สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (GMOs)

รู้จัก สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) รวมถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอน

สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms: GMOs) คือ สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปรพันธุกรรม จากการใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) หรือ เทคนิคการตัดต่อยีนที่สามารถคัดเลือกสารพันธุกรรมหรือยีน (Genes) ที่จำเพาะเจาะจงจากสิ่งมีชีวิตต่างชนิด ก่อนนำมาตัดแต่งเข้ากับสิ่งมีชีวิตเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์และก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติหรือลักษณะพิเศษตามความต้องการของมนุษย์ อย่างเช่น การนำยีนที่แสดงคุณสมบัติทนทานต่อความหนาวเย็นจากปลาขั้วโลก มาผสมผสานและตัดแต่งเข้ากับยีนของมะเขือเทศ เพื่อสร้างมะเขือเทศชนิดใหม่ที่สามารถเพาะปลูกได้ในพื้นที่ซึ่งมีอากาศหนาวเย็น เป็นต้น

การใช้ประโยชน์จาก สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ในปัจจุบัน

เทคโนโลยีการดัดแปรพันธุกรรมได้รับการพัฒนาขึ้น โดยมีจุดประสงค์หลักในการยกระดับคุณภาพอาหาร ยา และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อรองรับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ วัน

โดยสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมถูกนำมาประโยชน์มากที่สุดในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะพืชผลหลักในอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง ข้าวโพด มันฝรั่ง มะเขือเทศ และมะละกอ ซึ่งผ่านการดัดแปรพันธุกรรม เพื่อให้มีคุณสมบัติทนทานต่อสภาพแวดล้อม ทนต่อศัตรูพืช ทนทานต่อยาฆ่าแมลง หรือแม้แต่มีความสามารถในการเจริญเติบโตรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ การปรับปรุงสายพันธุ์ในพืชบางชนิดยังสามารถเพิ่มคุณสมบัติทางโภชนาการอาหาร หรือเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ขนาด และสีสันของพืชให้แตกต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติได้อีกด้วย

ในอุตสาหกรรมยายังมีการใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมในการผลิตวัคซีนหรือยาหลากหลายชนิด อย่างเช่น อินซูลิน (Insulin) ขณะที่สัตว์ส่วนใหญ่ที่ถูกดัดแปรพันธุกรรม ถูกนำมาใช้ในงานวิจัย เพื่อเป็นต้นแบบในการศึกษาการทำงานของยีนจำเพาะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและโรคภัยต่าง ๆ รวมไปถึงการประยุกต์ใช้งานในด้านอื่น ๆ เช่น การนำแบคทีเรียดัดแปรพันธุกรรมมาใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือนำมาทำความสะอาดคราบน้ำมันรั่วไหลและขยะสารพิษอื่น ๆ เป็นต้น

 ความเสี่ยงและความไม่แน่นอน

ตั้งแต่เกิดเทคโนโลยีดัดแปรพันธุกรรมขึ้นมาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดสามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า อาหารที่มีส่วนประกอบของจีเอ็มโอ ปลอดภัยต่อการบริโภคในระยะยาว เพราะการทดลองในสัตว์เป็นเพียงการทดลองระยะสั้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงชีวิตของมนุษย์ที่ยาวนานถึง 70 ปีหรือมากกว่านั้น

ในปัจจุบัน มีสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมมากมายหลายชนิดได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและการบริโภคของมนุษย์ แต่อันตรายต่อสุขภาพที่พบว่าอาจเกิดขึ้นได้จากการบริโภคอาหารจีเอ็มโอ คือ โรคภูมิแพ้ เนื่องจากการดัดแปรยีนของสิ่งมีชีวิต อาจก่อให้เกิดสารพิษชนิดใหม่ที่ร่างกายมนุษย์ไม่รู้จัก ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้

นอกจากนี้ การดัดแปรพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตยังเพิ่มความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของโลก หากสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปรพันธุกรรมได้รับการปล่อยออกสู่ธรรมชาติ อาจทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ หรือการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตดั้งเดิมในระบบนิเวศ  ความสมดุลของห่วงโซ่อาหารอาจถูกทำลายลง อีกทั้ง การดัดแปรพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ถือเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อให้สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีความแตกต่างและหลากหลาย และถึงแม้มนุษย์เราจะสามารถค้นพบข้อผิดพลาดหรือภัยอันตรายจากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้ในภายหลัง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น อาจอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ไปแล้ว

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร – https://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=13925&Key=news_research

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค – https://www.consumerthai.org/label/548-ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับจีเอ็มโอ.html

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี – http://digital.lib.kmutt.ac.th/magazine/issue4/articles/article2.html

National Geographic Society – https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/genetically-modified-organisms/

Nature Education – https://www.nature.com/scitable/topicpage/genetically-modified-organisms-gmos-transgenic-crops-and-732/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: เทคโนโลยีทางการแพทย์ : พรีซิชันเมดิซีน เพราะทุกร่างต่างพิเศษ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.