อังกฤษยกเลิกการใช้มาตรการ Herd Immunity

การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นหลักการของการผลิตวัคซีน แต่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกประกาศงดจัดกิจกรรมในสถานที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน และสถานที่ที่มีคนชุมชนแออัด เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แต่ประเทศอังกฤษกลับเอ่ยถึงมาตรการ Herd immunity

ในช่วงแรก อังกฤษไม่ประกาศหยุดกิจกรรมการรวมตัวของผู้คน หรือมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อวงการแพทย์ว่า ทางการจะปล่อยให้การแพร่ระบาดของเชื้อกระจายออกไป แทนที่จะควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงกำจัด

กลยุทธ์ “Herd immunity” หรือ ภูมิคุ้มกันระดับชุมชน คือ “วิธีการสร้างภูมิต้านทานเชื้อโรค โดยปล่อยให้ประชากรกลุ่มหนึ่งติดเชื้อ และสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้เอง” แพทริก วอลแลนซ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาล กล่าวกับสำนักข่าว สกายนิวส์ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา

ถ้าความเสี่ยงของโควิด-19 ไม่สูงมาก มันมีความเป็นไปได้ที่จะนำหลักการภูมิคุ้มกันระดับชุมชนมาใช้ โดยใช้หลักการติดเชื้อแบบสุ่มในกลุ่มประชากร อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ระบบสาธารณสุขที่ดี การดูแลแบบเฉพาะเจาะจง และทรัพยาการทางการแพทย์ที่เพียงพอ เพื่อให้ผ่านจุดสูงสุดของการระบาดไปได้

หลังจากมีแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาจากรัฐบาล อิมพีเรียลคอลเลจลอนดอนออกมาแสดงความเห็นว่า โรงพยาบาลต้องรองรับจำนวนผู้ป่วยสูงมาก และต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้าย รัฐบาลอังกฤษจึงมีท่าทีเปลี่ยนไป ออกประกาศใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เมื่อวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม และเมื่อวันศุกร์ในสัปดาห์เดียวกัน ออกคำสั่งปิดสถานบันเทิง ร้านอาหาร ฟิตเนส และโรงภาพยนต์ ทุกแห่ง

แต่ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับกลไกของภูมิคุ้มกันระดับชุมชนต่อการชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อ และระยะเวลาในการพัฒนาวัคซีนจะทันเวลาหรือไม่ หรือมีอะไรที่ยืนยันได้ว่า เมื่อมาตรการรักษาระยะห่างสังคมสิ้นสุดลงแล้ว เชื้อไวรัสจะไม่กลับมาระบาดซ้ำอีก

ไวรัสเป็นเชื้อที่ก่อโรคชนิดหนึ่ง ที่สามารถปล่อยสารพันธุกรรมของตัวเองเข้าสู่เซลล์เป้าหมาย ส่งผลให้การทำงานของเซลล์นั้นผิดปกติ ผลิตวัตถุดิบสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเริ่มทำงาน เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวตรวจจับได้ว่า ร่างกายติดเชื้อโรค จะเกิดกระบวนการส่งสัญญาณให้ระบบภูมิคุ้นกันในร่างกายรับทราบ แต่กว่าร่างกายจะตรวจจับได้ และสร้างระบบภูมิกันเพื่อกำจัดเชื้อไวรัส ตัวไวรัสเองก็มีจำนวนมากขึ้น จนสร้างความเจ็บป่วยให้แก่เจ้าบ้านไปแล้ว

การตอบสนองของระบบภูมิคุ้นกันในร่างกายเกิดขึ้นได้ภายใน 24 ชั่วโมง เอลลีย์ ก็อนต์ นักไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสก็อตแลนด์ กล่าวและเสริมว่า การตอบสนองแบบเต็มรูปแบบอาจเกิดขึ้นได้อีกสามวันหลังจากนั้น ซึ่งหมายความว่า เชื้อไวรัสที่มีเป้าหมายต่อระบบทางเดินหายใจ ที่สามารถสร้างตัวเองในโฮสต์ได้เพียงแค่แปดชั่วโมงนั้น เดินเกมนำหน้าเราไปแล้ว

