ถอดรหัส แพทย์แผนจีน : ตำรายาหลวงจักรพรรดิมังกร

ถอดรหัส แพทย์แผนจีน : ตำรายาหลวงจักรพรรดิมังกร 

เรื่อง ปีเตอร์ กวิน

ภาพถ่าย ฟริตซ์ ฮอฟฟ์แมนน์

แทบไม่มีหัวข้อไหนอีกแล้วที่กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนในแวดวงสาธารณสุขมากไปกว่าการแพทย์แผนจีน เรื่องยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เมื่อนักวิจัยหลายคนกำลังมองไปยังวิธีรักษาแบบดั้งเดิม ผ่านการประยุกต์ใช้ชุดความรู้ใหม่ล่าสุดทางวิทยาศาสตร์ และค้นพบบางสิ่งที่น่าประหลาดใจ ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการแพทย์แผนปัจจุบันได้  จีนเป็นประเทศเก่าแก่ที่สุดประเทศหนึ่งที่รวบรวมองค์ความรู้และบันทึกข้อสังเกตทางการแพทย์ไว้อย่างต่อเนื่อง ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกให้ค้นคว้า

บันทึกของจีนย้อนไปถึงศตวรรษที่สามก่อนคริสตกาล เมื่อหมอแผนโบราณเริ่มวิเคราะห์ร่างกาย ตีความการทำงานของอวัยวะต่างๆ และอธิบายปฏิกิริยาตอบสนองต่อการรักษาแบบต่างๆ ทั้งการใช้สมุนไพร การนวด และการฝังเข็ม เป็นเวลากว่า 2,200 ปีที่นักวิชาการหลายชั่วรุ่นได้ต่อยอดและขัดเกลาความรู้เหล่านั้น ผลที่ได้คือประมวลความรู้เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพทุกรูปแบบ รวมถึงหวัด กามโรค อัมพาต และโรคลมชัก

ยาแผนโบราณยังเป็นการแพทย์กระแสหลักในจีนจนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ เมื่อจักรพรรดิราชวงศ์ชิงพระองค์สุดท้ายถูกซุนยัตเซน แพทย์ที่ร่ำเรียนมาจากตะวันตกและสนับสนุนการแพทย์ที่มีรากฐานทางวิทยาศาสตร์ โค่นบัลลังก์ ปัจจุบัน แพทย์ชาวจีนจะได้รับการศึกษาและได้ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะโดยอิงกับหลักปฏิบัติทางการแพทย์ใหม่ล่าสุดเท่านั้น กระนั้น การแพทย์แผนโบราณยังคงเป็นกลไกที่มีชีวิตชีวาของระบบสาธารณสุขของรัฐอยู่เช่นเคย โรงพยาบาลจีนส่วนใหญ่มีหอผู้ป่วยสำหรับการแพทย์แผนโบราณโดยเฉพาะ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกล่าวว่า การนำการแพทย์แผนโบราณมาใช้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและก่อให้เกิดการรักษาแบบใหม่ๆ เขาจึงจัดให้การแพทย์แผนจีนเป็นส่วนสำคัญในนโยบายสาธารณสุขแห่งชาติ และเรียกศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดว่า ยุคทองยุคใหม่ของการแพทย์แผนจีน

เจิ้งหย่งฉี ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเยล ตรวจดูโสมซานชีที่ศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งในมณฑลยูนนานของจีน เจิ้งกำลังวิจัยเรื่องการรักษาด้วยสมุนไพรโดยนำตำรับยาจีนโบราณมาประยุกต์ รวมทั้งการรักษาโรคมะเร็งซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทดสอบยา

จากมุมมองของการวิจัย นี่อาจเป็นยุคทองจริงๆก็ได้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯและยุโรป เช่น ยูซีแอลเอ ดุ๊ก และออกซฟอร์ด รวมทั้งอีกหลายแห่งในเอเชีย กำลังวิเคราะห์แง่มุมทางวิทยาศาสตร์ของการรักษาด้วยการแพทย์แผนโบราณบางอย่าง สำหรับโรคอย่างมะเร็ง เบาหวาน และพาร์กินสัน

