้วมือเช่นกัน รวมไปถึงโคอาล่าด้วย พวกมันเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวที่มีลายนิ้วมือคล้ายคลึงกับมนุษย์มากที่สุด
ขอบคุณภาพจาก Maciej Henneberg, Adelaide University

หลังไข่ผสมกันสเปิร์มได้ 10 – 11 สัปดาห์ ลายนิ้วมือจะเริ่มสร้างขึ้นและจะคงอยู่ตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าเราจะอายุเพิ่ม หรือได้รับบาดแผลก็ตาม กระบวนการสร้างลายนิ้วมือถูกกำหนดโดยยีนบนโครโมโซม 7 ตำแหน่ง การถ่ายทอดทางพันธุกรรมเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่ง แต่ยังมีอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อตัวอ่อนในครรภ์ นั่นทำให้เรามีลายนิ้วมือที่ไม่เหมือนใคร

ลายนิ้วมือคงรูปลักษณ์เดิมนับตั้งแต่วันแรก และจะเปื่อยสลายไปก็ต่อเมื่อสิ้นชีวัน รอยนิ้วมือที่มีเส้นหยาบ รอยใหญ่ บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นของผู้ชาย ในขณะที่คนผอมมักปรากฏรอยนิ้วมือเรียวยาว ส่วนคนอ้วนรอยนิ้วมือจะมีลักษณะที่กว้างกว่า เมื่อมองลงให้ลึกกว่าเดิม จุดเล็กๆ บนรอยนิ้วมืออาจพอบอกได้ว่าคนๆ นี้เป็นช่างเย็บผ้าที่มักถูกเข็มตำเป็นประจำ รอยจีบแน่นๆ ตามทางยาวของนิ้วที่เกิดจากการอยู่กับน้ำเป็นเวลานานอาจกำลังเล่าว่าเขาหรือเธอซักผ้าล้างจานเป็นอาชีพ ส่วนมือกีตาร์ก็มักจะมีรอยด้านที่เห็นได้ชัดเจน ฉะนั้นในการพิจารณารอยนิ้วมือเล็กๆ นี้ เปรียบได้กับการพลิกหน้าอ่านประวัติเจ้าของ

ชมวิดีโอระยะใกล้ของลายนิ้วมือและรูเหงื่อแบบชัดๆ ได้ที่นี่

 

รอยนิ้วมือในที่เกิดเหตุ

เมื่อใครสักคนทำความผิด คราบเหงื่อและคราบไขมันที่ถูกขับออกมาจากรูเหงื่อบริเวณปลายนิ้วมือจะปรากฏอยู่บนทุกจุดที่สัมผัส ฉะนั้นการเก็บลายนิ้วมือในสถานที่เกิดเหตุจึงเป็นหลักฐานสำคัญในการระบุตัวผู้ก่อเหตุได้ แม้ว่ารอยนิ้วมือนั้นๆ จะสามารถมองเห็นหรือไม่สามารถมองเห็นได้ก็ตามเรียก “ลายนิ้วมือแฝง”

ปกติแล้วรอยนิ้วมือจะปรากฏได้ง่ายบนวัตถุผิวเรียบมัน เช่น กระจก หรือเฟอร์นิเจอร์บางชิ้นในที่เกิดเหตุ แต่การเก็บรอยนิ้วมือที่มองเห็นได้อย่างเดียวไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่จะเก็บลายนิ้วมือแฝงด้วย เพื่อข้อมูลในการสืบสวนเพิ่มเติม แม้ว่าในการเก็บแต่ละครั้งนั้นจะพบรอยนิ้วมือของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีติดมาด้วยมากกว่าครึ่งก็ตาม แต่ในหลายกรณีที่ผ่านมารอยนิ้วมือแฝงเหล่านี้คือหลักฐานสำคัญที่โยงไปสู่คนร้ายตัวจริง และด้วยความที่รอยนิ้วมือแฝงไม่อาจมองเห็นได้ทั้งหมด หรือไม่สามารถมองเห็นได้เลย จึงต้องมีเทคนิคเฉพาะในการเก็บรอยนิ้วมือ

