กลุ่มดาว บนท้องฟ้า (Constellations)

ความเชื่อและการศึกษาเรื่อง กลุ่มดาว

นับตั้งแต่มนุษย์ดำรงอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ปริศนาของวัตถุบนท้องฟ้าเป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญตลอดมา ผู้คนเฝ้ามองผืนฟ้าอันกว้างใหญ่ ทำการจดจำและบันทึกการปรากฏขึ้นของ กลุ่มดาว และใช้แสงสว่างเล็กๆ เหล่านี้เป็นเครื่องเตือนเวลา และนาฬิกาที่บ่งบอกการผันเปลี่ยนของฤดูกาล ใช้เป็นเข็มทิศนำทาง รวมถึงการนำโลกของดวงดาวมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ตำนาน และนิทานพื้นบ้านในหลากหลายวัฒนธรรม

มนุษย์ทำการรวบรวมดวงดาวที่ส่องสว่างเหล่านี้เข้ามาไว้ด้วยกันตามความคิด จินตนาการและความเชื่อ จนกลายเป็นต้นกำเนิดของ  “กลุ่มดาว” มากมายที่เรารู้จักในปัจจุบันนี้

กลุ่มดาว (Constellations) คือ กลุ่มของดาวฤกษ์ที่ถูกกำหนดขึ้น ผ่านการเชื่อมต่อกันเป็นรูปร่างต่างๆ ตามจินตนาการในอวกาศสามมิติ ซึ่งในอดีตมนุษย์เราเชื่อว่าดวงดาวแต่ละดวงถูกตรึงไว้บนผิวของทรงกลมขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ทรงกลมท้องฟ้า” (Celestial sphere) โดยอยู่ห่างจากโลก ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางในระยะทางที่เท่ากัน จึงได้รวบรวมดวงดาวที่อยู่ใกล้เคียงกันเป็นกลุ่มตามจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเทพเจ้าในตำนาน เรียกรวมกันเป็นกลุ่มดาว

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง การกำเนิดดาวฤกษ์

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ดวงดาวแต่ละดวงอยู่ห่างไกลกันมากในห้วงอวกาศ รวมถึงมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง เช่น สี ขนาด รูปร่างและความสว่างของดาวแต่ละดวง แต่จากการที่ดวงดาวเหล่านี้ อยู่ห่างไกลจากโลกมากนัก มนุษย์จึงเห็นดวงดาวหยุดนิ่งอยู่กับที่ ทั้งๆ ที่ดาวฤกษ์ทุกดวงในจักรวาล มีการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วและทิศทางที่แตกต่างกันออกไปอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้กลุ่มดาวที่เราสังเกตเห็นในอดีตเมื่อหลายหมื่นปีก่อน มีระยะห่างระหว่างดาวแต่ละดวงหรือรูปร่างแตกต่างออกไปจากกลุ่มดาวที่เราพบเห็นในปัจจุบัน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตหลายหมื่นปีข้างหน้าอีกด้วย

กลุ่มดาวนายพราน (Orion)

ปัจจุบัน มีกลุ่มดาวที่มนุษย์ศึกษามีทั้งหมด 88 กลุ่มบนท้องฟ้า ซึ่งประกอบไปด้วย 48 กลุ่ม จากการค้นพบและจดบันทึกโดยชาวกรีก โรมัน และอียิปต์โบราณ เมื่อหลายพันปีก่อน และอีก 40 กลุ่ม เป็นกลุ่มดาวสมัยใหม่ที่ถูกค้นพบโดยนักดาราศาสตร์และนักผจญภัยชาวยุโรป ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการสำรวจท้องฟ้าในซีกโลกใต้

ในช่วงศตวรรษที่สิบหกเป็นต้นมา กลุ่มดาวทั้ง 88 กลุ่ม ถูกบันทึกและทำการกำหนดขอบเขตที่แน่ชัดอย่างเป็นทางการ โดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union : IAU) ในปี 1929 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของทรงกลมท้องฟ้าของโลก โดยมี 36 กลุ่มดาวอยู่บน “ซีกฟ้าเหนือ” (Northern hemisphere) และอีก 52 กลุ่มอยู่ทาง “ซีกฟ้าใต้” (Southern hemisphere)

นอกจากนี้ กลุ่มดาวทั้งหลายมีชื่อเรียกตามภาษากรีกและโรมันโบราณเป็นหลัก ขณะที่ชื่อดวงดาวประจำในแต่ละท้องถิ่นนั้น ได้รับการบันทึกเป็นชื่อกลุ่มดาวภายในประเทศ เช่น กลุ่มดาวนายพราน (Orion) หรือที่คนไทยเรียกว่า “กลุ่มดาวเต่า” นั่นเอง

