กลุ่มดาวค้างคาว หรือกลุ่มดาวแคสซิโอเปีย (Cassiopeia)

กลุ่มดาวค้างคาว มีประวัติการบันทึกมาอย่างยาวนานพร้อมๆ กับดาวหมีใหญ่

กลุ่มดาวแคสซิโอเปีย (Cassiopeia) หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม กลุ่มดาวค้างคาว เป็น 1 ใน 88 กลุ่มดาวสากลของโลก เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ที่ง่ายต่อการสังเกตและจดจำ จากการมีดาวฤกษ์สุกสว่างห้าดวง ประกอบกันเป็นรูปร่างคล้ายตัวอักษร “W” บนซีกฟ้าเหนือตรงข้ามกับกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ราว 598 ตารางองศาหรือมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 25 ของกลุ่มดาวทั้งหมด

กลุ่มดาวค้างคาวเป็นกลุ่มดาวที่สามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งปีในท้องฟ้าฝั่งซีกโลกเหนือ แต่จะมองเห็นได้ชัดเจนที่สุดในเดือนพฤศจิกายนหรือช่วงฤดูหนาว และจะปรากฏขึ้นให้เห็นบนท้องฟ้าของฝั่งซีกโลกใต้ในบางพื้นที่ของช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม : การศึกษาเรื่องกลุ่มดาวบนท้องฟ้า

นอกจากนี้ กลุ่มดาวแคสซิโอเปียยังเป็น 1 ใน 48 กลุ่มดาวดั้งเดิมที่ถูกจารึกอยู่ในบันทึกของปโตเลมี (Ptolemy) ในช่วงศตวรรษที่สอง เช่นเดียวกับกลุ่มดาวหมีใหญ่อีกด้วย โดยถูกตั้งชื่อตามราชินีแคสซิโอเปีย (Cassiopeia) ในตำนานเทพนิยายกรีกปรัมปรา ก่อนที่กลุ่มดาวกลุ่มนี้จะถูกรับรองและตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ราชินีแคสซิโอเปีย” (Cassiopeia the Queen) จากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union: IAU) ในปี 1930 ขณะที่คนไทยมองเห็นกลุ่มดาวฤกษ์ 5 ดวงนี้เป็น “ค้างคาว”

แผนที่กลุ่มดาวแคสซิโอเปีย (Cassiopeia)

องค์ประกอบของกลุ่มดาวแคสซิโอเปีย

กลุ่มดาวแคสซิโอเปียหรือกลุ่มดาวค้างคาวเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี จากการมีดาวฤกษ์สุกสว่าง 5 ดวง เรียงตัวกันคล้ายตัวอักษร “W” หรือ “M” โคจรอยู่รอบๆ ดาวเหนือ (Polaris) ในซีกฟ้าเหนือ

โดย 5 ดวงดาวหลักในกลุ่มดาวค้างคาว ประกอบไปด้วย

  1. แกมมา (Gamma) เป็นดาวฤกษ์สีน้ำเงินที่สว่างที่สุด อยู่ตรงใจกลางของกลุ่มดาวค้างคาว เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างจากโลกราว 600 ปีแสง มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราถึง 15 เท่า และสว่างกว่าถึง 40,000 เท่า
  2. เชดดาร์ (Schedar) เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ในกลุ่มดาวค้างคาว อยู่ห่างจากโลกราว 230 ปีแสง มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราประมาณ 4 เท่า โดยที่ชื่อของดาวดวงนี้ในภาษาอาหรับ หมายถึง “หน้าอก” จากการเป็นที่ตั้งของหัวใจหรือดวงใจขององค์ราชินีแคสซิโอเปีย
  3. ชาฟ (Caph) เป็นดาวแปรแสง (Variable star) จากคุณสมบัติทางกายภาพและองค์ประกอบภายในของดวงดาวที่ส่งผลให้ดาวชาฟมีความสว่างไม่คงที่ ซึ่งดาวชาฟอยู่ห่างจากโลกประมาณ 55 ปีแสง มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราราว 4 เท่า
  4. รุคบาห์ (Ruchbah) เป็นดาวยักษ์ขาว (Giant star) ในระบบดาวคู่ (Binary system) อยู่ห่างจากโลกราว 100 ปีแสง
  5. เซกิน (Segin) เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างน้อยที่สุด อยู่ห่างจากโลกราว 400 ปีแสง มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 9 เท่า และสว่างมากกว่าถึง 2,500 เท่า
ดาวฤกษ์ทั้ง 5 ในกลุ่มดาวแคสซิโอเปีย

