สมาร์ทโฟน ส่งผลอย่างไรต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน

เจ้าคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “สมาร์ทโฟน” สามารถเนรมิตสิ่งมหัศจรรย์มากมายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส แต่ผลการศึกษาล่าสุดกลับพบว่ามันส่งผลด้านลบต่อชีวิตประวันของเรา มากกว่าที่คิด

เรื่องโดย ยูธิจิต ภัตตาจาร์จี

สมาร์ทโฟน ทำให้พ่อกับผมนั้นรู้สึกเหมือนว่าอยู่ใกล้กันตลอดเวลา แม้ว่าในความจริงแล้วเราทั้งสองต่างอาศัยอยู่คนละฝากของประเทศ ซึ่งปกติแล้วพ่อเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบออกไปไหนสักเท่าไร คงจะเป็นเรื่องปกติของคนวัยนี้ด้วยแหละ พ่อผมอายุ 79 ปีแล้ว อาศัยอยู่ที่เมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย

เมื่อไม่นานมานี้ ในขณะที่ผมกำลังนั่งรถไฟจากประเทศเดนมาร์กเพื่อที่จะไปประเทศสวีเดน พ่อก็ได้วิดิโอคอลมาหาผมทางสไกป์ (Skype) และด้วยความที่สไกป์เป็นการโทรคุยกันแบบเห็นหน้า ผมเลยเอาโทรศัพท์แนบไปกับหน้าต่างเพื่อที่จะให้พ่อเห็นทัศนียภาพอันสวยงามของประเทศสวีเดนแบบที่ผมเห็น ให้พ่อได้สัมผัสไปกับมันด้วย ผู้อ่านเชื่อหรือไม่ ความรู้สึกผมใน ณ ตอนนั้น มันสมจริงมากราวกับว่าพ่อได้มานั่งอยู่ข้างๆ ผมบนรถไฟ ทำให้ผมคิดว่าเทคโนโลยีสมัยนี้มันไปไกลมากแล้วจริงๆ

ผมควรจะรู้สึกดีใจด้วยซ้ำที่โทรศัพท์ของผมสามารถทำให้ผมได้พูดคุยและเห็นหน้ากับพ่อได้ แม้ว่าจะอยู่คนละฝากฝั่งของโลกก็ตาม แต่ก็โทรศัพท์เครื่องเดียวกันนี่แหละที่เข้ามาก้าวก่ายชีวิตส่วนตัว พร้อมกับทำให้ผมมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง ผมยังจำได้ดีตอนที่ผมกลับไปเยี่ยมพ่อที่โกลกาตา ผมแทบจะไม่สามารถละสายตาออกจากโทรศัพท์ได้เลยแม้แต่วินาทีเดียว ทั้งที่ตอนนั้นพ่อก็อยู่ข้างหน้าผมแท้ๆ แต่ผมไม่สนใจ ผมกลับอยากรู้ว่ามีใครมากดไลก์รูปที่ผมเพิ่งโพสต์ล่าสุดบนเฟซบุ๊กหรือเปล่า (สรุปคือมีคนมากดไลก์เพิ่ม แถมมีมาแสดงความคิดเห็นอีกต่างหาก) ก็เป็นเรื่องที่น่าตลกเหมือนกัน ที่เทคโนโลยีทำให้คนที่อยู่ห่างไกลกัน รู้สึกเหมือนอยู่ใกล้กัน แต่ก็เทคโนโลยีตัวเดียวกันนี้ ที่ทำให้คนที่อยู่ใกล้กัน กลับรู้สึกเหมือนอยู่ห่างไกล

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา สมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก ซึ่งในตอนแรก จุดประสงค์หลักมีไว้โทรหรือส่งข้อความหากัน แต่ในปัจจุบัน ประโยชน์ของมันกลับมีมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเอาไว้นำทางเวลาออกทริปต่างจังหวัด เอาไว้เรียกแท็กซี่ เอาไว้ดูรีวิวเปรียบเทียบสินค้าและราคา เอาไว้ตามข่าว เอาไว้ดูหนัง เอาไว้ฟังเพลง เอาไว้เล่นเกม หรือแม้กระทั่งเอาไว้เก็บภาพไว้เป็นความทรงจำ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเข้ามาของสมาร์ทโฟนนั้นสร้างประโยชน์มากมายให้กับสังคมปัจจุบัน อาทิเช่น ออนไลน์แบงกิ้ง ที่ทำให้การออกจากบ้านไปธนาคารไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป อีกทั้งยังมีแอปพลิเคชันสำหรับการเช็กว่าวันนี้เราเดินไปกี่ก้าว หรือว่าเมื่อคืนเรานอนหลับอย่างมีคุณภาพหรือเปล่า อย่างไรก็ดี ประโยชน์จากเทคโนโลยีพวกนี้ก็ต้องแลกมาด้วยอะไรหลายๆ อย่าง สมาร์ทโฟนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันมากจนทำให้เรามีส่วนร่วมกับโลกภายนอกน้อยลง ที่เห็นได้ชัดที่สุดคงหนีไม้พ้นการใช้สมาร์ทโฟนเข้ามาช่วยในการนำทางจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง จากที่แต่ก่อนเรามักจะใช้การจำเส้นทาง การถามผู้ที่เคยไปมาแล้ว หรือถามคนในละแวกพื้นที่นั้น แต่ปัจจุบันไม่เป็นแบบนั้นแล้ว และบางทีเราก็อาจจะใช้สมาร์ทโฟนนำทางเราทั้งๆ ที่เราเคยไปสถานที่แห่งนั้นหลายรอบแล้วก็ตาม

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ Google Maps คือสามารถบ่งบอกได้ว่าเส้นทางไหนรถติด และควรเลี่ยงไปยังเส้นทางไหน

ไม่ว่าจะตามสนามบิน มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า หรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ แทบจะทุกที่ ท่าทางที่เรามักจะพบเห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง คือการก้มหน้าพร้อมกับเพ่งสายตาจ้องมองไปที่โทรศัพท์อย่างจริงจัง บางครั้งหากคุณเจอใครสักคนในร้านกาแฟ นั่งจิบกาแฟพร้อมกับสายตาที่จ้องมองออกนอกหน้าต่าง ความคิดแรกที่เข้ามาในหัวกลับเป็นว่า แบตเตอรี่โทรศัพท์ของเขาหมดหรือไม่ มากกว่าที่จะคิดว่าพวกเขากำลังมีความสุขกับการมองวิวจากนอกหน้าต่าง

การก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มากเกินไป เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปวดคอเรื้อรังได้
ขอขอบคุณภาพจาก TIM HL LAI

เอเดรียน วอร์ด นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเทกซัส ในเมืองออสติน รัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมผู้ทดลองในการวิจัยครั้งนี้กว่า 800 คน พร้อมกับทิ้งโจทย์เชาว์ปัญญาไว้ให้หาคำตอบ 2 ข้อ ข้อแรกคือ ให้แก้โจทย์คณิตศาสตร์พร้อมกับให้จำตำแหน่งของตัวอักษรที่ปรากฏอยู่ในคำที่ถูกจัดขึ้นมาอย่างมั่วๆ ข้อที่สองคือมีตัวเลือกภาพให้เลือกไปใส่ให้สอดคล้องกับภาพที่มีไว้ให้อยู่แล้ว ทั้งนี้กฏกติกาคือผู้เข้าร่วมบางคนไม่สามารถนำสมาร์ทโฟนเข้าไปในห้องสอบได้ ในขณะที่บางคนได้รับอนุญาตให้เก็บไว้ในกระเป๋ากางเกงได้ แต่ก็ยังมีบางคนที่ฝ่าฝืนกฏแล้วนำสมาร์ทโฟนวางไว้บนโต๊ะสอบ

