ความจำของมนุษย์ : คนเราสร้างความทรงจำ บางครากลับหวนคิด แต่บางทีกลับลืมเลือนได้อย่างไร?

ความจำของมนุษย์ : คนเราสร้างความทรงจำ บางครากลับหวนคิด แต่บางทีกลับลืมเลือนได้อย่างไร?

ความจำของมนุษย์เกิดขึ้นในหลายๆ ส่วนของสมองภายในคราวเดียว แต่ความจำบางประเภทกลับคงอยู่คู่กับเราตราบนานเท่านาน

ตั้งแต่ช่วงเวลาที่เราลืมตาดูโลก สมองของเราก็เริ่มเปิดรับข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งมีทั้งเรื่องของตัวเราและเรื่องอื่นๆ รอบตัว ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า เราจะยึดมั่นกับทุกสิ่งที่เราเรียนรู้และมีประสบการณ์ได้อย่างไร? คำตอบคือ ความทรงจำ

มนุษย์เก็บความทรงจำประเภทต่างๆ สำหรับช่วงเวลาซึ่งแตกต่างกันไป ความทรงจำระยะสั้นคงอยู่ได้เพียงไม่กี่วินาทีจนถึงชั่วโมง ขณะที่ความทรงจำระยะยาวอยู่กับเราไปนานหลายปี นอกจากนี้ เรายังมี ความจำเพื่อใช้งาน (Working memory) อีกเช่นกัน ซึ่งมันช่วยให้เราเก็บข้อมูลเอาไว้ภายในใจด้วยเวลาจำกัดโดยการเน้นย้ำ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไรก็ตามที่เรากำลังจดจำหมายเลขโทรศัพท์ของใครสักคน เราจึงพยายามพูดกับตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยกระบวนการเหล่านี้ถือเป็นช่วงที่ ความจำเพื่อใช้งาน กำลังประมวลอยู่

นอกจากนี้ การจัดหมวดหมู่ของความทรงจำสามารถจำแนกได้โดยแบ่งออกตามประเด็นของหน่วยความจำ ประเภทแรกคือ ความจำเชิงประกาศ (Declarative memory) หรือเรียกกันอีกชื่อว่า ความจำชัดแจ้ง (Explicit memory) อันประกอบไปด้วยความทรงจำหลากหลายประเภทที่จดจําในจิตสํานึก ซึ่งบางส่วนเป็น “ความรู้ทั่วไป” เช่น เมืองหลวงของประเทศอังกฤษคือ กรุงลอนดอน จำนวนไพ่ในสำรับมาตรฐานคือ 52 ใบ และเหตุการณ์ในอดีตที่คุณเคยพบเจอมาก่อน เช่น งานเลี้ยงฉลองวันเกิดในวัยเด็ก เป็นต้น

ประเภทต่อมาคือ ความจำเชิงไม่ประกาศ (Nondeclarative memory) หรือ ความจำโดยปริยาย (Implicit memory) ซึ่งความทรงจำเช่นนี้มักสร้างขึ้นมาช่วงที่เราไม่รู้ตัว รวมไปถึง ความจำเชิงกระบวนวิธี (Procedural memory) อันเป็นกระบวนการของร่างกายที่ใช้เพื่อจดจำทักษะจากสิ่งซึ่งเคยเรียนรู้มา กระบวนการเช่นนี้ถูกนำมาใช้ในยามที่เราเล่นเครื่องดนตรีหรือการปั่นจักรยาน นอกจากนี้ ความจำเชิงไม่ประกาศ ยังสามารถกำหนดรูปแบบการตอบสนองของร่างกายซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อาการน้ำลายไหลเมื่อเห็นอาหารโปรด หรืออาการเกร็งเมื่อตกอยู่ในสภาวะคับขัน

โดยทั่วไป เรามักสร้างความจำเชิงประกาศได้ง่ายกว่าความจำเชิงไม่ประกาศ เนื่องจากการจำชื่อเมืองหลวงของประเทศต่างๆ ย่อมง่ายกว่าการฝึกฝนเล่นเครื่องดนตรีเป็นแน่ แต่ความจำเชิงไม่ประกาศมักคงอยู่กับเรายาวนานกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หากเราปั่นจักรยานชำนาญแล้ว โอกาสที่เราจะลืมนั้นแทบไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน

วิศวกรท่านหนึ่งกำลังสวมใส่หมวกที่มีระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องสแกนสมอง ณ Martinos Center ศูนย์สำหรับการถ่ายภาพทางชีววิทยาการแพทย์ แห่งโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์เยเนอรัล ประเทศสหรัฐอเมริกา ภาพถ่ายโดย ROBERT CLARK

ภาวะสูญเสียความทรงจำ

หากต้องการทำความเข้าใจเรื่องที่ว่า เราสามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร? ถือเป็นตัวช่วยสำคัญควบคู่ไปกับการศึกษาในหัวข้อ เพราะเหตุใดเราถึงลืมเลือน? กระนั้นเองเป็นสาเหตุให้นักประสาทวิทยาศาสตร์เริ่มค้นคว้าหาคำตอบเกี่ยวกับโรคความจำเสื่อม ซึ่งมักเป็นผลมาจากสมองได้รับบาดเจ็บ เช่น อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง

