ไนดาเรีย (Cnidaria) : ไฮดรา แมงกะพรุน และปะการัง
กลุ่มของสัตว์ลำตัวใส บางชนิดก็มีสีสันสวยงาม เหล่า ไนดาเรีย คือสัตว์ที่มีความหลากหลายมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในท้องทะเล
ซีเลนเทอราตา (Coelenterata) หรือในปัจจุบันถูกเรียกว่า ไนดาเรีย (Cnidaria) คือ หนึ่งในเก้าไฟลัมของอาณาจักรสัตว์ตามการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตด้วยหลักอนุกรมวิธานวิทยา (Taxonomy) สัตว์ในไฟลัมไนดาเรียส่วนใหญ่คือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเล ได้แก่ ปะการัง กัลปังหา ดอกไม้ทะเล และแมงกะพรุน โดยมีเพียงบางส่วนที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด เช่น ไฮดรา และแมงกะพรุนน้ำจืด
ในปัจจุบัน สัตว์ในไฟลัมไนดาเรียมีอยู่ราว 9,000 ชนิด เป็นสิ่งมีชีวิตที่นับว่ามีวิวัฒนาการสูงขึ้นกว่าสัตว์ในไฟลัมพอริเฟอรา แต่ยังถือเป็นสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์หรือเหล่าบรรพบุรุษของสัตว์หลายเซลล์ที่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริงทั้งหลาย
[คำว่า “ไนเดีย” (Cnidae) มีความหมายว่า “ต่อย” หรือ “ทำร้าย” ในภาษาละติน]
ลักษณะสำคัญของสัตว์ในไฟลัมไนดาเรีย
มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง แต่ไม่มีอวัยวะหรือระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายที่สมบูรณ์ :
- มีปากแต่ไม่มีทวารหนัก ดังนั้น ทั้งการกินอาหารและขับถ่ายล้วนอาศัยช่องทางเดินอาหารที่อยู่บริเวณกลางลำตัวที่เรียกว่า “แกสโทรวาสคูลาร์ คาวิตี” (Gastrovascular Cavity) ทำหน้าที่เป็นทั้งทางเดินอาหารและระบบหมุนเวียนสสาร โดยมีเซลล์ชนิดพิเศษหรือเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการย่อยอาหาร (Nutritive Cell) ซึ่งแทรกอยู่ที่เนื้อเยื่อชั้นในทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมสารอาหาร ก่อนส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- ไม่มีระบบหายใจ ระบบหมุนเวียนโลหิต หรือระบบขับถ่ายโดยเฉพาะ แต่อาศัยการแพร่ของก๊าซผ่านผิวหนังและการแลกเปลี่ยนของเสียต่าง ๆ ผ่านน้ำที่อยู่รอบตัว
- มีระบบประสาทแบบร่างแห (Nerve Net) คือ มีเซลล์ประสาทเชื่องโยงกันทั่วทั้งตัว แต่ยังไม่มีการรวมกลุ่มของเซลล์ประสาทเป็นปมประสาท (Ganglion) ดังนั้น การนำกระแสประสาทจึงดำเนินไปอย่างเชื่องช้าและมีทิศทางไม่แน่นอน ซึ่งเป็นข้อแตกต่างระหว่างสัตว์ในไฟลัมไนดาเรียและสัตว์ชั้นสูงชนิดอื่น ๆ
มีรูปร่างมีสมมาตรแบบรัศมี (Radial Symmetry) หรือ รัศมีสองระนาบ (Biradial Symmetry)
มีระบบโครงร่างของเหลว (Hydrostatic Skeleton) ทำให้ร่างกายมีรูปร่างด้วยกัน 2 ลักษณะ :
- รูปร่างคล้ายทรงกระบอกหรือต้นไม้ที่เรียกว่า “โพลิป” (Polyp) เช่น ไฮดรา ปะการัง และดอกไม้ทะเล
- รูปร่างคล้ายร่มหรือระฆังคว่ำที่เรียกว่า “เมดูซา” (Medusa) เช่น แมงกะพรุนทั้งหลาย
มีเนื้อเยื่อ 2 ชั้น :
- เนื้อเยื่อชั้นนอกหรือเอกโตเดิร์ม (Ectoderm) ทำหน้าที่เสมือนผิวหนังชั้นนอกของสัตว์ มีการพัฒนาของเซลล์จนเป็นเนื้อเยื่อบุผิวลำตัวที่เรียกว่า “อิพิเดอร์มิส” (Epidermis)
- เนื้อเยื่อชั้นในหรือเอนโดเดิร์ม (Endoderm) มีการพัฒนาของเซลล์จนเป็นเยื่อบุผิวทางเดินอาหารที่เรียกว่า “แกสโตรเดอร์มิส” (Gastrodermis)
- ในระหว่างเนื้อเยื่อทั้ง 2 ชั้น มีชั้นมีโซเกลีย (Mesoglea) แทรกอยู่บริเวณกึ่งกลาง มีลักษณะคล้ายวุ้นเจล ซึ่งเป็นสารพวกมิวโคพอลิแซ็กคาไรด์ (Mucopolysaccharide) และคอลลาเจน (Collagen)
มีหนวด (Tentacle) และเข็มพิษ (Nematocyst) : อยู่บริเวณโดยรอบของช่องปาก เพื่อใช้ในการป้องกันตัวและล่าเหยื่อ โดยเข็มพิษบนหนวดถูกสร้างขึ้นโดยเซลล์ที่เรียกว่า “ไนโดไซต์” (Cnidocyte)
สืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ : สัตว์ในไฟลัมไนดาเรียมีทั้งสัตว์ที่มี 2 เพศในตัวเดียว และกลุ่มแยกเพศที่ใช้การปฏิสนธิภายนอก (External Fertilizer) ในการสืบพันธุ์ อย่างเช่น แมงกะพรุนชนิดต่าง ๆ ซึ่งตัวอ่อน หรือ “พลานูลา” (Planula) หลังการปฏิสนธิจะเคลื่อนที่อย่างอิสระอยู่ใต้น้ำ ก่อนหาที่ยึดเกาะเพื่อเจริญเติบโต จึงมีลักษณะคล้ายดอกไม้ทะเลและเมื่อสภาวะแวดล้อมเหมาะสม ส่วนปลายของโพลิปจะค่อย ๆ หลุดออกกลายเป็นเมดูซาหรือแมงกะพรุนขนาดเล็ก ขณะที่การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ อาศัยการแตกหน่อ (Budding) และการแบ่งออกเป็นส่วน (Fission)
สัตว์ในไฟลัมไนดาเรียสามารถแบ่งออกเป็น 4 หมวดชั้น (Class) คือ
- ไฮโดรซัว (Hydrozoa) คือ สัตว์ที่มีรูปร่างทรงกระบอกหรือโพลิป และมีบางช่วงเวลาของชีวิตจะมีรูปร่างระฆังคว่ำ (Medusa) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเลและอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (Colony) ไม่มีเซลล์ไนโดไซท์หรือมีพิษเพียงเล็กน้อย เช่น โอบีเลีย แมงกะพรุนน้ำจืด แมงกะพรุนลอย และไฮดรา
- ไซโฟซัว (Scyphozoa) คือ สัตว์ที่มีรูปร่างทรงระฆังคว่ำ แต่ขณะที่เป็นตัวอ่อนจะมีรูปร่างแบบต้นไม้ มีขนาดใหญ่กว่าสัตว์ในคลาสไฮโดรซัว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 2 เซนติเมตรไปจนถึง 2 เมตร อย่างเช่น แมงกะพรุนแผงคอสิงโต (Lion’s Mane Jellyfish) โดยทั่วไป สัตว์ในคลาสนี้จะมีเข็มพิษมากบริเวณหนวดและปาก สามารถเคลื่อนที่หรือว่ายน้ำได้อย่างอิสระ เช่น แมงกะพรุนไฟ และแมงกะพรุนจาน
- คิวโบซัว (Cubozoa) คือ สัตว์ที่มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างไฮโดรซัวและไซโฟซัว มีรูปร่างทรงระฆังคว่ำ แต่ค่อนไปทางสี่เหลี่ยมซึ่งส่งผลให้สัตว์ในคลาสคิวโบซัวถูกเรียกว่า “แมงกะพรุนกล่อง” (Box Jellyfish) และที่มุมทั้งสี่จะมีหนวด มีเข็มพิษซึ่งมีพิษร้ายแรงที่สุด จนได้รับการขนานนามว่า “ต่อทะเล” (Sea Wasp)
- แอนโทซัว (Anthozoa) คือ กลุ่มสัตว์ทะเลทั้งหมดและมีมากกว่า 6,000 ชนิด อาศัยอยู่ทั้งในเขตน้ำลึกและน้ำตื้น โดยส่วนใหญ่มีรูปร่างทรงกระบอกหรือทรงต้นไม้ตลอดช่วงชีวิต ทำให้ลักษณะทั่วไปมองดูเหมือนดอกไม้หรือพืชทะเล มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีการสร้างสารหินปูนเป็นเปลือกหุ้ม เช่น ปะการังนิ่ม กัลปังหา ปากกาทะเล ดอกไม้ทะเล ปะการังดอกเห็ด และปะการังเขากวาง มีการสืบพันธุ์แบบแตกหน่อ เป็นสัตว์ที่เมื่อเติบโตแล้วจะไม่เคลื่อนย้ายไปไหนอีก ส่งผลให้การอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม กลายเป็นการสร้างแนวปะการัง (Coral Reef) ที่พบเห็นได้ทั่วไปในมหาสมุทรของโลก
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ
ข้อมูลอ้างอิง
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) – https://www.scimath.org/lesson-biology/item/7035-animal-kingdom-invertebrate
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ – https://biology.mwit.ac.th/Resource/BiodiverPDF/8_diver_animalia2.pdf
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – http://www.sysp.ac.th/files/1403271111004763_14042614140852.pdf
มหาวิทยาลัยบูรพา – https://www.academia.edu/39513928/อาณาจักรสัตว_Kingdom_Animalia_
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ฟองน้ำเป็นสัตว์ ข้อมูลเกี่ยวกับฟองน้ำและการจัดจำแนก
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.