ถึงแม้ว่าสมาร์ทโฟนจะไม่ได้มีผลอะไรต่อการทำโจทย์เชาว์ปัญญาครั้งนี้ เพราะถึงอย่างไรผู้เข้าร่วมก็ไม่สามารถนำมันออกมาหาคำตอบได้อยู่แล้ว กลับมีอิทธิผลต่อการทำแบบทดสอบครั้งนี้อย่างไม่น่าเชื่อ กล่าวคือผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้พกสมาร์ทโฟนติดตัวไว้ มีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก ในขณะที่กลุ่มที่นำสมาร์ทโฟนเข้าไปกลับมีคะแนนอยู่ในกลุ่มรั้งท้าย ทำให้ได้ข้อสรุปว่าสมาร์ทโฟนนั้นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความสามารถทางการคิดวิเคราะห์ (Cognitive Capacity) นั้นต่ำลง

คณะผู้วิจัยยังมีความกังวลอีกว่า การติดสมาร์ทโฟนมากเกินไปจะทำให้ทักษะความสามารถในการอ่านเขียนของเด็กรุ่นใหม่มีความถดถอยน้อยลง ซึ่งจะไปส่งผลกระทบต่อการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ต่อไปในอนาคต โดยคณะผู้วิจัยก็ไม่ได้กังวลกันไปเองแต่อย่างไร แต่พวกเขาได้อ้างอิงจากผลการศึกษาของแอนน์ แมนเกน นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยสตาแวนเจอร์ ในประเทศนอร์เวย์ พวกเขาได้แบ่งนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ทั้งหมด 72 คนออกเป็น 2 กลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มนั้นอ่านบทความทั้งหมด 2 ชิ้น แต่มีเงื่อนไขคือจะมีกลุ่มหนึ่งที่ได้อ่านผ่านกระดาษทั่วไป ในขณะที่อีกกลุ่มจะได้อ่านแบบเป็นไฟล์ PDF ผ่านทางหน้าจอแทน ข้อสรุปที่ได้คือ กลุ่มที่อ่านผ่านกระดาษมีทักษะการอ่านจับใจความได้ดีกว่าอีกกลุ่มที่อ่านผ่านทางหน้าจอ

ยังมีผลการศึกษาออกมาเปิดเผยอีกว่า การใช้โทรศัพท์ขณะที่กำลังรับประทานอาหารอยู่นั้นก็สามารถทำให้ความเพลิดเพลินในการรับประทานลดน้อยลงเช่นกัน Ryan Dwyer นักศึกษาปริญญาเอกในสาขาจิตวิทยาระบุว่า “เป็นเรื่องที่น่าตกใจมากที่คนที่เล่นโทรศัพท์ระหว่างมื้ออาหารนั้น กลับมีแนวโน้มที่จะรู้สึกเบื่อมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้นำโทรศัพท์ขึ้นมาเล่น”

อีธาน ครอสส์ นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ในเมืองแอนน์อาร์เบอร์ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ได้อธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมมันถึงเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ในการละตัวออกจากโทรศัพท์

“แผนอันแยบยลของโซเชี่ยลมีเดียก็คือ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเราจะมีคนมากดไลก์ หรืออีเมลจะเข้าเมื่อไหร่ เราไม่สามารถทราบในเรื่องของพวกนี้ได้เลย นั้นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องเช็คโทรศัพท์อยู่ตลอดเวลา เพราะอยากรู้ว่าจะมีคนมากดไลก์เพิ่ม หรือมีการแจ้งเตือนอะไรใหม่หรือเปล่า”

โดยมีสถิติออกมาว่าในปี 2018 จำนวนเฉลี่ยที่ผู้คนปลดล็อกโทรศัพท์มีมากถึง 73 ครั้งต่อวัน เยอะกว่าสองปีก่อนอยู่เกือบ 20 ครั้ง

ทั้งนี้สมาร์ทโฟนก็ยังคงมีประโยชน์อีกหลายข้อด้านที่จะทำให้การใช้ชีวิตของเรามีความสะดวกสบายและง่ายขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่ามัวแต่เล่นโทรศัพท์มากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพกันนะครับ

***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม : การพักผ่อน สำคัญกับร่างกายของเราอย่างไร

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.