พายุโซนร้อน (Tropical Storm)

การเกิด พายุโซนร้อน การตั้งชื่อพายุ และภัยจากพายุโซนร้อน

พายุโซนร้อน (Tropical Storm) คือ พายุที่ก่อตัวขึ้นเหนือน่านน้ำทะเลในมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตร มีความเร็วลมสูงสุดอยู่ในช่วง 64 ถึง 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 100 กิโลเมตร เป็นพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) ระยะกลางที่มีกำลังมากกว่าพายุดีเปรสชัน (Tropical Depression) แต่ยังไม่พัฒนาจนมีระดับความรุนแรงเทียบเท่าพายุไต้ฝุ่น ไซโคลน หรือเฮอร์ริเคน

การเกิดพายุโซนร้อน

พายุโซนร้อนก่อตัวขึ้นเหนือผิวน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 26.5 องศาเซลเซียส เป็นพายุที่เกิดขึ้นเป็นประจำในมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตรของโลก มีรูปทรงของพายุหมุน แต่ยังไม่มีกำลังมากพอที่ก่อให้เกิดตาพายุที่ชัดเจนเหมือนพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน ความร้อนและความชื้นในอากาศเหนือน่านน้ำในมหาสมุทร จึงเป็นปัจจัยหลักในการก่อตัวและทวีกำลังแรงขึ้นของพายุโซนร้อน

การเกิดพายุโซนร้อนในมหาสมุทรตามแนวเส้นศูนย์สูตรของโลก

เมื่อพายุโซนร้อนเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งจึงมักอ่อนกำลังลง จนกลายเป็นเพียงกลุ่มเมฆหมุนวนหรือพายุดีเปรสชันก่อนจะสลายตัวไปในที่สุด เนื่องจากปะทะเข้ากับอุณหภูมิในอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ได้รับพลังงานจากความร้อนและความชื้นอย่างต่อเนื่อง ตามแนวร่องกดอากาศต่ำเหนือน่านน้ำในมหาสมุทรตามเดิมอีก ในทางกลับกัน หากการก่อตัวขึ้นของพายุโซนร้อนเกิดขึ้นในมหาสมุทรห่างไกลชายฝั่ง พายุดังกล่าวมีโอกาสที่จะทวีกำลังแรงขึ้น จนสามารถพัฒนาไปเป็นพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคนได้ในท้ายที่สุด

การตั้งชื่อพายุ

กรมอุตุนิยมวิทยาของแต่ละประเทศหรือหน่วยงานในแต่ละภูมิภาคจะเริ่มตั้งชื่อพายุอย่างเป็นทางการ เมื่อพายุดังกล่าวมีความเร็วลมสูงสุดเกิน 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือกลายเป็น “พายุโซนร้อน” แล้วนั่นเอง โดยในแทบพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและทะเลจีนใต้ ประเทศไทยร่วมกับอีก 13 ประเทศสมาชิกในคณะกรรมการไต้ฝุ่นและองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้แก่ กัมพูชา จีน เกาหลีเหนือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว มาเก๊า มาเลเซีย ไมโครนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ร่วมกันเสนอและตั้งชื่อพายุโซนร้อนที่ก่อตัวขึ้นในแต่ละปี และหากพายุโซนร้อนพัฒนาไปเป็นไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคนจะมีการจัดระดับความรุนแรงของพายุขึ้นอีกครั้งเพื่อยกระดับการเตือนภัยต่อประชาชน

ภัยจากพายุโซนร้อน

แม้พายุโซนร้อนจะสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรและสิ่งปลูกสร้างบนภาคพื้นดินได้ไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบความรุนแรงและภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจากพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน แต่พายุโซนร้อนสามารถก่อให้เกิดความเสียหายในบริเวณกว้างจากปริมาณฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวัน ซึ่งสามารถก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในแทบพื้นที่ราบลุ่มและบริเวณที่ราบสูงตามเทือกเขาต่างๆ

อุทกภัยในฟิลิปปินส์จากพายุโซนร้อนเทมบิน (Tropical Storm Tembin) ในปี 2017

พายุโซนร้อนในปัจจุบัน

ในแต่ละปี มีพายุโซนร้อนก่อตัวขึ้นราว 70 ถึง 110 ลูก ทั่วโลก โดยมีโอกาสพัฒนาและทวีกำลังสูงขึ้นจนกลายเป็นพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคนมากถึงร้อยละ 50 จากอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นและความชื้นที่มากขึ้นในชั้นบรรยากาศโลก ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์และนักอุตุนิยมวิทยายังไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ส่งผลให้พายุโซนร้อนมีจำนวนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี แต่อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ล้วนส่งผลต่อการก่อตัวและการเคลื่อนที่ของพายุโซนร้อนโดยตรง

พายุโซนร้อนที่ชะลอตัวและเคลื่อนที่อยู่ในมหาสมุทรเป็นเวลานาน จะเกิดการสะสมพลังงานความร้อนจากชั้นบรรยากาศและกระแสน้ำมากขึ้น ส่งผลให้พายุโซนร้อนมีกำลังแรงและเพิ่มโอกาสให้เกิดภัยธรรมชาติที่มาพร้อมกับพายุ เช่น การเกิดลมกระโชกแรง ฝนตกหนักและคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือ “สตอร์มเซิร์จ” (Storm surge) รุนแรงขึ้น

ถึงแม้จะมีโอกาสพบพายุโซนร้อนในประเทศไทยได้ยาก เนื่องจากพายุโซนร้อนที่ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย มักจะอ่อนกำลังลง กลายเป็นเพียงพายุดีเปรสชันเท่านั้น เมื่อเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศของเรา แต่พายุโซนร้อนยังคงมีอิทธิพลต่อลมฟ้าอากาศของประเทศ โดยเฉพาะในเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมของช่วงฤดูมรสุมที่จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเกิดพายุโซนร้อนที่สูงขึ้น รวมถึงการทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นของพายุไต้ฝุ่นและเฮอร์ริเคน พายุโซนร้อนยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ทุกประเทศในพื้นที่การก่อตัวและเส้นทางเดินของพายุต้องเฝ้าสังเกตการณ์และระวังภัย

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.britannica.com/science/tropical-storm

http://ww2010.atmos.uiuc.edu/(Gh)/guides/mtr/hurr/stages/ts.rxml

http://tairgle.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=20:monsoon-tropical-cyclone&catid=8&Itemid=159&lang=th

http://www.lesa.biz/earth/atmosphere/phenomenon/tropical-storm

https://tmd.go.th/info/info.php?FileID=58

https://www.nationalgeographic.com/environment/natural-disasters/hurricanes/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ความรุนแรงของพายุ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.