ภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนของเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ซิฟิลิส ขอบคุณภาพจาก Centers for Disease Control and Prevention, USA
หลังจากที่ซิฟิลิสโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ครั้งหนึ่งเคยแพร่ระบาดในสังคมไทย ได้ทำให้เกิดการตื่นตัวเรื่องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จนสามารถควบคุมได้แล้ว กระแสความกลัวซิฟิลิสก็เริ่มจางหายไปในสังคม ผู้คนเริ่มสนใจกับโรคติดต่อประเภทเดียวกันที่ร้ายแรงกว่าอย่างเช่นโรคเอดส์แทน ซึ่งก็มีสัญญาณที่ดีในการควบคุมการแพร่ระบาดด้วยเช่นกัน
แต่ในวันนี้ซิฟิลิสกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง แบบที่ไม่มีใครคาดคิด โดยข้อมูลการแพร่ระบาดเมื่อเร็วๆ นี้ อาจจะทำให้ผู้คนต่างงงงวยและไม่ทันตั้งตัว ว่าโรคระบาดที่ครั้งหนึ่งเชื่อกันว่าสามารถควบคุมได้แล้วกลับมาได้อย่างไร
กามโรคจากแดนไกล
ต้นกำเนิดของโรคซิฟิลิสนั้นไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด แต่มีทฤษฎีอยู่ 2 ทฤษฎีที่กล่าวถึงต้นกำเนิดของโรคนี้ โดยทฤษฎีแรกเชื่อว่าเป็นโรคในเขตร้อนที่มาจากการค้าทาสจากแอฟริกาไปยังยุโรปและทวีปอเมริกา อีกทฤษฎีหนึ่งคือ โรคนี้นำมาจากทวีปอเมริกาโดยลูกเรือของโคลัมบัส นักสำรวจทางทะเลชื่อดังผู้ค้นพบทวีปอเมริกา แล้วนำมาระบาดในยุโรป ซึ่งในสมัยนั้นเรียกกันว่า หัดอินเดียน
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคซิฟิลิสที่หนักจนนักประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้อยู่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่สิบห้า ในแถบทวีปยุโรป ซึ่งเป็นโรคที่เกิดกับบรรดานักเดินทาง โสเภณี ทหาร โดยเวลานั้น ทุกประเทศในยุโรปต่างมีผู้ป่วยติดเชื้อซิฟิลิสอยู่ทุกประเทศ และโรคดังกล่าวก็ได้มาถึงประเทศไทย (สยาม) จากการติดต่อกับชาวต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากการตรา พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค เมื่อ พ.ศ. 2451 ซึ่งมีจุดประสงค์หนึ่งเพื่อควบคุมโรคติดต่อจากนครโสเภณี อันน่าจะหมายความรวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างซิฟิลิสด้วย และโรคนี้ก็ได้ปรากฏในสังคมไทยเรื่อยมา และมีช่วงที่ระบาดรุนแรงเป็นครั้งคราว
ซิฟิลิสเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล หรือแม้กระทั่งรอยขีดข่วนบนผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ โดยอากาศโรคซิฟิลิส เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะแบ่งอาการออกเป็น 3 ระยะ
1. ระยะแรก จะปรากฏแผลขนาดเล็กที่เรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) เป็นแผลที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด มีลักษณะเรียบและแข็งขึ้นตามร่างกาย โดยเฉพาะตามอวัยวะเพศและริมฝีปากหลังได้รับเชื้อราว 3 สัปดาห์ ก่อนแผลจะหายไป ซึ่งก็จะเป็นช่วงที่ผู้ที่ติดเชื้อนิ่งนอนใจ คิดว่าเชื้อหายไปเองและไม่เข้ารับการตรวจ
2. ระยะที่สอง หลังจากผ่านระยะแรกมาได้ราว 1-3 เดือน ผู้ที่ติดเชื้อจะมีผื่น ที่มีลักษณะตุ่มนูนขึ้นตามบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า อวัยวะเพศ หรือส่วนอื่นๆ เช่น ขาหนีบ ทวารหนัก ภายในช่องปาก เป็นไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ผมร่วง หรืออื่นๆ ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปโดยไม่ได้รับการรักษาได้
– และผู้ป่วยอาจมีอาการระยะสงบ (Latent Syphilis) กล่าวคือ เป็นช่วงที่ไม่ค่อยปรากฏอาการของโรคแสดงออกมา แต่ผู้ป่วยยังมีเชื้ออยู่ในตัวและสามารถตรวจพบได้
