ประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของแก๊สน้ำตา

แก๊สน้ำตา ในทางเทคนิคคืออาวุธเคมี ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อร่างกายในระยะยาว

ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2562 เหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของผู้คนเกือบทั้งโลกคือเหตุการณ์ที่ตำรวจฮ่องกงใช้ แก๊สน้ำตา และกระสุนยางใส่ผู้ประท้วงที่ต่อต้านการพิจารณากฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเข้าไปในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ แม้ผู้ชุมนุมต้องสลายตัวไปเนื่องจากเกรงกลัวอันตรายจากแก๊สน้ำตา แต่ก็มีผู้ชุมนมจำนวนไม่น้อยที่เตรียมตัวรับมือกับการใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เป็นอย่างดี

การใช้ แก๊สน้ำตา กลายเป็นภาพจำของการสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงทั่วโลกมาเนิ่นนาน แม้ว่าตามอนุสัญญาเจนีวาจะห้ามมิให้ใช้แก๊สน้ำตาในภาวะสงคราม แต่การใช้แก๊สน้ำตากับประชาชนยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลหลายประเทศมีการใช้แก๊สน้ำตาปราบปรามผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บ บางกรณีมีผู้สียชีวิต

เพื่อให้เข้าใจอันตรายของแก๊สน้ำตาให้มากขึ้น เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ติดต่อไปยัง สเวน-เอริก จอรด์ (Sven-Eric Jordt) ศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยลมาให้ข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญด้าสแก๊สน้ำตามาให้ข้อมูล

ในช่วงทศวรรษที่ 2000 เขาค้นพบว่าแก๊สน้ำตาส่งผลกับร่างกายโดยการกระตุ้นประสาทสัมผัสความเจ็บปวดของร่างกาย โดยร่างกายของเขาเคยได้รับแก๊สน้ำตาในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อครั้งเขายังเป็นนักศึกษาในประเทศเยอรมนีและเข้าร่วมการประท้วงเรื่องการกำจัดขยะนิวเคลียร์

รบกวนเล่าประวัติย่อของแก๊สน้ำตาให้กับเรา

จริงๆ แล้วแก๊สน้ำตาไม่ใช่แก๊ส มันเป็นของแข็งหรือของเหลวที่กลายเป็นละอองของเหลว ซึ่งมีสารเคมีบางประเภทที่ถือว่าเป็นแก๊สน้ำตา

ชนิดแก๊สน้ำตาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก มีชื่อว่า CS และ OC โดย OC คือ Oleoresin Capsicum (น้ำมันพริก, พริกไทย) อันเป็นส่วนประกอบในสเปรย์พริกไทย ซึ่งมีสารแคปเซอิซิน (Capsaicin – สารที่ให้ความเผ็ดในพริก) ซึ่งเป็นสารจากธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความฉุนหรือแสบ ส่วนแก๊ส CS นั้นประกอบไปด้วยสารเคมีที่ชื่อว่า 2-chlorobenzalmalononitrile ซึ่งกระตุ้นความเจ็บปวดกับประสาทสัมผัสในร่างกาย และในอดีตยังมีการใช้งานสารประเภทอื่นๆ ซึ่งบางส่วนเป็นสารผิดกฎหมายเนื่องจากคุณสมบัติความเป็นพิษของมัน เช่นแก๊ส CN ที่เคยใช้ในอุโมงค์ของทหารเวียดกงในช่วงสงครามเวียดนาม

แก๊สน้ำตาเป็นแก๊สที่ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดต่อระบบประสาท โดยระบุว่าเริ่มใช้ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นต้นมาโดยไม่มีความรู้ หรือวิธีการที่แก๊สนั้นทำงานในแง่ของชีววิทยาเลย

ผู้ประท้วงขว้างแก๊สน้ำตากลับไปที่โบสถ์ลามาดแลน กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2018 ภาพถ่ายโดย Olivier Ortelpa, National Geographic Your Shot

คุณช่วยสรุปการทดลองเรื่องแก๊สน้ำตาที่กำลังทำอยู่ให้กับเราได้ไหม

ในปี 2006 และปี 2009 เราเผยแพร่งานวิจัยที่ระบุว่าแก๊สน้ำตาทำงานโดยกระตุ้นต่อมประสาทสัมผัสความเจ็บปวด ซึ่งทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนอง เช่น หลับตา, การเจ็บปวดแบบกะทันหัน, หลอดลมหดเกร็ง ทำให้หายใจลำบาก เป็นต้น หลังจากนั้น เราได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยสถาบันเพื่อสุขภาพแห่งชาติเพื่อหาวิธีการตอบโต้ผลกระทบเหล่านี้

