มนุษย์จะมีลูกบนดาวอังคารได้ไหม มันอาจยากกว่าที่คุณคิด

มนุษย์จะมีลูกบนดาวอังคารได้ไหม มันอาจยากกว่าที่คุณคิด

ก่อนที่จะย้ายถิ่นฐาน ก่อนที่ ชีวิตบนดาวอังคาร จะเริ่มต้น มนุษย์ต้องตอบคำถามยากๆ เกี่ยวกับชีววิทยาพื้นฐาน ให้ได้เสียก่อน

อีกสองสามล้านปีหรือครึ่งศตวรรษข้างหน้า ชีวิตบนดาวอังคาร ที่มนุษย์ใฝ่ฝันอาจไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่ออีกต่อไป ทั้งเรื่องการสร้างนิคมที่อยู่อาศัย การหาทรัพยากรใต้ดิน และการให้กำเนิดชาวดาวอังคารสองเท้ารุ่นแรก แต่ตอนนี้ ไม่มีใครรู้ว่ามนุษย์สามารถสืบพันธุ์บนอวกาศได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างการเดินทางในห้วงอวกาศหรือตอนที่อยู่บนดาวดวงอื่น ถ้าจะพูดให้ชัดแล้ว การมีเพศสัมพันธ์กันในที่ที่แรงโน้มถ่วงต่ำกว่า (มาก) ถือได้ว่าเป็นปัญหาสามัญทางฟิสิกส์เลยก็ว่าได้ ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยลองค้นหาคำตอบให้กับปัญหานี้ ทั้ง หนู ซาลาแมนเดอร์ กบ ปลา และพืช ต่างก็ถูกนำมาเป็นสัตว์ทดลองเพื่อหาผลกระทบที่การบินในห้วงอวกาศมีต่อการสืบพันธุ์ แต่ทว่าผลลัพธ์ที่ได้มาจนถึงตอนนี้มีความหลากหลายและไร้ข้อสรุปที่แน่นอน

คริส เลห์นฮาร์ดต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์อวกาศ วิทยาลัยการแพทย์เบเลอร์ กล่าวไว้ว่า คำถามหลักที่เราควรจะหาคำตอบให้ไม่ใช่เรื่องของอุปกรณ์ ถึงอุปกรณ์จะเป็นสิ่งยอดเยี่ยมก็เถอะ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่จะทำให้ทุกอย่างยุ่งเหยิงก็คือมนุษย์เอง ถ้าหากเราเมินเฉยต่อระบบร่างกายในการวางแผนและออกแบบในอนาคต สิ่งที่รออยู่ข้างหน้าก็คงมีแต่ความล้มเหลว

ชีวิตบนดาวอังคาร
ภาพถ่ายดาวอังคารโดย ศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ดของนาซ่า

 

แรงโน้มถ่วงของสถานการณ์

กระบวนการทางวิวัฒนาการบนโลกนั้นถูกปรับให้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีคุณลักษณะที่เกิดจากแรงพื้นฐานอย่าง แรงโน้มถ่วง แต่ ในห้วงอวกาศ แรงโน้มถ่วงไม่มีตัวตน บนดาวอังคารเอง แรงโน้มถ่วงมีค่าแค่ประมาณ 38 เปอร์เซ็นต์ของแรงโน้มถ่วงโลก จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีใครคิดออกเลยว่า สภาพแวดล้อมที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำจะส่งผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างไร

เช่นเดียวกับเรื่องรังสีในอวกาศที่จัดว่ารุนแรงและมีความสามารถในการทำลายล้างสูงกว่าที่อยู่บนพื้นโลก เพราะสนามแม่เหล็กโลกช่วยเป็นเกราะป้องกันดาวเคราะห์จากอนุภาคอวกาศพลังงานสูง อัตราปริมาณรังสีสูงก็ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากอยู่แล้วสำหรับนักสำรวจอวกาศ องค์การอวกาศจึงต้องคอยติดตามการรับรังสีของนักบินอวกาศในวงโคจรอย่างระมัดระวัง

 

อ่านเพิ่มเติม

ดาวอังคาร การแข่งขันสู่ดาวเคราะห์แดง

 

ตอนนี้ ผลกระทบของแรงโน้มถ่วงและรังสีที่มีต่อการสืบพันธุ์ ได้กลายเป็นปัญหาสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์พยายามหาวิธีจัดการ และด้วยจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาความเสี่ยงทางการแพทย์ในมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เวลาหลายทศวรรษแล้วในการส่งสัตว์หลากหลายชนิดและเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องขึ้นไปสู่อวกาศ

การทดลองในช่วงแรกที่ทำโดยสหภาพโซเวียดในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ที่รวมถึงการส่งหนูหลายตัวขึ้นไปบนวงโคจรพร้อมกับดาวเทียม Cosmos1129 เมื่อกลับมา มีหลักฐานว่าพวกมันผสมพันธุ์กันในอวกาศ แต่ไม่มีตัวเมียสักตัวที่ให้กำเนิดลูก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจนักสำหรับใครก็ตามที่ศึกษาสัตว์ฟันแทะ เมื่อรู้ถึงความไวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมของพวกมัน

ต่อมา เอพริล รอนกา นักวิทยาศาสตร์ของนาซ่า ได้ส่งหนูตั้งครรภ์ขึ้นไปในวงโคจร และสังเกตว่าการบินสู่อวกาศนั้นส่งผลกระทบต่อระยะถัดไปของการตั้งครรภ์อย่างไร และเมื่อกลับมายังโลกก็พบว่า กระบวนการคลอดนั้นปกติ แต่จากงานวิจัยอื่นแสดงให้เห็นว่าลูกหนูที่สัมผัสกับสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ มีการพัฒนาระบบการทรงตัวหรือกลไกการทำงานของหูชั้นในที่ผิดปกติ

ภาพถ่ายจาก SpaceX

การบินสู่อวกาศยังลดจำนวนอสุจิของหนูลงไป ในขณะเดียวกันก็พบความผิดปกติในอสุจิเพิ่มขึ้น กระนั้น รอนกา รายงานไว้ว่า “ข้อมูลที่มีอยู่แสดงให้เห็นในหลายแง่มุมของการตั้งครรภ์ ทั้งการให้กำเนิดและพัฒนาการในระยะแรกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถดำเนินต่อไปได้ภายใต้สภาวะที่แรงโน้มถ่วงเปลี่ยนแปลง”

สำหรับหนูเมาส์ก็พบความซับซ้อนที่คล้ายคลึงกัน งานวิจัยชี้ว่าสัตว์ฟันแทะทั้งสองชนิดนี้ตอบสนองแตกต่างกันต่อการเปลี่ยนแปลงของแรงโน้มถ่วง ตัวอ่อนหนูเมาส์ 2 เซลล์ที่ถูกส่งไปกับกระสวยอวกาศโคลัมเบียนั้นไม่พัฒนาต่อไป แม้ตอนที่อยู่บนโลกจะเติบโตอย่างปกติก็ตาม ต่อมา ในการจำลองสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำแสดงให้เห็นว่า การปฏิสนธิในหลอดแก้วสามารถเกิดขึ้นตามปกติ แต่เอมบริโอก็ยังไม่สามารถที่จะฝังตัวและเจริญเติบโตในอัตราปกติได้เมื่อย้ายไปไว้ในตัวหนูเมาส์เพศเมีย

Recommend