ไม่เพียงเท่านั้น การผสมผสานการแพทย์แผนปัจจุบันเข้ากับแผนโบราณยังเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคด้านสาธารณสุขอีกด้วย เมื่อพวกเขารู้สึกว่าการรักษาแผนปัจจุบันไม่ได้ผล ชาวอเมริกันจึงหันไปรักษาตามแผนโบราณมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เด่นที่สุดคือการฝังเข็ม และการครอบแก้ว ซึ่งเป็นการบำบัดกล้ามเนื้อด้วยวิธีครอบแก้ว อินเทอร์เน็ตยังช่วยให้ผู้คนเริ่มใช้สมุนไพรบำบัดอย่างแพร่หลาย เพราะมักมีราคาถูกกว่ายาที่แพทย์สั่ง

เจมส์ แฮร์ริสัน ใช้วิธีฝังเข็มรูปแบบหนึ่งและการบำบัดแผนจีนอื่นๆเพื่อรักษาอาการปวดและเมื่อยล้าในช่วงที่เป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลตลอด 16 ปี “ถ้ามันทำให้ผมรู้สึกดี  ผมก็ไม่ต้องการการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อะไรเลยครับ” ผู้เล่นที่เพิ่งวางมือเมื่อไม่นานมานี้ บอก

คุณจะยังพบหมอหลายคนที่เรียกการแพทย์แผนจีนว่าเป็นวิทยาศาสตร์เทียม บ้างถึงกับบอกว่าเป็นการรักษาแบบหมอเถื่อน โดยมักยกแนวคิดลี้ลับที่คนยังเชื่อกันอยู่ เช่น พลังชี่ ซึ่งเป็นพลังชีวิตอันลี้ลับ (คำว่า ชี่ แปลตรงตัวได้ว่า “ไอน้ำที่พลุ่งขึ้นจากข้าว”) แพทย์บางคนต่อต้านการใช้อวัยวะสัตว์และเตือนถึงอันตรายจากการใช้ยาสมุนไพรบางสูตร

“แทบไม่มีใครมองอย่างเป็นกลางเลยครับ” เพาล์ อุนชุลด์ นักประวัติศาสตร์การแพทย์ บอก เขาเป็นผู้รู้ที่หาตัวจับได้ยากในเรื่องประวัติศาสตร์การแพทย์แผนจีน และหลายครั้งเป็นผู้วิจารณ์วิธีตีความประวัติศาสตร์การแพทย์แผนจีนอย่างผิดๆ เขาเก็บรวบรวมและแปลตำราเก่าแก่ว่าด้วยการแพทย์แผนโบราณหลายร้อยฉบับ และยังร่วมงานกับบริษัทสตาร์ตอัปสัญชาติจีน-เยอรมัน เพื่อศึกษาแนวคิดในการรักษาโรคหลากหลายชนิด รวมถึงโรคลมชัก “โดยทั่วไปผู้คนมักมองเห็นแค่สิ่งที่ตัวเองอยากเห็น และไม่ยอมวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียอย่างถ่องแท้ครับ” เขาบอก

ผมเผชิญกับการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนแบบเดียวกันนี้ด้วยตัวเอง ตอนเขียนเรื่องเกี่ยวกับแรดที่ถูกลักลอบล่าเพื่อเอานอ ตำรับยาจีนโบราณระบุว่า นอแรดสามารถนำมาใช้รักษาไข้และอาการปวดศีรษะได้ ในเวียดนามผมพบคนไข้ที่ใช้นอแรดรักษาอาการเมาค้างและผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นระบุว่า นอแรดซึ่งประกอบด้วยสารเคอราทิน (แบบเดียวกับเล็บคน) ช่วยลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้น้อยมากเมื่อกินเข้าไป แต่ผู้ป่วยบางรายที่ใช้นอแรดอาจรู้สึกดีขึ้นเพราะเป็นผลของยาหลอก หลังตีพิมพ์สารคดีเรื่องนั้น ผมได้รับจดหมายจากผู้อ่านที่ประณามยาจีนอย่างโกรธเกรี้ยวว่า “โง่เขลา” “โหดร้าย” และไม่ต่างไปจาก “การใช้เวทมนตร์”

กระนั้น การแพทย์แผนปัจจุบันเองก็มีวิธีปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน ประสิทธิภาพของยาแก้ซึมเศร้าซึ่งเป็นที่นิยมหลายตัวยังคงเป็นที่ถกเถียงอย่างเผ็ดร้อน เพราะมีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่า ยาเหล่านั้นไม่ได้มีฤทธิ์มากไปกว่ายาหลอกเลยแม้แต่น้อย ทว่ายาเหล่านี้ยังคงมีการทำตลาดอย่างกว้างขวางและและสั่งจ่ายโดยแพทย์อย่างแพร่หลาย สร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ การที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนตะวันตกดูหมิ่นการแพทย์แผนจีนโบราณ อาจทำให้คำปฏิญาณของหมอที่ว่าจะทำทุกอย่างเท่าที่เป็นไปได้เพื่อสุขภาพของคนไข้นั้นดูเหมือนเล่นลิ้นมากกว่า