มาจนถึงตอนนี้ คุณได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวการป้องกันประสาทสัมผัสจากแก๊สน้ำตา (tear gas receptor blocker) บ้าง

ตอนนี้เรายังไม่ได้เผยแพร่เรื่องนี้ แต่สิ่งที่เรารู้ตอนนี้คือการป้องกันนี้ช่วยลดปฏิกิริยาตอบสนองความเจ็บปวดในสัตว์ รวมไปถึงการบวมอักเสบของผิวหนังที่สัมผัสกับแก๊สน้ำตา ซึ่งเมื่อแก๊สน้ำตาเข้าสู่ร่างกาย มันสามารถก่อให้เกิดแผลบวมไหม้ โดยเฉพาะส่วนของร่างกายที่มีความชุ่มชื้น เช่นดวงตาหรือรักแร้

ควรใช้แก๊สน้ำตากับประชาชนหรือไม่

ภายใต้อนุสัญญาเจนิวา แก๊สน้ำตาถูกกำหนดให้เป็นสารเคมีที่ใช้ในสงคราม และถูกขัดขวางไม่ให้ใช้ในสงครามด้วยเช่นกัน แต่กลายเป็นว่ามันถูกนำไปใช้กับพลเรือนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย

แม้จะมีกรณีตัวอย่างของผู้คนที่ต้องทรมานจากการบาดเจ็บและแผลไหม้จากแก๊สน้ำตา โดยเฉพาะผู้ที่อยู่สภาพแวดล้อมที่มีเมือง หรือถนนที่มีตึกอยู่ล้อมรอบ ดังเช่นชาวบ้านที่อาศัยใกล้จัตุรัสทาห์รีร์ในช่วงอาหรับสปริงที่ได้รับแก๊สน้ำตาจำนวนมาก ก็ได้รับผลกระทบในระยะยาว ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบหายใจ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่ง

ภาพหญิงชาวบราซิลคนหนึ่งกำลังถูกฉีดสเปรย์พริกไทยในนครรีอูดีจาเนรู ซึ่งทำให้มีการถกเถียงในเรื่องการใช้กับผู้ประท้วง ภาพถ่ายโดย VICTOR R. CAIVANO, AP IMAGES

คนที่เป็นภูมิแพ้หรืออาการป่วยอื่นๆ สามารถมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรงได้ แก๊สน้ำตาเป็นสารเคมีที่มีผลร้ายแรง ผมคิดว่าการใช้แก๊สน้ำตานั้นเป็นปัญหาและเป็นอันตราย ในอดีต มีกรณีที่พบว่ามีการใช้แก๊สน้ำตามากเกินไป

การบังคับใช้กฎหมายต้องให้น้ำหนักไปกับความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บที่เกิดจากแก๊สน้ำตาของผู้คนที่อยู่รอบ นอกเหนือไปจากการใช้เพื่อควบคุมฝูงชนในการประท้วง อันเป็นกรณีที่คาดการณ์ได้ว่าฝูงชนนั้นฝ่าฝืนกฎหมาย รัฐบาลจะต้องมีกระบวนการกำจัดการปนเปื้อนของแก๊สน้ำตาทันทีในพื้นที่ หรือพื้นที่อาศัยของประชาชนใบบริเวณที่มีการใช้งานแก๊สน้ำตา

ในสหรัฐอเมริกา นักรณรงค์บางคนให้เหตุผลว่าพวกเขาถูกละเมิดสิทธิพลเมืองโดยการแก๊สน้ำตา คุณคิดว่ามันเป็นกรณีแบบไหน

ที่สหรัฐอเมริกา การบังคับใช้กฎหมายก็มีการใช้สเปรย์พริกไทย ซึ่งกระตุ้นต่อมความเจ็บปวดและก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรง แต่ก็ไม่ได้รุนแรงเท่าแก๊สน้ำตาแบบดั้งเดิมที่ใช้งานกันในตะวันออกกลาง (ช่วงเหตุการณ์อาหรับสปริง)

ผมคิดว่าต้องพิจารณากันไปในแต่ละกรณี แต่ทุกกรณีนั้นก็มีความรุนแรง เพราะไม่มีวิธีการใดที่จะหยุดยั้งความเจ็บปวดจากอาการติดเชื้อในร่างกายที่เกิดจากแก๊สน้ำตาได้

เรื่องโดย BRIAN CLARK HOWARD


อ่านเพิ่มเติม เกรียตา ทุนแบร์ย เด็กสาววัย 16 ผู้ปลุกเยาวชนโลกออกเดินขบวนเพื่อต้านภาวะโลกร้อน 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.