นักบินอวกาศหญิง :ส่งทีมหญิงล้วนเดินทางสู่อวกาศดีกว่า

ผู้หญิงมีคุณสมบัติเหมาะสมทั้งทางร่างกายและจิตใจสําหรับภารกิจอันยาวนานในอวกาศ แล้วทําไมถึงส่งแต่พวกผู้ชายไปล่ะ

หากคุณกำลังวางแผนภารกิจอวกาศระหว่างดวงดาว ซึ่งเป็นภารกิจที่ใช้เวลายาวนาน และอาจเกี่ยวข้องกับการสร้างนิคมประชากรในโลกอันไกลโพ้นแล้วล่ะก็ การส่งทีม นักบินอวกาศหญิง ล้วนน่าจะเป็นตัวเลือกอันชาญฉลาด

ก่อนที่คุณจะเลิกคิ้วสงสัยกับความเป็นไปได้นี้ โปรดอย่าลืมว่านาซาเลือกรับและให้แต่ลูกเรือเพศชายบินมาหลายทศวรรษแล้ว ความจริงในรอบ 58 ปีที่เราส่งมนุษย์ขึ้นสู่วงโคจร ราวร้อยละ 11 ของทั้งหมด หรือคิดเป็น 63 คน เป็นผู้หญิง

“ภารกิจหญิงล้วนดูจะเป็นสิ่งที่นาซาหลีกเลี่ยง เพราะอาจดูเหมือนเป็นการสร้างภาพมากไปหน่อย” มากาเร็ต ไวต์แคมป์ ภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ กล่าว แต่ในบางแง่ ผู้หญิงเหมาะกับการเดินทางไปอวกาศมากกว่าผู้ชาย

ลองพิจารณาปัจจัยสี่ประการเหล่านี้ ผู้หญิงโดยทั่วไปตัวเล็กกว่า ผู้หญิงได้รับผลกระทบทางกายภาพน้อยกว่าจากการเดินทางไปกับยานอวกาศ ผู้หญิงมีบุคลิกตามธรรมชาติที่เหมาะกับภารกิจระยะยาว แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การสร้างประชากรในอีกโลกจำเป็นต้องอาศัยการสืบพันธุ์ ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ถ้าขาดผู้หญิงที่มีชีวิตเลือดเนื้อ ขณะที่งานของพวกผู้ชายอาจตามมาทีหลังก็ได้

วันที่ 30 มกราคม 2018 เพกกี วิตสัน ผู้บัญชาการภารกิจ Expedition 16 สตรีคนแรกที่เป็นผู้บัญชาการสถานีอวกาศนานาชาติเข้าร่วมการเดินอวกาศ (spacewalk) เป็นเวลาเจ็ดนาที ขอบคุณภาพถ่ายจาก https://www.nasa.gov

ประการแรก ข้อได้เปรียบด้านนํ้าหนัก การส่งมนุษย์ที่ตัวเบากว่าไปอวกาศเป็นเรื่องฉลาด เพราะการส่งจรวดสู่อวกาศและบินไปที่ต่างๆ นั้น จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงซึ่งมีราคาค่างวด

“พวกเราบางคนเล็งเห็นนานแล้วว่า การมีลูกเรือหญิงล้วน หรืออย่างน้อยมีสักคนที่ตัวเล็กกว่า ย่อมเป็นข้อได้เปรียบในแง่นํ้าหนักของภารกิจทั้งหมด” เวย์น เฮล อดีตวิศวกรนาซาและผู้จัดการโครงการกระสวยอวกาศ กล่าว

การส่งผู้หญิงที่ตัวเล็กกว่าหกคนสู่อวกาศนานหลายเดือนหรือหลายปี อาจแพงน้อยกว่าการส่งผู้ชายกำยำลํ่าสันหกคนมาก และนํ้าหนักของร่างกายที่น้อยกว่าก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ความแตกต่างนอกจากนั้น ได้แก่ ปริมาณอาหาร ออกซิเจน และทรัพยากรอื่นที่จำเป็นที่ทำให้มนุษย์ตัวเล็กกว่าอยู่ได้ สำหรับการเดินทางที่ใช้เวลาสั้นกว่า ความแตกต่างดังกล่าวอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากจุดหมายคือดาวอังคารหรือดาวดวงอื่นๆ ความแตกต่างระหว่างการขนอาหารให้มากพอสำหรับผู้ชายร่างใหญ่กับผู้หญิงร่างเล็กอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ชายต้องการแคลอรีต่อวันมากกว่าผู้หญิงร้อยละ 15 ถึง 25