ลายนิ้วมือ
ลักษณะของลายนิ้วมือแบ่งประเภทได้เป็น 9 แบบ แถวบนจากซ้ายไปขวา ลายนิ้วมือแบบโค้งราบ, โค้งกระโจม, มัดหวายปัดขวา แถวกลางลายนิ้วมือแบบมัดหวายปัดซ้าย, มัดหวายแฝด, มัดหวายกระเป๋าขวา ส่วนแถวล่างคือลายนิ้วมือแบบมัดหวายกระเป๋าซ้าย, ก้นหอย และแบบซับซ้อน (แต่ละตำราอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกัน)
ขอบคุณภาพจาก Fingerprints.tk

 

วิธีที่ 1 ใช้ฝุ่นผงเคมี

หลักการคือนำอนุภาคของฝุ่นให้ไปติดกับคราบเหงื่อจากรอยนิ้วมือ ดังนั้นฝุ่นที่เลือกใช้จำเป็นต้องมีสีที่ตัดกับพื้นผิวของวัตถุ เพื่อการมองเห็นที่ชัดเจน หรือในบางครั้งเจ้าหน้าที่อาจเลือกสีฟลูออเรสเซนท์ที่มีคุณสมบัติเรืองแสง เมื่อฉายแสงอุลตร้าไวโอเลตลงไปก็จะปรากฏรอยนิ้วมือขึ้นมาเช่นกัน

วิธีการเริ่มต้นด้วยการเทสีฝุ่นลงบนกระดาษในปริมาณพอใช้ เพราะหากเหลือแล้วห้ามนำกลับใส่ขวดเนื่องจากจะทำให้สีทั้งขวดเสียคุณภาพไปด้วย ใช้แปรงสะอาดจุ่มสีฝุ่นบรรจงปัดไปที่วัตถุต้องสงสัยเบาๆ หากลงน้ำหนักแรงแปรงจะปัดเอารอยนิ้วมือออกไปด้วย เมื่อปรากฏรอยนิ้วมือแล้วให้นำสก๊อตเทปใสติดกับพื้นผิวให้เรียบ พึงระวังอย่าให้มีฟองอากาศ เพื่อคัดลอกรอยนิ้วมือออกมา จากนั้นแปะสก๊อตเทปลงบนกระดาษผิวเรียบมันก็จะได้รอยนิ้วมือบนวัตถุพยานที่ต้องการ

ชมวิธีการหาลายนิ้วมือด้วยหลักการลงฝุ่นแบบ DIY ได้ที่นี่

 

วิธีที่ 2 ใช้สารไอระเหย

เมื่อสารไอโอดีนระเหยจากของแข็งเป็นแก๊ซที่อุณหภูมิ 26 – 32 องศาเซลเซียส ไอดังกล่าวจะไปจับกับไขมันของเหงื่อ และปรากฏเป็นลายเส้นขึ้นมาในที่สุด วิธีนี้มักใช้กับการหารอยนิ้วมือแฝงบนกระดาษ เนื่องจากวิธีการหาด้วยฝุ่นผงนั้นจะได้รอยนิ้วมือที่ไม่ชัดเจน เพราะเนื้อเยื่อของกระดาษดูดซึมเหงื่อได้ดีกว่าวัตถุผิวเรียบมันทำให้รอยนิ้วมือแห้งไว

วิธีการคือนำวัตถุพยานดังกล่าวใส่เข้าไปในตู้ไอโอดีนที่เรียกว่า “iodine fuming cabinet” ลักษณะเป็นตู้กระจกใส ด้านล่างมีภาชนะใส่ไอโอดีน ด้านบนมีที่แขวนหรือจับวัตถุพยาน หลอดไฟฟ้าในตู้จะให้ความร้อนพอที่ไอโดอีนจะเกิดการระเหย ไอที่ลอยขึ้นจะทำให้รอยนิ้วมือแฝงชัดขึ้นมา อย่างไรก็ตามวิธีนี้รอยนิ้วมือจะปรากฏเพียงชั่วคราวแล้วหายไป เจ้าหน้าที่จึงต้องถ่ายรูปเก็บบันทึก และหากเป็นงานภาคสนาม เจ้าหน้าที่จะใช้กระบอกฉีดที่เรียกว่า “iodine fuming gun” ใช้งานง่ายเพียงจ่อปลายกระบอกไว้ที่วัตถุ และเป่าลมร้อนจากปากเข้าไปยังปากกระบอก เหมาะสำหรับพื้นผิวหรือวัตถุพยานชิ้นเล็กๆ