อ่านต่อหน้า 2 เรื่องกลุ่มดาวและการเคลื่อนที่

กลุ่มดาวและการเคลื่อนที่

ดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวทั้งหลาย ล้วนมีลักษณะคล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรา โดยปรากฏตัวขึ้นทางทิศตะวันออก ก่อนเคลื่อนที่ไปถึงจุดสูงสุดกลางท้องฟ้า ก่อนตกทางทิศตะวันตก เนื่องจากโลกหมุนรอบตัวเองเช่นเดียวกับการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งทำให้ในหนึ่งปี แต่ละเดือนจะมีกลุ่มดาวที่แตกต่างกันปรากฏขึ้นราว 30 วัน โดยที่กลุ่มดาวที่ปรากฏขึ้นในแต่ละเดือนนี้ ถูกเรียกว่า “จักรราศี” (Zodiac) ซึ่งมนุษย์นำกลุ่มดาวจักรราศีนี้ มาเป็นเครื่องบ่งชี้ตำแหน่งและเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ หรือที่เรียกว่า “สุริยะวิถี” (Ecliptic) ผ่านการเปรียบเทียบตำแหน่งกับกลุ่มดาวฤกษ์ที่อยู่เบื้องหลังและเส้นขอบฟ้า

ตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤษภาคม ดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ด้านหน้ากลุ่มดาว “วัว” (Taurus) ก่อนจะเคลื่อนที่ไปอยู่ด้านหน้ากลุ่มดาว “คนคู่” (Gemini) ในอีก 30 วันต่อมา มนุษย์นำกลุ่มดาวจักรราศีนี้ มาใช้ในปฏิทินสุริยคติ กำหนดวันเดือนปี และกิจวัตรในการทำการเกษตร รวมถึงใช้เป็นความรู้พื้นฐานทางโหราศาสตร์ที่เรารู้จักกันดีในนาม “ดาวประจำราศี” อีกด้วย

ดาวจักรราศีและสุริยะวิถี

การตั้งชื่อ

นอกจากชื่อของกลุ่มดาวแล้ว ดาวฤกษ์แต่ละดวงในกลุ่มดาวล้วนมีชื่อเรียกตามระบบการตั้งชื่อ คือ การใช้อักษรกรีกโบราณในการตั้งรหัสดวงดาวแต่ละดวงในกลุ่ม ซึ่งถูกคิดค้นโดยนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน โยฮันน์ เบเยอร์ (Johann Bayer) ก่อนที่จอห์น แฟลมสตีด (John Flamsteed) จะคิดค้นระบบตัวเลขเข้ามาใช้ โดยการอ้างอิงจากค่าไรต์แอสเซนชัน (Right ascension) ของดวงดาว ซึ่งต่อมาระบบตัวเลขนี้เป็นที่รู้จักในนาม “ระบบการตั้งชื่อดาวฤกษ์ของเฟลมสตีด” หรือ “ระบบตัวเลขเฟลมสตีด”

นอกจากกลุ่มดาวและดวงอาทิตย์แล้ว บรรดาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะล้วนมีชื่อตามความเชื่อและตำนานของชาวกรีกโบราณ โดยที่ดาวเคราะห์ในภาษากรีกโบราณ หมายถึง “ผู้พเนจร” เป็นตัวแทนของเทพเจ้าหลายองค์ เช่น ดาวพุธ (Mercury) เทพแห่งการสื่อสาร ดาวศุกร์ (Venus) เทพีแห่งความรัก หรือดาวอังคาร (Mars) เทพเจ้าแห่งสงคราม เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ระบบสุริยะ

กลุ่มดาวทั้ง 88 กลุ่ม ในทรงกลมท้องฟ้าของโลก

กลุ่มดาวในปัจจุบัน

ถึงแม้ท้องฟ้าของเราจะมีกลุ่มดาวถึง 88 กลุ่ม ประกอบไปด้วยดวงดาวหลายพันดวง แต่เราไม่สามารถมองเห็นกลุ่มดาวทั้งหมดจากจุดๆ เดียวบนพื้นโลก นอกจากความแตกต่างระหว่างซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้แล้ว ฤดูกาลยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการมองเห็นกลุ่มดาวเหล่านี้

ปัจจุบันยังพบว่ามีกลุ่มดาว “ไม่เป็นทางการ” อีกมากมายที่ยังไม่ได้รับการรับรอง แต่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เช่น ดาวกระบวยใหญ่ (Big Dipper) ซึ่งนักดาราศาสตร์เรียกกลุ่มดาวที่ไม่เป็นทางการนี้ว่า “ดาวเรียงเด่น” (Asterism) ซึ่งเป็นรูปแบบการเกาะกลุ่มขนาดเล็กของดาวฤกษ์ ผ่านการลากเส้นเชื่อมดาวชุดที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวแต่ละกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน

แผนที่ดวงดาวในช่วงปลายศตวรรษที่สิบหก

นอกจากนี้ ท้องฟ้าของเราไม่มีกลุ่มดาวกลุ่มใหม่เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกเลย นับตั้งแต่การค้นพบกลุ่มดาวชุดสุดท้ายเมื่อหลายร้อยปีก่อน ถึงแม้จะมีการค้นพบดวงดาวดวงใหม่เรื่อยมา แต่นักดาราศาสตร์นำดวงดาวเหล่านี้ เข้าไปรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวใกล้เคียง ทำให้จนถึงปัจจุบันนี้ โลกของเรามีกลุ่มดาวสากลทั้งหมด 88 กลุ่มเท่านั้น

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


อ้างอิง

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

The International Astronomical Union (IAU)

ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA)

Astronomy Department at Cornell University


สิ่งมีชีวิตนอกโลก : มีใครอยู่ข้างนอกนั่นไหม

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.