นี่เป็นความแตกต่างที่เคต กรีน สังเกตเห็นเมื่อปี 2013 ตอนเข้าร่วมภารกิจจำลองนานสี่เดือน ในสภาพแวดล้อมแบบดาวอังคาร งานของกรีนส่วนหนึ่งคือการติดตามเมแทบอลิซึมของเพื่อนนักบิน เธอรายงานว่า โดยเฉลี่ยผู้หญิงเผาผลาญแคลอรีคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ชาย ต่อให้ทำกิจกรรมอย่างเดียวกันก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น คนที่ตัวเล็กกว่ายังผลิตของเสียน้อยกว่า (ลองคิดถึงคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียอื่นๆ จากร่างกาย) ซึ่งหมายความว่าระบบต่างๆ ของยานอวกาศที่ถูกออกแบบให้รีไซเคิลและกำจัดของเสียเหล่านั้นจะทำงานน้อยกว่า

ผู้หญิง 6 คน ที่นาซาได้ทำการเสนอชื่อเพื่อเลือกให้เป็นนักบินอวกาศหญิงล้วนในเดือนมกราคม 1978 พวกเธอเข้าร่วมการฝึกและสิ้นสุดการฝึกในเดือนสิงหาคม 1979 ขอบคุณภาพถ่ายจาก ขอบคุณภาพถ่ายจาก https://www.nasa.gov

ถ้าเช่นนั้น ทำไมไม่ส่งลูกเรือมนุษย์ร่างเล็กไปล่ะ เกี่ยวอะไรกับเพศด้วย นั่นเป็นเพราะร่างกายของมนุษย์ตอบสนองต่อการเดินทางในอวกาศแตกต่างกัน แม้จะมีข้อมูลอยู่ไม่มากนัก เนื่องจากมีผู้หญิงไม่กี่คนที่ได้เดินทางไปอวกาศ แต่ก็ดูเหมือนว่าร่างกายของผู้หญิงน่าจะทนทานต่อผลกระทบจากการเดินทางในอวกาศได้มากกว่าเล็กน้อย

เมื่อเดินทางพ้นไปจากชั้นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปกป้องโลก การสัมผัสรังสีที่เป็นอันตรายจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งและอื่นๆเพิ่มขึ้น ยังมีสภาพประหลาดๆที่เกิดขึ้นในที่ที่มีแรงดึงดูดน้อยซึ่งทั้งเซลล์และร่างกายทั้งหมดไม่อาจรับรู้ทิศทางว่าขึ้นหรือลงกันแน่ การเปลี่ยนแปลงของของเหลว การตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ลดลง และยีนจำนวนหนึ่งเปลี่ยนแปลงลักษณะอย่างสำคัญ รวมทั้งสายตาที่แย่ลงชนิดที่ยากจะอธิบายได้

นาซาเก็บข้อมูลทางการแพทย์จากนักบินอวกาศมาตั้งแต่ยุคแรกๆของโครงการเมอคิวรี โดยศึกษาการตอบสนองทางสรีรวิทยาของการเดินทางสู่อวกาศ และในปี 2014 ได้เผยแพร่รายงานชิ้นใหญ่ที่รวบรวมข้อมูลนานหลายทศวรรษ “เราส่งผู้หญิงหลายคนไปปฏิบัติภารกิจเมื่อไม่นานมานี้เอง” ดังนั้นข้อค้นพบเกี่ยวกับความแตกต่างทางเพศจึงยังอยู่ในขั้นต้น เวอร์จิเนีย โวทริง แห่งศูนย์การแพทย์อวกาศ วิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ กล่าว ผู้ชายเหมือนจะได้รับผลกระทบจากอาการเมาอวกาศน้อยกว่า แต่เกิดปัญหาด้านการได้ยินเร็วกว่า ส่วนผู้หญิงมีกรณีติดเชื้อในท่อปัสสาวะสูงกว่า

ที่สำคัญกว่านั้น ผู้ชายมีแนวโน้มจะมีปัญหาด้านสายตาเสื่อม ซึ่งผู้หญิงประสบไม่บ่อยเท่าหรือรุนแรงเท่า

เป็นความคิดที่ไม่เลวเลย แต่มีข้อพิจารณาอีกหลายประการนอกจากเรื่องกายภาพ ลูกเรือหญิงทั้งหมดจะเข้ากันได้ดีแค่ไหน เมื่อต้องเบียดเสียดกันอยู่ในยานอวกาศนานเป็นเดือนๆ

จากงานวิจัยไม่กี่ชิ้นที่ศึกษาเพื่อระบุปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือล้มเหลวในปฏิบัติการระยะยาว นักวิทยาศาสตร์สังเกตทีมต่างๆที่ผ่านสถานการณ์ตึงเครียดเทียบเคียงในโลก เช่น การเดินเพื่อเอาชีวิตรอดในทะเลทราย การเดินทางในขั้วโลก และการผ่านฤดูหนาวในแอนตาร์กติก พวกเขาพบว่า ผู้ชายมีแนวโน้มจะอยู่ได้ดีในช่วงเวลาสั้น ในสถานการณ์ที่ยึดเป้าหมายเป็นหลัก ขณะที่ผู้หญิงทำได้ดีกว่าหากอยู่นานออกไปหรือในสภาพการณ์ของการอยู่อาศัยระยะยาว