โรคความจำเสื่อมแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ประเภทที่ 1 คือ ภาวะสูญเสียความทรงจำย้อนหลัง (Retrograde amnesia) มักเกิดขึ้นเมื่อสมองเกิดการกระทบกระเทือน ส่งผลให้คุณหลงลืมเรื่องราวต่างๆ ก่อนหน้านี้แทบทั้งสิ้น ส่วนประเภทที่ 2 คือ ภาวะสูญเสียความทรงจำแบบไปข้างหน้า (Anterograde amnesia) เกิดขึ้นช่วงที่สมองได้รับบาดเจ็บ อันนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพในการจดจำเรื่องราวใหม่ๆ

กรณีศึกษาตัวอย่างอันโด่งดังเกี่ยวกับภาวะสูญเสียความทรงจำแบบไปข้างหน้า คือ ในปี 1953 Henry Molaison เป็นผู้เข้ารับการผ่าตัดสมองกลีบขมับด้านในออกทั้งสองข้างเพื่อบำบัดโรคลมชัก (Epilepsy) ด้วยเหตุนี้ทำให้ Molaison ไม่สามารถสร้างความทรงจำใหม่ได้ บรรดาเพื่อนร่วมงานที่ทำงานร่วมกับเขามานานหลายสิบปีจึงต้องแนะนำตัวทุกครั้งเมื่อเจอชายผู้นี้

คงไม่มีส่วนใดในสมองที่สามารถเก็บความทรงจำได้ทั้งหมด เพราะแต่ละพื้นที่ต่างมีส่วนช่วยสร้างและเก็บความทรงจำแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น การตอบสนองทางอารมณ์อย่างความกลัว ซึ่งถูกกักเก็บอยู่ในบริเวณของสมองที่เรียกว่า อะมิกดาลา (Amygdala) ส่วน ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) มีบทบาทสำคัญในการสร้าง รักษา และระลึกถึงความจำเชิงประกาศ และกรณีของ Molaison ส่วนของสมองที่ได้รับการผ่าตัดคือ สมองใหญ่กลีบขมับ (Temporal lobe) อันมีหน้าที่สร้างและหวนนึกถึงความทรงจำเก่าๆ เป็นต้น

สมองของมนุษย์นั้นประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ซึ่งต้องทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยสร้าง จัดเก็บ และไว้ระลึกถึงความทรงจำ ภาพถ่ายโดย ROBERT CLARK, NAT GEO IMAGE COLLECTION

มนุษย์สร้าง จัดเก็บ และระลึกถึงความทรงจำได้อย่างไร?

เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ในปี 1940 สันนิษฐานถึงความทรงจำซึ่งจัดขึ้นภายในกลุ่มของเซลล์ประสาท หรือที่เรียกว่า ส่วนประกอบของเซลล์ โดยเซลล์เหล่านี้เป็นตัวตอบสนองเพื่อไปกระตุ้นความทรงจำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นใบหน้าของเพื่อนที่เรารู้จัก หรือกลิ่นของขนมปังอบใหม่ๆ และยิ่งเซลล์ประสาททำงานร่วมกันมากเท่าไร การเชื่อมต่อระหว่างกันของเซลล์ก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น

ข้อมูลมากมายที่สมองรับเข้ามาในตอนแรกยังคงเป็น ความจำระยะสั้น (short-term memory) อยู่ ดังนั้นเราต้องเรียกใช้ข้อมูลนั้นซ้ำไปซ้ำมา มันจึงค่อยๆ เปลี่ยนเป็น ความจำระยะยาว (long-term memory) ภายหลัง โดยผ่านกระบวนการที่มีชื่อว่า การสร้างเสถียรภาพแก่ความทรงจำ (Memory consolidation) อย่างไรก็ตาม ความจำระยะยาวนั้นไม่จำเป็นต้องเริ่มจากความจำระยะสั้นเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเรื่องราวและเหตุการณ์ ซึ่งอาจมีความสำคัญแตกต่างกัน

เมื่อใดก็ตามที่เราหวนระลึกถึง ส่วนต่างๆ ของสมองจะประสานงานกันอย่างทันท่วงที รวมถึงบริเวณเยื่อหุ้มสมองที่ประมวลผลข้อมูลระดับสูง บริเวณที่จัดการกับข้อมูลดิบ และบริเวณสมองกลีบขมับส่วนใน (medial temporal lobe) ซึ่งมีส่วนช่วยประสานระบบการทำงาน ผลงานวิจัยล่าสุดค้นพบว่า ช่วงเวลาที่คนเราระลึกถึงความทรงจำที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่นั้น เส้นประสาทหลากหลายแขนงที่อยู่บริเวณสมองกลีบขมับส่วนในจะเชื่อมต่อกับคลื่นต่างๆ ในเยื่อหุ้มสมองโดยทันที

เรื่อง 

***แปลและเรียบเรียงโดย กุลธิดา ปัญญาเชษฐานนท์
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 


อ่านเพิ่มเติม

ชั่วโมงต้องมนต์แห่งการพักผ่อน

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.