กลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor)

กลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor)

กลุ่มดาวหมีเล็ก กลุ่มดาวที่ปรากฏเฉพาะซีกโลกเหนือ

กลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor) เป็น 1 ใน 88 กลุ่มดาวสากล (Constellations) ของโลก เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ ซึ่งอยู่เคียงข้างกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) บนซีกฟ้าเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ราว 256 ตารางองศา หรือมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 56 ของกลุ่มดาวทั้งหมด กลุ่มดาวหมีเล็กเป็นกลุ่มดาวที่สามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งปีในท้องฟ้าฝั่งซีกโลกเหนือ แต่จะมองเห็นได้ชัดเจนที่สุดในเดือนมิถุนายนหรือช่วงรอยต่อของฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน แต่จะไม่ปรากฏขึ้นให้เห็นบนท้องฟ้าของฝั่งซีกโลกใต้

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง : กลุ่มดาว

นอกจากนี้ กลุ่มดาวหมีเล็กยังเป็น 1 ใน 48 กลุ่มดาวดั้งเดิมที่ถูกจารึกอยู่ในบันทึกของปโตเลมี (Ptolemy) เมื่อหลายพันปีก่อนเช่นเดียวกับกลุ่มดาวหมีใหญ่อีกด้วย ส่งผลให้กลุ่มดาวหมีเล็กเป็นกลุ่มดาวเก่าแก่ที่มีชื่อเรียกเฉพาะถิ่นมากมาย โดยชาวกรีกโบราณเรียกกลุ่มดาวนี้ว่า “หมีตัวเล็ก” (Little bear) ขณะที่ชาวจีนและชาวบาบิโลเนียเรียกกลุ่มดาวนี้ว่า “ราชรถแห่งสวรรค์” (Wagon of heaven) หรือชาวอังกฤษที่เรียกกลุ่มดาวหมีเล็กว่ากลุ่มดาว “คันไถ” (Plough) เป็นต้น

กลุ่มดาวหมีเล็ก, แผนที่ดาว, กลุ่มดาว
แผนที่กลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor)

องค์ประกอบของกลุ่มดาวหมีเล็ก

กลุ่มดาวหมีเล็กเป็นที่รู้จักกันดี จากการมีรูปร่างคล้ายกลุ่มดาวหมีใหญ่ในขนาดย่อส่วน ประกอบไปด้วยดาวฤกษ์ 7 ดวง เรียงตัวกันเป็นรูป “กระบวย” หรือที่เรียกกันว่า “ดาวกระบวยเล็ก” (Little Dipper) เป็น “ดาวเรียงเด่น” (Asterism) เช่นเดียวกับ “ดาวกระบวยใหญ่” ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ แต่กลุ่มดาวหมีเล็กมีดาวฤกษ์ที่สว่างจ้าเพียง 3 ดวง และดวงที่สำคัญที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุด คือ  “ดาวเหนือ” (Polaris) ซึ่งเป็นดวงดาวที่ช่วยบอกทิศและนำทางให้ผู้คนมากมายตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

กลุ่มดาวหมีเล็ก, กลุ่มดาว, ดูดาว
ดาวกระบวยเล็ก (Little Dipper) หรือดาวฤกษ์ทั้ง 7 ในกลุ่มดาวหมีเล็ก

3 ดวงดาวหลักในกลุ่มดาวหมีเล็ก ประกอบไปด้วย

ดาวเหนือ (Polaris) เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวหมีเล็ก อยู่ห่างจากโลกราว 434 ปีแสง เป็นดาวฤกษ์ใน “ระบบดาวพหุ” หรือ “ระบบดาวหลายดวง” (Multiple star system) ซึ่งประกอบไปด้วยดาวฤกษ์ตั้งแต่ 3 ดวงขึ้นไป

ดาวเหนือเป็นดาวนำทางที่คนทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี จากการมีตำแหน่งอยู่ใกล้ขั้วฟ้าเหนือ หรืออยู่เหนือแกนหมุนของโลก ทำให้ดาวเหนือเป็นดาวดวงเดียวที่ดูเหมือนหยุดนิ่งอยู่กับที่ โดยที่มีดาวฤกษ์ดวงอื่นหมุนวนรอบดาวเหนือ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตำแหน่งของดาวเหนือนั้น มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจากการส่ายของแกนโลก (Precession)