ลายนิ้วมือ
ภาพสาธิตวิธีการเก็บรอยนิ้วมือด้วย iodine fuming gun
ขอบคุณภาพจาก sirchie.com

 

วิธีที่ 3 ใช้น้ำยาเคมี

มีสารเคมีหลายชนิดที่ก่อปฏิกิริยาเคมีจนปรากฏเป็นรอยนิ้วมือแฝงขึ้นบนวัตถุ แต่ที่นิยมใช้มีอยู่สองชนิดคือ น้ำยาเกลือเงินไนเตรท (silver nitrate solution) และน้ำยานินไฮดริน (ninhydrin) เหมาะสำหรับการหาลายนิ้วมือจากแผ่นกระดาษหรือบนผ้า หรือวัตถุที่มีความเหนียว เช่นบนเทปกาวห่อยาเสพติด โดยสำหรับน้ำยาเกลือเงินไนเตรทให้ละลายน้ำที่ความเข้มข้น 3% แล้วจุ่มแปรงทาลงไปบนพื้นผิวของวัตถุพยาน สารเคมีดังกล่าวจะทำปฏิกิริยากับเกลือแกงในเหงื่อเกิดเป็นซิลเวอร์คลอไรด์ จากนั้นนำไฟสปอร์ตไลท์ส่องซิลเวอร์คลอไรด์จะปรากฏเป็นเส้นสีดำ

ส่วนน้ำยานินไฮดริน ให้ละลายน้ำยาในสารละลายอาซิโตน ผสมกรดน้ำส้มลงไปเล็กน้อย จากนั้นใช้สเปรย์ฉีดลงบนวัตถุต้องสงสัยแล้วใช้เตารีดความร้อนปานกลางรีดทีบ น้ำยานินไฮดรินจะทำปฏิกิริยากับโปรตีนในเหงื่อเกิดเป็นสีม่วงปนน้ำเงิน

 

วิธีที่ 4 ใช้เทคโนโลยี

ปัจจุบันมีการใช้แสงโพลีไลท์ ซึ่งเป็นเครื่องที่สามารถให้แสงได้หลายสี ภายในเครื่องมีฟิลเตอร์ที่จะตัดแสงสีต่างๆ ออกมาตามความต้องการใช้งาน นอกจากนั้นยังมีกล้องส่องหาลายนิ้วมือที่เรียกว่า RUVIS (Reflected Ultra-Violet Imaging System) ใช้หลักการสะท้อนแสงยูวีแทนที่จะเป็นการเรืองแสง เหมาะสำหรับวัตถุที่ไม่ดูดซับสารเคมีใดๆ

ในปี 2008 นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ค้นพบว่า รอยนิ้วมือที่ประทับบนพื้นผิวทำหน้าที่เสมือนฉนวนกันไฟฟ้าป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้าวิ่งผ่าน แม้รอยที่ปรากฏนั้นจะมีความบางในระดับนาโนเมตรเท่านั้น ดังนั้นพวกเขาจึงพัฒนาฟิล์มบางๆ ที่ช่วยแสดงภาพของพื้นที่ที่กระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านไม่ได้ ด้วยวิธีนี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเก็บข้อมูลรอยนิ้วมือที่หลงเหลืออยู่บนพื้นผิวโลหะได้ แม้ว่าวัตถุพยานจะถูกเช็ดถูและล้างด้วยน้ำสบู่แล้วก็ตาม

ลายนิ้วมือ
คุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์บนลายนิ้วมือของแต่ละบุคคลสังเกตได้จากเส้นเกาะ, เส้นสั้น, เส้นแตก, เส้นที่ขาดห้วน ไปจนถึงจุดและระยะห่างของรูเหงื่อ
ขอบคุณภาพจาก http://what-when-how.com

เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลของลายนิ้วมือแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจวิเคราะห์และพิสูจน์อย่างละเอียดด้วยผู้เชี่ยวชาญ และเปรียบเทียบกับรอยนิ้วมือในคลังประวัติอาชญากร ดูเผินๆ ลายนิ้วมือเหล่านี้อาจคล้ายคลึงกันไปหมด แต่เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการจะมองเห็นจุดที่เป็นคุณลักษณะเด่นๆ ของลายนิ้วมือนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นสั้นๆ เส้นแตก หรือเส้นที่ขาดห้วนลงทันที

กระบวนการวิเคราะห์รอยนิ้วมือผู้เชี่ยวชาญจะมองหาจุดคุณลักษณะที่มีร่วมกัน หากตรงกันทุกจุดจึงจะถือว่าเป็นลายนิ้วมือของบุคคลเดียวกัน ปัจจุบันเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีส่วนช่วยกรองข้อมูลได้มาก ในปี 2011 หน่วยงานเอฟบีไอเปิดตัวระบบวิเคราะห์ลายนิ้วมือ AFIT ที่เพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำในการจับคู่ลายนิ้วมือจาก 92% ไปเป็น 99.6% ทุกวันนี้เอฟบีไอมีข้อมูลลายนิ้วมือถึงร้อยล้านรูปแบบ ด้านอาชญากรเองก็พยายามหาวิธีใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม พวกเขาศัลยกรรมผ่าตัดเอาลายนิ้วเท้าหรือปรับแต่งลายนิ้วมือให้แตกต่างออกไปจากฐานข้อมูลเดิม ในทางกลับกันการกระทำเหล่านี้กระตุ้นให้เทคโนโลยีใหม่ๆ ถูกพัฒนาขึ้นรับมือ ปัจจุบันซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์สามารถวิเคราะห์ได้ว่าลายนิ้วมือดังกล่าวผ่านการปรับแต่งมาหรือไม่ ด้วยการพิจารณาลายเส้นที่ขาดหาย หรือต่อกันแบบไม่ปกติ

ชมวิดีโอหลักการเปรียบเทียบลายนิ้วมือขั้นพื้นฐานได้ที่นี่

 

*หมายเหตุ บทความในส่วนต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของ “เลือดข้นคนจาง”

 

เช็ดปืน ทิ้งน้ำ รอดไหม?

ในภาพยนตร์หรือซีรี่ย์สอบสวนบ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เบาะแสบางอย่างจากปืน ทว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น รายงานจาก lawenforcementtoday ชี้ว่าที่ผ่านมามีเพียง 5% เท่านั้นที่เจ้าหน้าที่สามารถเก็บรอยนิ้วมือจากอาวุธปืนได้ นั่นหมายความว่าอีก 95% เจ้าหน้าที่ไม่พบข้อมูลอะไรบนปืนหรือ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

นั่นเป็นเพราะ “ปืน” คือสิ่งแรกๆ ที่ผู้กระทำผิดทำความสะอาดเพื่อทำลายหลักฐาน ประกอบกับองค์ประกอบของปืนที่ส่วนด้ามจับนั้นมักมีพื้นผิวขรุขระเพื่อกันลื่นทำให้รอยนิ้วมือที่จะติดบนผิววัตถุมีน้อยลงไปด้วย ในขณะที่สิ่งแวดล้อมภายนอกก็มีผลอย่างมาก บ่อยครั้งที่อาวุธปืนถูกพบในน้ำหรือหล่มโคลน ความจงใจทิ้งอาวุธเพื่อทำลายหลักฐานส่งผลให้ร่องรอยลายนิ้วมือเลือนหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน้ำทะเลที่มีเกลือ

