กลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major)

กลุ่มดาวหมีใหญ่ เรื่องเล่า ตำนาน และความจริงเกี่ยวกับกลุ่มดาวที่พบเห็นได้ง่ายที่สุด

กลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามของ “กลุ่มดาวจระเข้” เป็นกลุ่มของดาวฤกษ์ที่พบเห็นได้ง่ายที่สุดในบรรดากลุ่มดาวสากล (Constellations) ทั้ง 88 กลุ่มของโลก เนื่องจากมีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มดาวทางฝั่งซีกฟ้าเหนือและใหญ่เป็นลำดับที่ 3 ของกลุ่มดาวทั้งหมดในน่านฟ้าโลก

กลุ่มดาวหมีใหญ่มีขนาดเป็นรองเพียงกลุ่มดาวงูไฮดรา (Hydra) และกลุ่มดาวหญิงพรหมจารี (Virgo) หรือกลุ่มดาวราศีกันย์ในฝั่งซีกฟ้าใต้ โดยครอบคลุมพื้นที่ราว 1,280 ตารางองศา หรือคิดเป็นร้อยละ 3.10 ของทรงกลมท้องฟ้า (Celestial sphere) ทั้งหมด

แผนที่กลุ่มดาวหมีใหญ่

นอกจากนี้ กลุ่มดาวหมีใหญ่ยังเป็นกลุ่มดาวที่สามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งปี และจะปรากฏขึ้นชัดเจนที่สุดบนท้องฟ้าช่วงค่ำในฤดูใบไม้ผลิของทางฝั่งซีกโลกเหนือ ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่ทางฝั่งซีกโลกใต้มีโอกาสพบเห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ได้เช่นเดียวกัน แต่กลุ่มดาวที่ปรากฏอาจไม่ชัดเจน หรือโดดเด่นเท่ากับการมองจากฝั่งซีกโลกเหนือ

อ่านเพิ่มเติม : การกำเนิดดาวสฤกษ์ในระบบสุริยะ

 องค์ประกอบของกลุ่มดาวหมีใหญ่

กลุ่มดาวหมีใหญ่เป็นกลุ่มดาวที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างมาก เนื่องจากดาวฤกษ์ที่สว่างจ้า 7 ดวง เรียงตัวกันเป็นรูปกระบวย หรือที่เรียกกันว่า ดาวกระบวยใหญ่ (Big Dipper) เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของกลุ่มดาว โดยที่ดาวฤกษ์ทั้ง 7 ดวงนี้ ไม่ได้เป็น “กลุ่มดาว” ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union : IAU) แต่ถูกเรียกเป็น “ดาวเรียงเด่น” (Asterism) ซึ่งคือการจับกลุ่มกันของดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดและอยู่ใกล้เคียงกันในทรงกลมท้องฟ้าตามจินตนาการของมนุษย์ โดยดาวกระบวยใหญ่นี้ เป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่ง (ส่วนหาง) ของกลุ่มดาวหมีใหญ่เท่านั้น

ดาวกระบวยใหญ่ (Big Dipper) หรือดาวฤกษ์ทั้ง 7 ในกลุ่มดาวหมีใหญ่

7 ดวงดาวหลักในกลุ่มดาวหมีใหญ่ ประกอบไปด้วย ดาวอัลอิออธ (Alioth) เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวหมีใหญ่ ดาวดูเบ (Dubhe) ดาวอัลไคด์ (Alkaid) ดาวมิซาร์และดาวอัลคอร์ (Mizar and Alcor) ดาวเมอแรก (Merak) ดาวเฟคดา (Phecda) และดาวเมเกรซ (Megrez)

นอกจากดาวฤกษ์ทั้ง 7 ดวงนี้ กลุ่มดาวหมีใหญ่ยังประกอบไปด้วยดวงดาวอีกหลายสิบดวง รวมถึงวัตถุในท้องฟ้าอีกมากมาย ทั้งเนบิวลา กระจุกดาวและกาแล็กซีต่างๆ เช่น กาแล็กซี M81 กาแล็กซี M82 และกาแล็กซี M101 เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม: การศึกษากลุ่มดาวบนท้องฟ้าตั้งแต่ยุคโบราณ

กลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) และดาวเหนือ (Polaris)

กลุ่มดาวหมีใหญ่ในหลากหลายอารยธรรม

เนื่องจากกลุ่มดาวแต่ละกลุ่ม เกิดจากจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของผู้คน ทำให้ในแต่ละถิ่นฐานและในแต่ละยุคสมัย กลุ่มดาวแต่ละกลุ่มจึงมีชื่อเรียกขานที่แตกต่างกันออกไป ตามวัฒนธรรมและความเชื่อของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ ขณะที่กลุ่มดาวหมีใหญ่เป็นกลุ่มของดาวฤกษ์ที่เก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก อีกทั้ง ยังเป็น 1 ใน 48 กลุ่มดาวดั้งเดิมที่ถูกจารึกอยู่ในบันทึกของปโตเลมี (Ptolemy) เมื่อหลายพันปีก่อน จึงทำให้กลุ่มดาวหมีใหญ่มีชื่อเรียกเฉพาะถิ่นมากมาย

ตารางชื่อของกลุ่มดาวหมีใหญ่ในประเทศต่างๆ ในอดีตและปัจจุบัน

ชนชาติอารยธรรมในอดีตและปัจจุบัน ชื่อและรูปร่าง
ชาวกรีกโบราณและอินเดียนแดง หมีใหญ่
อียิปต์ ขาวัว
สเปน แตรล่าสัตว์
ญี่ปุ่น ราชรถ
อังกฤษ และอินเดีย คันไถ
จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา กระบวย
ชาวเอสกิโม เรือแคนู
ไทย จระเข้

นอกจากนี้ กลุ่มดาวหมีใหญ่ยังถูกจารึกอยู่ในคัมภีร์ไบเบิ้ล (Bible) รวมถึงถูกบันทึกไว้ในบทประพันธ์ของทั้งโฮเมอร์ (Homer) และเชคสเปียร์ (Shakespeare) และภาพวาดของศิลปินชื่อดังอย่าง วินเซ็นต์ แวนโกะ (Vincent van Gogh) อีกด้วย

กลุ่มดาวหมีใหญ่ในภาพ “ราตรีประดับดาวเหนือแม่น้ำโรน” (Starry Night Over the Rhône)
ของวินเซ็นต์ แวนโกะ (Vincent van Gogh) ในปี ค.ศ.1888

ตำนานดาวหมีใหญ่

เนื่องจากกลุ่มดาวหมีใหญ่เป็นกลุ่มดาวที่เก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่ง ทำให้มีเรื่องราวและตำนานมากมายเล่าขานเกี่ยวกับดวงดาวกลุ่มนี้ โดยในตำนานกรีกโบราณ ดาวหมีใหญ่เป็นตัวแทนขององค์หญิงคัลลิสโต (Callisto) ซึ่งเป็นหญิงงามนางหนึ่งในเทพนิยาย ถูกเทพีเฮรา (Hera) ภรรยาของเทพเจ้าซุส (Zeus) สาปแช่งให้กลายเป็นหมี หลังการลักลอบได้เสียกันจนกระทั่งมีบุตรชายด้วยกัน 1 คน คือ อาร์คาส (Arcas)

และในเวลาต่อมา ขณะออกล่าสัตว์อาร์คาสเกือบยิงสังหารมารดาของตนเอง ซึ่งอยู่ในร่างหมีโดยไม่ได้ตั้งใจ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น เทพเจ้าซุสจึงส่งภรรยาและบุตรชายขึ้นสู่สวรรค์ ทั้งคู่กลายเป็นดวงดาว โดยที่องค์หญิงคัลลิสโตกลายเป็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) ขณะที่อาร์คาสกลายเป็นกลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor) อยู่เคียงข้างมารดาบนท้องฟ้า

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


 

ข้อมูลอ้างอิง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

The International Astronomical Union (IAU)

ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA)

https://www.universetoday.com/24120/ursa-major/

https://stardate.org/astro-guide/ursa-major-great-bear-0

https://www.star-registration.com/constellation/ursamajor

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.