เหรินเหยี่ยนยวี่ วัยสองเดือน ในเมืองเฉิงตู อาบน้ำสมุนไพรล้างพิษและทำให้ร่างกายเย็นลงในช่วงฤดูร้อนที่อากาศร้อนชื้น การรักษาเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสุขภาพแบบองค์รวมตามปรัชญาจีน ไม่ใช่แค่รักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย ที่แสดงอาการออกมา

เจิ้งหย่งฉี  ศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล บอกว่า “คนหลงลืมไปว่าตัวยาเก่าแก่ที่สุดและออกฤทธิ์ดีที่สุดตัวหนึ่ง  ซึ่งผ่านการพิสูจน์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว ได้มาจากตัวยาแผนโบราณ นั่นคือแอสไพรินไงล่ะครับ” ชาวอียิปต์โบราณใช้ใบเมอร์เทิลตากแห้งรักษาอาการเจ็บปวด และฮิปโปเครติส แพทย์ชาวกรีกในศตวรรษที่สี่ก่อนคริสตกาล ผู้ได้รับสมญาว่าบิดาแห่งการแพทย์แผนตะวันตก สั่งจ่ายสารสกัดจากเปลือกต้นหลิวเพื่อแก้ไข้ จนกระทั่งศตวรรษที่สิบเก้า นักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรปจึงค้นพบว่า สารออกฤทธิ์ในพืชทั้งสองชนิดคือกรดซาลิไซลิก และสังเคราะห์สารนั้นขึ้นมา ปัจจุบัน ยาแอสไพรินซึ่งมีราคาถูกแสนถูก ถือว่าเป็นยาที่คุ้มทุนที่สุดในโลก

แอสไพรินไม่ใช่ตัวอย่างเดียวของยาแผนปัจจุบันที่เร้นกายอยู่ภายในการรักษาแผนโบราณ  ย้อนหลังไปเมื่อปี 1972 ซึ่งเป็นปีที่เจิ้งสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตสาขาเภสัชวิทยาจากมหาวิทยาลัยบราวน์  นักเคมีในสาธารณรัฐประชาชนจีนนาม ถูโยวโยว ประกาศการค้นพบยาต้านมาลาเรียที่ได้จากสมุนไพรจีนซึ่งมีการกล่าวถึงในตำรับยาจีนสมัยศตวรรษที่สี่

ในช่วงสงครามเวียดนาม ถูได้รับมอบหมายงานในโครงการลับของกองทัพเพื่อช่วยกองกำลังเวียดกงให้ต่อกรกับโรคมาลาเรียได้ โรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตราวครึ่งหนึ่งของกองกำลังเวียดกง ในตอนนั้น นักวิจัยด้านการแพทย์ชาวตะวันตกพยายามแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน โดยตรวจสอบสารประกอบกว่า 200,000 ตัว แต่ถูสงสัยว่าคำตอบอาจอยู่ใน ตำรายาจีนโบราณ เธอทดสอบพืชหลายชนิดที่ใช้รักษาพิษไข้และพบตัวยาจากพืชสมุนไพรดอกสีเหลืองที่เรียกว่า โกฐจุฬาลำพาจีน ยาที่สกัดได้จากงานวิจัยของเธอและมีชื่อว่า อาร์ทีมิซินิน (artemisinin) ช่วยชีวิตคนไว้หลายล้านคน  ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เมื่อปี 2015

เภสัชกรในร้านขายยาจีนแผนโบราณถงเหรินถังที่เมืองเฉิงตู จัดยาตามใบสั่ง โดยแบ่งเครื่องยาออกเป็นสำรับที่ใช้ในหนึ่งครั้ง  แล้วห่อด้วยกระดาษ คนไข้จะนำยากลับไปต้มเป็นยาหม้อสำหรับดื่มที่บ้าน

 


อ่านเพิ่มเติม

ผงชูรส อันตรายต่อสุขภาพ จริงหรือ

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.