นอกจากนี้ ในกลุ่มดาวแคสซิโอเปียยังประกอบไปด้วยวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deeps-sky objects) ที่น่าทึ่งมากมาย เช่น กระจุกดาวดอกกุหลาบขาว (White Rose Cluster) และ “แพ็กแมน” เนบิวลา (Pacman Nebula) หรือกลุ่มก๊าซและฝุ่นผงในอวกาศที่มีรูปร่างคล้ายตัวละครในเกมชื่อดัง รวมถึงเศษซากของดาวฤกษ์หลังการระเบิดครั้งใหญ่ที่เรียกว่า “มหาวนดารา” หรือ “ซูเปอร์โนวา” (Supernova) ที่นักดาราศาสตร์รู้จักกันในชื่อของ “แคสซิโอเปีย เอ” (Cassiopeia A) เมื่อราว 350 ปีก่อน (ค.ศ.1660) อีกด้วย

ตำนานดาวค้างคาว

ในตำนานเทพนิยายกรีกโบราณ กลุ่มดาวค้างคาวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “แคสซิโอเปีย” (Cassiopeia) เป็นตัวแทนของราชินีผู้งดงามของราชาเซเฟอุส (Cepheus) แห่งเอธิโอเปีย (Ethiopia) ซึ่งหลงใหลและเย่อหยิ่งในความงดงามของตนเองเป็นอย่างมาก

ครั้งหนึ่งราชินีแคสซิโอเปียได้ทำการโอ้อวดความงามของตนเองและบุตรสาวแอนโดรเมดา (Andromeda) ต่อนางพรายน้ำทั้งหลาย (Nereids) ซึ่งการกระทำดังกล่าว สร้างความโกรธเคืองจนส่งผลให้โพไซดอน (Poseidon) เทพเจ้าแห่งท้องทะเลต้องส่งซีตัส (Cetus) อสูรวาฬไปทำลายอาณาจักรเอธิโอเปีย และเพื่อบรรเทาความโกรธแค้นที่เกิดขึ้น ราชาเซเฟอุสและราชินีแคสซิโอเปียตัดใจทำการเสียสละบุตรสาว โดยการล่ามองค์หญิงแอนโดรเมดาไว้กับก้อนหินเพื่อเป็นเครื่องสังเวยให้กับซีตัส ซึ่งในท้ายที่สุดองค์หญิงแอนโดรเมดารอดพ้นจากอันตราย โดยได้รับการช่วยเหลือในวินาทีสุดท้ายจากเพอร์ซีอุส (Perseus) วีรบุรุษชาวกรีกผู้ซึ่งผ่านไปมาพบเหตุการณ์เข้า

ภาพการช่วยเหลือองค์หญิงแอนโดรเมดาและเพอร์ซีอุส
La Délivrance d’Andromède (1679) by Pierre Mignard

อย่างไรก็ตาม ราชินีแคสซิโอเปียถูกเทพเจ้าโพไซดอนลงโทษ โดยการจับมัดผูกติดไว้กับเก้าอี้หรือบัลลังก์ของเธอบนสรวงสวรรค์ชั่วนิรันดร์ กลายเป็นกลุ่มดาวที่ใช้เวลาครึ่งหนึ่งกลับหัวกลับหางวนเวียนไปมาอยู่รอบขั้วเหนือของท้องฟ้า (Celestial pole) ซึ่งนอกจากราชินีแคสซิโอเปียแล้ว ราชาเซเฟอุส องค์หญิงแอนโดรเมดา และเหล่าสมาชิกในราชวงศ์ล้วนถูกส่งขึ้นสู่สวรรค์ กลายเป็นกลุ่มดาวเคียงข้างกันบนท้องฟ้าอีกด้วย

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA)

https://www.thoughtco.com/cassiopeia-constellation-4165137

https://www.solarsystemquick.com/universe/cassiopeia-constellation.htm


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor)

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.