3. ระยะที่ 3 ถ้าในกรณีที่ผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษา ก็จะเข้าสู่ระยะสุดท้ายที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เส้นประสาท หัวใจ สมอง หรืออวัยวะของร่ายกายที่มีเชื้อไปอยู่ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะที่ร้ายแรงอื่นๆ เช่น ตาบอด สมองเสื่อม อัมพาต ไร้สมรรถภาพทางเพศ โรคหัวใจ จนสามารถเสียชีวิตได้ในที่สุด
โดยผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิสจะมีความเสี่ยงในติดเชื้อ HIV ได้ง่ายขึ้น 2-5 เท่า ด้วยเช่นกัน
โดยโรคซิฟิลิสสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เป็นหลัก และถึงแม้ว่าจะมีระยะช่วงที่ไม่แสดงอาการ แต่ผู้ที่ติดเชื้อยังต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนหายขาด หากพบว่าระยะเวลาการติดเชื้อของผู้ป่วยไม่ถึง 1 ปี ก็สามารถหยุดการลุกลามได้โดยการฉีดยาเพนิซิลลิน 1 เข็ม แต่ถ้ามีอาการมากกว่า 1 ปี อาจต้องรับการฉีดยามากกว่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีโรคติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด ซึ่งเป็นซิฟิลิสที่ติดต่อจากมารดาสู่ลูกในครรภ์ มีผลทำให้มารดาที่ติดเชื้อเกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือเกิดการเสียชีวิตในทารกแรกเกิดได้เช่นเดียวกัน
การกลับมาอีกครั้ง
ความน่ากลัวของ โรคซิฟิลิส นี้ ทำให้สังคมไทยเกิดการตื่นตัวเรื่องการรณรงค์การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไปพักหนึ่ง จนทำให้การแพร่ระบาดลดลงไปมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้คนทั่วไปเริ่มลดความกลัว และลดการป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ จนเกิดการแพร่ระบาดอีกครั้ง ตามรายงานที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก ของโรงพยาบาลบางรัก หรือศูนย์กามโรคบางรัก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่ติดเชื้อมากที่สุดเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาถึงมหาวิทยาลัย หรืออายุราว 15-24 ปี
โดยสาเหตุของการกลับมาระบาดอีกครั้ง คาดว่าน่าจะมีจากค่านิยมการป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ลดน้อยลง และความเข้าใจผิดว่าโอกาสการติดโรคนี้มาจากการซื้อบริการทางเพศเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์กับใครก็มีโอกาสในการติดเชื้อได้ทั้งสิ้น รวมไปถึงความเข้าผิดว่าการมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางปากหรือทวารหนักไม่ทำให้เกิดโรค ทั้งที่ความจริง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกือบทุกโรคสามารถติดกันได้ง่ายมากผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
อีกสาเหตุหนึ่งของการระบาดคือ คือผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่รู้ตัว จึงกลายเป็นพาหะของโรคไปโดยไม่ตั้งใจ เมื่อรู้ตัวว่าติดเกิดความละอาย และไม่ยอมเข้ารับการรักษาตั้งแต่แรก และปล่อยให้อากาศรุนแรงขึ้นจนสามารถรักษาได้ยากแล้ว
บรรดาแพทย์ต่างลงความเห็นว่า การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เป็นป้องกันที่ดีที่สุด ถึงแม้อาจมีผู้หญิงไทยจำนวนไม่น้อยคิดว่าแค่กินยาคุมกำเนิดก็เพียงพอ แต่สิ่งนั้นก็ไม่สามารถป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ หรือถ้ามีเหตุให้สงสัยว่าตนมีอาการของโรค ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดให้ทราบว่ามีเชื้อซิฟิลิสในตัวหรือไม่ ก็จะช่วยรักษาทั้งตัวเองและลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
และการป้องกันที่ดีที่สุด ต้องเริ่มจากการตระหนักและควบคุมพฤติกรรมให้ห่างไกลจากการติดต่อโรคนี้ด้วยตัวเอง
แหล่งอ้างอิง
รู้จัก’ซิฟิลิส’โรคระบาดยอดฮิตที่รักษาได้
ผู้ชายกรุงเทพฯเกือบสูญพันธุ์ เป็นโรคบุรุษถึงร้อยละ ๗๕ ต้องให้ญี่ปุ่นเป็นครู!!!
โรคส่งผ่านทางเพศสัมพันธ์: โรคเหตุความศิวิไลซ์
โลกโซเชียลแห่ให้ข้อมูล “ซิฟิลิส” ระบาด ไม่รีบรักษาอาจถึงตาย