รถสำรวจ Opportunity ปฏิบัติภารกิจครั้งแรกใน พ.ศ. 2546 พร้อมกับรถสำรวจคู่หูที่ชื่อว่า Spirit ก่อนจะลงจอดบนพื้นผิวของดาวอังคาร ในวันที่ 25 มกราคม ในปีถัดมา โดยมีเป้าหมายคือการหาคำตอบเกี่ยวกับร่องรอยของน้ำบนดาวอังคาร
เริ่มแรก รถสำรวจทั้งสองได้รับการวางแผนให้ทำภารกิจเพียงแค่ 90 Solar Days (SOLs: Solar Day ซึ่งเท่ากับ 92 วันตามเวลาโลก) แต่รถสำรวจ Opportunity ก็หักปากกาเซียน และสามารถอยู่รอดสำรวจดาวอังคารมาได้เกือบ 15 ปีด้วยกัน โดยวันสุดท้ายของการทำภารกิจคือเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ทำให้มันกลายเป็นรถสำรวจภาคพื้นผิวที่วิ่งได้ยาวนานที่สุดเท่าที่นาซาเคยมีมา
โดยในวันดังกล่าว Opportunity ได้เผชิญกับพายุฝุ่นอย่างรุนแรง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นบนดาวอังคารอยู่แล้ว เนื่องจากไอร้อนจากดวงอาทิตย์ทำให้ฝุ่นที่อยู่บนพื้นผิวของดาวอังคารก่อตัวและลอยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ โดยปกติแล้วพายุฝุ่นจะกินระยะเวลาไม่นานเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ก็จบลงไป ทว่าครั้งนี้ความรุนแรงของพายุฝุ่นถือว่ามีความรุนแรงเป็นอย่างมาก ทำให้นาซ่าไม่มีทางเลือก นอกจากให้รถสำรวจจำศีลเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน
หลังจากพายุฝุ่นเริ่มอ่อนกำลังลง นาซ่าก็ได้พยายามติดต่อกับรถสำรวจ Opportunity อีกครั้ง แต่ครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนทำให้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นาซ่าประกาศยุติภารกิจลงไปอย่างเป็นทางการ
โดยก่อนที่รถสำรวจ Opportunity จะหลับใหลตลอดกาลไม่ตื่นขึ้นมาอีก มันก็ได้ส่งรูปสุดท้ายที่ถ่ายได้กลับมายังโลก
จุดขาวๆ ในรูปนั้นไม่ใช่ดวงดาวแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงแค่จุด noise ของกล้องเท่านั้น ในส่วนของภาพดำๆ นั้นเกิดขึ้นจากความรุนแรงของพายุฝุ่น หากสังเกตที่บริเวณใต้รูป จะเห็นว่าเป็นภาพแถบสีดำมืดสนิท สาเหตุเกิดมาจาก ขณะที่กำลังส่งข้อมูลกลับมายังโลกนั้น สัญญาณได้ถูกคลื่นรบกวนอย่างหนัก ทำให้ข้อมูลที่ส่งมานั้นไม่ได้ถูกส่งกลับมาทั้งหมด
ภารกิจการสำรวจพื้นผิวดาวอังคารของรถสำรวจ Opportunity ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยระยะทางรวมที่รถสำรวจเดินทางได้สูงถึง 45 กิโลเมตร และภาพถ่ายกว่า 217,000 ภาพที่ส่งกลับมายังโลก เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าในอดีตดาวอังคารเคยมีน้ำอยู่มาก พร้อมกับมีความเหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต
ทั้งนี้ดาวอังคารจะยังได้รับการสำรวจต่อไปโดยรถสำรวจ Curiosity และยานลงจอด InSight
ได้พักผ่อนสักทีนะเจ้า Opportunity..
***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย