เหตุผล 4 ประการที่ทําให้อีโบลายังไม่หยุดระบาด

(ภาพปก) เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพได้รับการฉีดสเปรย์น้ำคลอรีน หลังจากนำส่งผู้ป่วยที่คาดว่าติดเชื้อ อีโบลา ไปยังรถพยาบาล ภาพถ่ายโดย 


ในขณะที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงดำเนินอยู่ ก็ได้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส อีโบลา ในรอบใหม่ที่คองโกอีกครั้ง นี่คือเหตุผล 4 ประการที่โลกยังไม่สามารถหยุดเชื้อนี้ได้

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน องค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ประเทศในภูมิภาคแอฟริกากลางการเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาอีกครั้ง โดยมีผู้ติดเชื้อ 6 คน มีผู้เสียชีวิต 4 คน และยังรักษาตัวอยู่อีก 2 คน และมีความเป็นไปได้ถึงการแพร่ระบาดครั้งใหม่ในวงกว้างจึงได้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2019 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศภาวะวิกฤตโรคการระบาดของเชื้ออีโบลา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกว่าเป็น ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แล้ว โดยมีผู้เสียชีวิตในคองโกมากราว 1,600 คน

โดยในระหว่างปี 2014-2016 โลกทั้งโลกต่างจับจ้องและมีความกังวลในพื้นที่แอฟริกาตะวันตก เนื่องจาก การระบาดของเชื้ออีโบลา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 11,000 คน

หลังจากนั้นในปี 2018 ได้มีการแพร่ระบาดครั้งที่สอง ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2018 ในจังหวัดคิวูเหนือ และจังหวัดอิตูรีในคองโก มีผู้ติดเชื้อกว่า 2,500 คน และมีผู้เสียชีวิตราว 1,676 คน

เด็กหญิงที่เพิ่งเสียชีวิตหลังจากถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลได้ไม่นานคนนี้กำลังถูกนำไปชันสูตรหาเชื้ออีโบลา โดยคนไข้ทุกคนที่เสียชีวิตในเมือง Kyondo ประเทศคองโก จะได้รับการฝังศพอย่างมีเกียรติไม่ว่าจะเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด ภาพถ่ายโดย NICHOLE SOBECKI

ดร. เทดรอส อดานอม เกเบรเยซุส (Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus) อธิบดีองค์การอนามัยโลกได้เคยอธิบายเมื่อปี 2019 ว่า การระบาดในครั้งนี้คือการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่อันตรายที่สุดของโลกในพื้นที่ที่อันตรายที่สุดในโลก ด้านบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเตือนว่า การระบาดที่ยากจะทำให้สงบนี้หมายความว่ามันอาจระบาดต่อไปจนถึงปีหน้าด้วย

อีโบลาคืออะไร

อีโบลาคือเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้แบบฉับพลันในระยะแรก ร่างกายอ่อนแอ ปวดกล้ามเนื้อและเจ็บคอ จากนั้นจะก่อให้เกิดอาการอาเจียน ท้องร่วง และเลือดออกทั้งภายนอกและภายในร่างกาย โดยคนสามารถติดเชื้อได้โดยการติดต่อผ่านร่างกายที่มีแผล ทางปาก จมูก ผ่านทางเลือด อาเจียน อุจจาระ และสารคัดหลั่งของร่างกายผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งคนไข้มักเสียชีวิตจากการขาดน้ำ และภาวะอวัยวะล้มเหลวหลายอวัยวะ (multiple organ failure)

เหตุผลสี่ประการที่ทําให้อีโบลายังไม่หยุดระบาด

ในรอบ 25 ปี อีโบลาเป็นไวรัสที่ได้รับการพิสูจน์ แล้วว่าอันตรายที่สุด ตอนนี้ อีโบลาทำให้คนนับร้อยๆ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกถึงแก่ชีวิตในการระบาดครั้งใหญ่อันดับสองตั้งแต่มีการค้นพบไวรัสดังกล่าวในปี 1976

ภาพถ่ายเชื้ออีโบลา

การระบาดครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นระหว่างปี 2014 ถึง 2016 ในชาติแอฟริกาตะวันตกสามประเทศเป็นผลให้มีผู้ป่วย 30,000 คน เกือบครึ่งเสียชีวิต ความช่วยเหลือขนานใหญ่จากนานาชาติช่วยบรรเทาการระบาดของอีโบลาในช่วงเวลานั้นแต่ไม่มีสิ่งใดประกันว่าไวรัสดังกล่าวจะหยุดโจมตีเผ่าพันธุ์มนุษย์ อีโบลานั้นยากต่อการควบคุมด้วยสาเหตุอันซับซ้อนหลายประการ แต่นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามอยู่ และสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจะช่วยให้เราเตรียมรับมือกับไวรัสตัวนี้และที่อาจจะร้ายกาจกว่านี้ในอนาคต

เหตุใดอีโบลาจึงกำจัดยาก

1. ข้อจํากัดของวัคซีน
วัคซีนอีโบลาต้องเก็บไว้ในที่เย็น แต่ในพื้นที่เขตร้อนที่มีตู้เย็นอยู่น้อย วัคซีนจะเสียอย่างรวดเร็ว และเรายังไม่มีวัคซีนแบบแห้งหรือแบบไม่เสื่อมสภาพ
2. ข้อบังคับต่างๆ และต้นทุนของยาใหม่ๆ
มียาจากการตัดต่อพันธุกรรมต่างๆที่ยังอยู่ระหว่างการทดลอง แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะให้ผลกว้างขวางและไม่แพงเกินกว่าจะใช้รักษาคนจำนวนมากที่ติดเชื้ออีโบลา
3. ความล้มเหลวของวิธีที่เคยใช้หยุดไวรัส
ในปี 1966 ระหว่างการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสไข้ทรพิษเหล่าผู้ฉีดวัคซีนใช้เทคนิคที่เรียกว่าการฉีดวัคซีนแบบวงแหวนรอบจุดเกิดโรคด้วยการฉีดวัคซีนในคนรอบข้างผู้ติดเชื้อ วิธีนี้จำกัดเชื้อไวรัสเอาไว้ได้ด้วยกำแพงของคนที่มีภูมิต้านทานและหยุดการแพร่กระจาย แต่ความพยายามในการใช้เทคนิคดังกล่าวกับอีโบลาต้องประสบปัญหา เนื่องจากจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและหน่วยงานอื่นๆ ที่รักษาระเบียบของสังคม แต่พื้นที่ระบาดของอีโบลาในคองโกถูกควบคุมโดยกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ยินยอมให้ผู้ฉีดวัคซีนเข้าไปทำงาน
4. เรายังไม่เข้าใจถึงกลไกการทําลายของอีโบลาดีพอ
อีโบลายังคงเป็นปริศนานักวิทยาศาสตร์ยังไม่อาจเข้าใจถึงกลไกของไวรัสดังกล่าวและไม่แน่ใจว่าอีโบลาทำให้มนุษย์ตายได้อย่างไร

เรื่อง ริชาร์ด  เพรสตัน

แหล่งอ้างอิง

นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2562

DR Congo Ebola outbreak declared global health emergency

Ebola Outbreak in Congo Is Declared a Global Health Emergency 


อ่านเพิ่มเติม ซิฟิลิส: กามโรคที่ไม่เคยห่างหายไปจากมนุษย์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.