เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา (31 มีนาคม 2566) มีรายงานข่าวว่า นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทย ถูกหามส่งโรงพยาบาลบุรีรัมย์ หลังหมดสติขณะซ้อมแข่งรถ โดยคาดว่าสาเหตุเกิดจากอาการ ฮีตสโตรก หรือโรคลมแดด เนื่องจากอยู่ในอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ขณะซ้อมแข่งรถยนต์ที่สนามช้างอินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ และต่อมาได้เสียชีวิตอย่างสงบ
โดย ฮีตสโตรก (Heat stroke) หรือโรคลมแดด เป็นหนึ่งในภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ อันเป็นผลมาจากร่างกายได้รับความร้อนสูง ฮีตสโตรกอาจสร้างความเสียหายแก่สมองรวมถึงอวัยวะภายในอื่นๆ และอาจส่งผลถึงชีวิตได้ แม้ว่าส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเกิดฮีตสโตรกมากกว่าวัยอื่น แต่ฮีตสโตรกยังสามารถเกิดกับคนอายุน้อยที่สุขภาพแข็งแรงได้
อาการฮีตโสตรกมักเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสอากาศร้อน เช่น การเกิดตะคริวจากอากาศร้อน หรือเป็นลมจากการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร่างกายอาจเกิดอาการฮีตสโตรกได้ แม้ว่าไม่มีสัญญาณทางร่างกายใดๆ บ่งบอกล่วงหน้า
อาการฮีตสโตรกเกิดจากการใช้เวลาท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานาน โดยทั่วไปมักมีภาวะร่างกายเสียน้ำร่วมด้วย ซึ่งส่งผลให้ศูนย์การควบคุมอุณหภูมิของร่างกายล้มเหลว ในทางการแพทย์จำกัดความอาการฮีตสโตรกไว้ว่า ภาวะที่อุณหภูมิแกนกลางของร่างกายมีค่าสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลาง มักเกิดขึ้นหลังจากร่างกายได้รับอุณหภูมิสูง อาการที่ปรากฏส่วนใหญ่คือ รู้สึกคลื่นไส้ ชักเกร็ง เวียนหัว ตาพร่า และบางรายอาจหมดสติและโคมา
การดูแลรักษาเบื้องต้นสำหรับผู้มีอาการฮีตสโตรก
หากคุณอยู่ในเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยมีอาการฮีตสโตรก ควรโทรแจ้งโรงพยาบาล หรือหน่วยกู้ชีพทันที ในระหว่างรอเจ้าหน้าที่มาถึง ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท หรือมีอากาศเย็น และอยู่ภายใต้ร่มเงา
วิธีที่ช่วยลดอุณภูมิร่างกายผู้ป่วย
– เช็ดตัวหรือทำให้ตัวผู้ป่วยเปียกด้วยน้ำ และเปิดพัดลมเพื่อช่วยระบายความร้อนออกทางผิวหนัง
– ประคบด้วยน้ำแข็งในบริเวณข้อต่อหรือข้อพับต่างๆ และบริเวณลำคอ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีหลอดเลือดที่อยู่ใกล้กับผิวหนังชั้นนอก ช่วยให้ความเย็นจากน้ำแข็งแพร่ไปยังหลอดเลือดได้เร็วขึ้น
– เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปแช่ในอ่างน้ำเย็น ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุน้อยและเกิดอาการฮีตสโตรกเนื่องจากการออกกำลังกายอย่างหนัก
หลีกเลี่ยงการใช้น้ำแข็งในผู้ป่วยสูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง
การป้องกันตัวเองจากอาการฮีตสโตรก
เมื่อค่าดัชนีความร้อนในอากาศสูงขึ้น ควรอยู่ในอาคารหรือภายใต้ร่มเงา แต่ถ้าคุณจำเป็นต้องออกไปใช้เวลากลางแจ้ง ควรป้องกันตัวเองจากอาการฮีตสโตรก ดังนี้
– สวมเสื้อผ้าที่ผลิตจากเนื้อผ้าบางเบา และระบายอากาศได้ดี ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดรูปจนเกินไป และสวมหมวก
– ใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF 30 หรือมากกว่า
– ดื่มน้ำในปริมาณมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันร่างกายสูญเสียน้ำ หรือดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา เพื่อทดแทนเกลือแร่ที่สูญเสียไปทางเหงื่อ
– หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่อุณภูมิสูงที่สุดของวัน และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในช่วงอากาศร้อน
ในกรณีที่คุณพึ่งฟื้นตัวจากอาการฮีตสโตรก คุณอาจจะมีความไวต่ออากาศร้อนในช่วงสัปดาห์ถัดมา ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด และการออกกำลังกายอย่างหนัก จนกว่าแพทย์จะวินิจฉัยให้คุณกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ
ข้อมูลอ้างอิง:
What to Know About Heat Stroke
Heat Stroke: Symptoms and Treatment
อ่านเพิ่มเติม : ระบบผิวหนัง อวัยวะชิ้นใหญ่ที่สุดในร่างกายมนุษย์