พอริเฟอรา : ฟองน้ำ สัตว์ที่มีรูพรุน

พอริเฟอรา (Porifera) คือ 1 ใน 9 หมวด หรือ “ไฟลัม” (Phylum) ของอาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia) ในการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตตามอนุกรมวิธานวิทยา (Taxonomy)

โดยสัตว์ในไฟลัม พอริเฟอรา คือสัตว์จำพวกฟองน้ำ (Sponges) ทั้งหลาย ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดและยังคงอาศัยอยู่บนโลกจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ฟองน้ำอาจถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคพรีแคมเบรียน (Precambrian) เมื่อราว 600 ล้านปีก่อน ฟองน้ำจึงเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ (Multicellular Organism) ที่มีวิวัฒนาการน้อยที่สุดชนิดหนึ่งบนโลก ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบฟองน้ำอยู่ราว 15,000 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก มีเพียง 219 ชนิดเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดต่าง ๆ

ลักษณะสำคัญของสัตว์ในไฟลัมพอริเฟอรา

ไม่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริงและไม่มีระบบต่างๆ ภายในร่างกาย : ฟองน้ำไม่มีอวัยวะ ไม่มีระบบหมุนเวียน ระบบหายใจ ระบบขับถ่ายหรือระบบประสาท ฟองน้ำเพียงอาศัยการไหลเวียนของน้ำผ่านช่องว่างกลางลำตัว (Spongocoel) เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนต่าง ๆ เช่น การกรองอาหารจากน้ำ (Suspension feeder) ที่ไหลเวียนอยู่รอบตัวหรือการดูดซึมออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำผ่านผนังลำตัว เป็นต้น

มีรูปร่างไม่สมมาตร (Asymmetry) : จากตำแหน่งของรูขนาดเล็กทั่วทั้งลำตัวที่เรียกว่า “ออสเทีย” (Ostia) และ “ออสคูลัม” (Osculum) ซึ่งเป็นรูขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นทางผ่านและทางเข้าออกของน้ำ อีกทั้ง ฟองน้ำส่วนใหญ่ยังเจริญไปตามรูปร่างของวัตถุที่มันยึดเกาะ (Sessile Animal) ทำให้รูปร่างของฟองน้ำไม่เป็นสมมาตรแบบรัศมี (Radial Symmetry) อย่างสมบูรณ์

มีระบบโครงร่างค้ำจุน 3 ลักษณะ : โครงสร้างภายนอกที่ทำให้ฟองน้ำสามารถคงรูปอยู่ได้ หรือโครงร่างชนิดแข็งที่เรียกว่า “ขวาก” (Spicule)

  1. ขวากหินปูน (Calcareous Spicule) มีหินปูนเป็นองค์ประกอบหลัก
  2. ขวากแก้ว (Siliceous Spicule) มีซิลิกา (Silica) เป็นองค์ประกอบหลัก
  3. โครงร่างที่สร้างขึ้นจากเส้นใยโปรตีน (Scleroprotein) หรือที่เรียกว่า “สปอนจิน” (Spongin)
ขวากฟองน้ำรูปร่างต่างๆ

ผนังลำตัวประกอบด้วยการเรียงตัวของเซลล์ 2 ชั้นหลัก :

  1. ชั้นเซลล์ผิวด้านนอกหรือพินาโคเดิร์ม (Pinacoderm) ประกอบขึ้นจากเซลล์พินาโคไซท์ (Pinacocyte) เปรียบเสมือนผิวหนังชั้นนอกของสัตว์
  2. ชั้นเซลล์ผิวด้านในหรือโคเอโนเดิร์ม (Choanoderm) ประกอบขึ้นจากเซลล์โคเอโนไซท์ (Choanocyte) หรือ เซลล์ปลอกคอ (Collar Cell) และแฟลเจลลัม (Flagellum) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายแส้โบกสบัด เพื่อเร่งการไหลเวียนของน้ำและดักจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเป็นอาหาร
  3. ในระหว่างเนื้อเยื่อทั้ง 2 ชั้น มี “เมเซนไคม์” (Mesenchyme) อยู่กึ่งกลาง มีลักษณะคล้ายวุ้นที่ประกอบขึ้นจากเซลล์ชนิดพิเศษที่เรียกว่า “อะมีโบไซต์” (Amoebocyte) ซึ่งสามารถเคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นเซลล์ชนิดต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้

มีการสืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ : ฟองน้ำส่วนใหญ่มี 2 เพศในตัวเดียว (Hermaphrodite) จึงสามารถสร้างทั้งสเปิร์มและไข่ภายในตนเอง โดยที่ตัวอ่อนที่เจริญแล้วจะถูกปล่อยให้ลอยไปตามกระแสน้ำ เพื่อเสาะหาสถานที่อันเหมาะสมต่อการลงเกาะและเจริญเติบโตต่อไป ขณะที่การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศจะอาศัยการแตกหน่อ (Budding) และการขาดออกเป็นท่อน (Fragmentation) รวมถึงการสร้างเจมมูล (Gemmule) เพื่อรอคอยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการแตกหน่อและสร้างฟองน้ำรุ่นต่อไป

สัตว์ในไฟลัมพอริเฟอราสามารถแบ่งออกเป็น 3 หมวดชั้น (Class) คือ

แคลคาเรีย (Calcarea) หรือ ฟองน้ำหินปูน เป็นฟองน้ำที่มีขวากหินปูน มีรูปร่างคล้ายเข็ม มีขนาดเล็กหรือสูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร อย่างเช่น ฟองน้ำแจกัน (Leucosolenia)

ฟองน้ำแจกัน

เฮกแซกทิเนลลิดา (Hexactinellida) หรือ ฟองน้ำแก้ว (Glass Sponge) เป็นฟองน้ำที่มีขวากซิลิกา เป็นฟองน้ำที่มีโครงสร้างสานกันเป็นตาข่าย มีรูปร่างคลายถ้วยหรือแจกัน มีสีสันสวยงาม อาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึก มีขนาดตั้งแต่ 10 เซนติเมตรไปจนถึงหลาย 100 เซนติเมตร อย่างเช่น ฟองน้ำกระเช้าดอกไม้ของวีนัส (Euplectella Aspergillum)

Euplectella Aspergillum

ดีโมสปอนเจีย (Demospongiae) คือ กลุ่มฟองน้ำกว่าร้อยละ 95 ของฟองน้ำทั้งหมดในทะเล มีโครงร่างทั้งแบบแข็งหรือขวากซิลิกาและมีองค์ประกอบของเส้นใยฟองน้ำ มีรูปร่างทรงสูงคล้ายนิ้วมือ พัดและแจกัน อีกทั้ง ยังมีสีสันสวยงาม เช่น ฟองน้ำถูตัว (Spongia) ฟองน้ำเคลือบหิน (Haliclona) และฟองน้ำน้ำจืด (Spongilla) เป็นต้น

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) – https://www.scimath.org/lesson-biology/item/7035-animal-kingdom-invertebrate

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ – http://www.mwit.ac.th/~deardean/link/All%20Course/biodiver/biodivpdf/diver_animalia_1.pdf

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – http://www.sysp.ac.th/files/1403271111004763_14042614140852.pdf

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ – http://zmku.sci.ku.ac.th/ZMKU%20image/Porifera.pdf


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ไขความลับ เหตุใดสุนัขจึงแสนดีกับมนุษย์จัง

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.