และการส่ายนี้ทำให้ตำแหน่งของขั้วฟ้าเหนือเกิดการเคลื่อนที่เป็นวงกลม โดยใช้เวลาราว 26,000 ปีต่อหนึ่งรอบท้องฟ้าในสมัยกรีกโบราณนั้น ไม่มีดาวเหนือหรือดาวฤกษ์ที่สว่างจ้าดวงใดอยู่ใกล้กับตำแหน่งขั้วฟ้าเหนือเลยแม้แต่น้อย แตกต่างจากท้องฟ้าในปัจจุบันที่มีดาวเหนือเคลื่อนที่เข้ามาอยู่ใกล้ตำแหน่งแกนหมุนของโลก ส่งผลให้เกิด “ดาวเหนือ” ที่สามารถช่วยนำทางและบ่งบอกทิศเหนือของโลกให้เราอยู่บนซีกฟ้าเหนือเช่นทุกวันนี้

ขณะที่ทางฝั่งซีกโลกใต้ ดาวเหนือจะไม่ปรากฏขึ้นพ้นขอบฟ้า (Horizon) ทำให้ไม่สามารถใช้ดาวเหนือในการบอกทิศทางได้ นอกจากนี้ ในฝั่งซีกฟ้าใต้ ยังไม่มีดาวฤกษ์ที่สุกสว่างดวงใดอยู่ใกล้ตำแหน่งขั้วฟ้าใต้ เหมือนดาวเหนือทางฝั่งซีกโลกเหนือ ส่งผลให้โลกของเรายังไม่มีดวงดาวที่เรียกว่า “ดาวใต้” หรือดาวฤกษ์ที่สามารถใช้บอกทิศใต้ได้ในขณะนี้

ดาวเหนือ, ดูดาว, ดวงดาว
ดาวเหนือ (Polaris) ในระบบดาวหลายดวง (Multiple star system)

ดาวโคเชบ (Kochab) เป็นดาวฤกษ์ที่มีความสว่างเป็นลำดับที่ 2 รองจากดาวเหนือในกลุ่มดาวหมีเล็ก อยู่ห่างจากโลกประมาณ 130 ปีแสง มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราราว 2 เท่า 

ดาวเพอร์คาด (Pherkad) เป็นดาวยักษ์ใหญ่ (Supergiant star) ที่อยู่ห่างจากโลกราว 487 ปีแสง เป็นดาวฤกษ์ที่มีความสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราถึง 1,000 เท่า และจากการที่ดาวโคเชบและเพอร์คาดโคจรอยู่รอบดาวเหนือตลอดมา ส่งผลให้ดาวฤกษ์ทั้ง 2 ดวงนี้ ถูกเรียกว่า “ดาวองค์ลักษณ์” (Guardians of the Pole star)

กลุ่มดาวหมีเล็ก, ดาวเหนือ, กลุ่มดาว, ดวงดาว, ดูดาว
กลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Major) และดาวเหนือ (Polaris)

นอกจากดาวฤกษ์เหล่านี้ กลุ่มดาวหมีเล็กยังประกอบไปวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deeps-sky objects) มากมาย โดยเฉพาะกาแล็กซีประเภทต่างๆ เช่น กาแล็กซีกังหันบาร์ (Barred Spiral Galaxy) หรือที่เรียกว่ากาแล็กซี “NGC 6217” กาแล็กซีแคระคล้ายทรงกลม (Dwarf Spheroidal Galaxy) และกาแล็กซีทรงรีขนาดใหญ่ (Supergiant Elliptical Galaxy) รวมถึงดาว “คาลเวอรา” (Calvera) หรือดาวนิวตรอน (Neutron Star) ที่อยู่ห่างจากโลกราว 250 ปีแสง ซึ่งถือเป็นดาวนิวตรอนที่อยู่ใกล้กับโลกของเรามากที่สุดอีกด้วย

กาแลกซี, เนบูลา, จักรวาล
กาแล็กซีกังหันบาร์ (Barred Spiral Galaxy) หรือกาแล็กซี NGC 6217

ตำนานดาวหมีเล็ก

ในตำนานกรีกโบราณ ดาวหมีเล็กเป็นตัวแทนของอาร์คาส (Arcas) บุตรชายของเทพเจ้าซุส (Zeus) และองค์หญิงคัลลิสโต (Callisto) ซึ่งถูกเทพเจ้าซุสส่งขึ้นสู่สวรรค์พร้อมกับมารดา กลายเป็นดวงดาวเช่นเดียวกับองค์หญิงคัลลิสโตที่กลายเป็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) อยู่เคียงข้างกันบนท้องฟ้า

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA)
http://www.seasky.org/constellations/constellation-ursa-minor.html
https://www.constellation-guide.com/constellation-list/ursa-minor-constellation/
http://www.astronomytrek.com/star-constellation-facts-ursa-minor/
https://in-the-sky.org/data/constellation.php?id=86


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กลุ่มดาวหมีใหญ่ 

Recommend