“คนที่อยู่ในสถานการณ์ของการอยู่อาศัยจำ เป็นต้องไวต่อความรู้สึกระหว่างบุคคล คุณต้องสังเกต ต้องสื่อสารมากกว่า” เชอรีล บิชอป นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเทกซัสเมดิคัลบรานช์ กล่าวและเสริมว่า “ผู้หญิงมีพัฒนาการด้านทักษะความร่วมมือกันหลายด้าน” แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ชายไม่สามารถเข้ากันได้เมื่อปฏิบัติภารกิจระยะยาวในอวกาศ แค่หมายถึงว่าลักษณะที่สำคัญต่อความสำเร็จของปฏิบัติการมักเกี่ยวขัองกับผู้หญิง

สุดท้าย ยังมีประเด็นเฉพาะหน้าน้อยที่สุด แต่น่าขบคิดมากที่สุด นั่นคือการผลิตประชากรบนโลกอันไกลโพ้น คุณอาจส่งทีมผู้หญิงสามคนกับผู้ชายสามคน แล้วบอกให้ผลิตลูกกันให้สนุกเลยก็ได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อคิดถึงต้นทุนแล้ว ทำไมต้องส่งพวกผู้ชายไป ในเมื่อคุณสามารถส่งคุณูปการต่อคนรุ่นใหม่ของพวกเขาไปแทนได้ ด้วยการรวบรวมและแช่แข็งในหลอดทดลอง การส่งทีมหญิงล้วนไปกับธนาคารสเปิร์ม ทำให้โครงการอวกาศประหยัดเงินได้ และยังเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมของพ่อแม่ด้วย

มาทบทวนกันอีกที ในแง่ของความคุ้มค่าเชิงนํ้าหนัก ความทนทานต่อผลกระทบทางกายภาพ ทักษะด้านจิตวิทยาสังคม และความสามารถในการให้กำเนิดทารกอวกาศ ผู้หญิงดูจะเหมาะกับการเดินทางระยะยาวในอวกาศ นั่นจะหมายถึงว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะส่งผู้ชายไปทำภารกิจเหล่านี้ละหรือ

ก็ไม่เชิง ข้อมูลเกี่ยวกับพลวัตกลุ่มเสนอว่า ในแง่ความพยายามของทีม ทีมผสมประสบความสำเร็จมากที่สุดโดยรวมเราจึงไม่อาจพูดได้เต็มปากว่า ลูกเรือหญิงล้วนจะทำได้ดีที่สุด

เรายังไม่เคยมีนักบินอวกาศหญิงล้วนในการเดินทางเลยสักครั้ง มีแต่ชายล้วนมาหลายทศวรรษแล้ว เมื่อไรจึงจะมีผู้หญิงในยานอวกาศมากพอกันเล่า ก็เมื่อทุกคนที่มีคุณสมบัติดีพอได้รับโอกาสเท่ากันนั่นแหละ

นักบินอวกาศสตรีรุ่นแรกๆ

16-19 มิถุนายน 1963 วาเลนตินา เตเรชโควา
มนุษย์อวกาศโซเวียตผู้นี้เป็นผู้หญิงคนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ เธอใช้เวลาราว 70 ชั่วโมงในยานอวกาศวอสตอค 6 โคจรรอบโลก 48 รอบ

18-24 มิถุนายน 1983 แซลลี ไรด์

เป็นสตรีคนแรกของสหรัฐฯที่ขึ้นสู่อวกาศกับนาซาและเป็นคนที่สามของโลก เธอร่วมอยู่ในภารกิจของกระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์

25 กรกฎาคม 1984 สเวตลานา ซาวิตสกายา
มนุษย์อวกาศโซเวียตผู้นี้เป็นสตรีคนแรกที่เดินในอวกาศ โดยปฏิบัติภารกิจนอกสถานีอวกาศซัลยุต 7 นานราว 3.5 ชั่วโมง

10 ตุลาคม 2008 เพกกี วิตสัน

นักบินอวกาศนาซาผู้นี้เป็นสตรีคนแรกที่บัญชาการสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2008 เธอรับหน้าที่นี้อีกครั้งในปี 2017

เรื่อง นาเดีย เดรก

เนื้อหาจาก นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562


อ่านเพิ่มเติม ดวงจันทร์ : ย้อนรอยภารกิจ 50 ปี มนุษย์คนแรกบนดวงจันทร์ 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.