จากซีรี่ย์เลือดข้นคนจาง เราจะเห็นฉากที่ตัวละครเช็ดถูปืนที่เป็นหลักฐานสำคัญ และทิ้งลงในแม่น้ำเจ้าพระยา แน่นอนว่าเป็นการทำลายหลักฐานที่แยบยล ทว่าในความเป็นจริงนั้นมีหลายครั้งที่อาชญากรเข้าใจว่าตนทำความสะอาดปืนหมดแล้ว แต่พวกเขาลืมนึกถึงกระสุนที่ใส่เข้าไปว่ากระสุนพวกนั้นล้วนผ่านรอยนิ้วมือของตน หากมีกระสุนหลงเหลืออยู่ในปืนสิ่งนี้อาจกลายมาเป็นหลักฐานสำคัญได้ อีกทั้งในบางอาวุธปืนส่วนบรรจุกระสุนเหล่านี้อยู่ภายในจึงได้รับผลกระทบจากการแช่น้ำน้อยกว่าภายนอก ดังนั้นเมื่ออาวุธถูกเก็บกู้ร่องรอยของลายนิ้วมือและดีเอ็นเอของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปืนจึงยังคงตรวจสอบได้

ลายนิ้วมือ
ตัวอย่างของรอยนิ้วมือบนกระสุนที่ได้มาจากการใช้ VMD
ขอบคุณภาพจาก west-technology.co.uk

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์จาก West Technology Forensics ในเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ ค้นพบวิธีการกู้คืนรอยนิ้วมือจากกระสุนหรือปลอกกระสุนที่ถูกยิงออกไปแล้ว ด้วยเทคนิค vacuum metal deposition (VMD) มันคือกระบวนการเคลือบโลหะในระบบสุญญากาศด้วยการใช้โลหะทองหรือสังกะสีเผาให้เป็นไอ ไอของโลหะเหล่านี้จะเข้าไปควบแน่นรอบๆ บริเวณที่มีรอยนิ้วมือติดอยู่ เทคนิคดังกล่าวนี้ถูกใช้มาแล้วหลายสิบปีกับวัตถุที่ยากจะตรวจสอบ ทว่าในการค้นพบใหม่ทีมวิจัยพบว่าหากเปลี่ยนจากโลหะทองมาเป็นเงินแทนกลับได้ผลที่ดีกว่า และสามารถใช้ฟื้นคืนรอยนิ้วมือบนลูกกระสุนที่ถูกยิงไปแล้วได้

ในการทดสอบกับลูกกระสุนเทคนิคใหม่นี้ประสบความสำเร็จถึง 68% และถูกคาดหวังว่าจะเป็นแนวทางใหม่ในการไขปริศนาของหลายคดีที่ยังค้างคา ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงคดีดังระดับโลกอย่างการลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดีของสหรัฐฯ ด้วย เรียกได้ว่าในขณะที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด หากอาชญากรยังทำลายหลักฐานแบบเดิมๆ คงไม่เพียงพออีกต่อไป และอย่าลืมว่าการตรวจสอบลายนิ้วมือนั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ในกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ยังมีขั้นตอนอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ความรู้ทางเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการสืบสวนหาความจริงและตัวผู้กระทำผิด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าความยุติธรรมยังมีในสังคม

 

อ่านเพิ่มเติม

ไฉนชันสูตรจึงสำคัญ

 

แหล่งข้อมูล

ประวัติการพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ โดย สุนทรต์ ชูลักษณ์ และ วิชุดา จันทร์ข้างแรม

การพิสูจน์หลักฐาน = Introduction to scientific Crime detection โดย พ.ต.ต. พงศกรณ์ ชูเวช

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานสืบสวนสอบสวนและนิติวิทยาศาสตร์ โดย ไทพีศรีนิวัติ ภักดีกุล

นิติวิทยาศาสตร์ (พิสูจน์หลักฐาน) (Forensic science; scientific crime detection) โดย ประชุม สถาปิตานนท์

การตรวจหาลายนิ้วมือแฝงบนวัสดุของกลางในคดีเพลิงไหม้ small particle reagent (SPR) โดย นางสาว พรีนุช อนุกูล

นักวิจัยในสหรัฐได้คิดค้นวิธีตรวจจับลายนิ้วมือที่ถูกปรับแต่งได้อย่างรวดเร็ว

New Fingerprint Detection Technology

New process developed for obtaining fingerprints from fired ammunition casings

Why we don’t find fingerprints on firearms?

Does wiping a gun with a cloth really eliminate fingerprints, or is this strictly a Hollywood fantasy?

Is it possible to get fingerprints from a gun that’s thrown into the sea and fetched by divers later?

 

Recommend