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสจึงมีอาการรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อครั้งแรก ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์สามารถทำงานได้เร็วขึ้นเมื่อเจ้าบ้านรับเชื้อชนิดเดิมเป็นครั้งที่สอง กระบวนการของระบบภูมิคุ้นสามารถตรวจจับเชื้อโรคได้ดีขึ้นเมื่อเราเคยติดเชื้อชนิดนั้นแล้ว ดังนั้น เมื่อร่างกายได้เชื้อชนิดเดิม ไวรัสจึงไม่สามารถสร้างอาการเจ็บป่วยได้เหมือนรอบแรก

ประชากรที่มีภูมิต้านทานเชื้อคือ กลุ่มที่ไม่แพร่เชื้อ เคที กอสทิก นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องระบบภูมิคุ้มกันอินฟลูเอนซา มหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าว เมื่อการเพิ่มจำนวนของไวรัสไม่สามารถเกิดขึ้นได้ กระบวนการแพร่แพร่ระบาดจะสิ้นสุดไปเอง

กรณีภูมิคุ้มกันระดับชุมชนที่มีการศึกษามากที่สุดคือโรคหัด ในอดีต ประเทศสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการใช้ Herd immunity แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ร้อยละ 13 ของผู้ป่วยโรคหัดในปี 1981 เป็นประชากรที่ย้ายถิ่นฐานมาจากที่อื่น ทั้งที่ในประเทศสหรัฐฯ ได้มีการรณรงค์การใช้วัคซีนอย่างแพร่หลาย แต่การควบคุมโรคหัดยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากโรคนี้มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้สูง และจำเป็นต้องอาศัยประชากรจำนวนมากที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคจึงสามารถทำให้เกิด herd effects ได้ รวมทั้งกลไลของการเกิด waning ของภูมิคุ้มกันในบุคคลเกิดขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไป และประชากรบางส่วนไม่ได้มีการฉีดวัคซีนกระตุ้น ทำให้เกิดการระบาดของโรคในประชากรกลุ่มนี้ทุก 4-5 ปี เป็นที่น่าสังเกตว่า จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ภูมิคุ้นกันที่เกิดจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ สามารถคงอยู่ได้นานกว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน ดังนั้น เด็กทารกที่เกิดจากมารดาที่ไม่เคยเป็นโรคมาก่อน จึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายกว่าทารกกลุ่มอื่น

งานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ รายงานว่า โคโรนาไวรัสมีอัตราการแพร่เชื้อที่ต่ำว่าโรคหัด ซึ่งคนที่มีเชื้อสามารถแพร่ไปยังบุคคลอื่นได้เฉลี่ย 2-3 คน นั่นหมายความว่า ภูมิคุ้มกันระดับชุมชนจะได้ผลเมื่อประชากรราวร้อยละ 60 มีภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19

ในกรณีโรคหัดในสหรัฐฯ พบว่า ผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อน เช่น อาการชัก ปอดอักเสบ และภาวะสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส ส่งผลให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตสองรายในจำนวนผู้ป่วยทุกๆ หนึ่งพันราย การปล่อยให้ประชากรทั้งหมดติดเชื้อโรคหัดจึงเป็นวิธีที่อันตรายต่อกกลุ่มผู้รอดชีวิต และอีกหนึ่งกรณีคือโรคสุกใส (chicken pox) โดยในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นวัยเด็ก แพทย์มักปล่อยให้เกิดโรคและให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง แตกต่างจากกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อโรคสุกใส

นั่นหมายความว่า สำหรับโรคโควิด-19 ประชากรร้อยละ 60 จะต้องมีภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสชนิดนี้

“แต่ปัญหาคือ โรคโควิด-19 เป็นเชื้ออุบัติใหม่ ยังไม่มีรายงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอายุเหมือนโรคสุกใส” กอสทิกจากมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าว

ภูมิคุ้มกันระดับชุมชนไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกโรคระบาด มันไม่สำคัญว่าจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนมากน้อยเพียงใด การติดเชื้อต้องเกิดการแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คน เพื่อให้กระบวนการเกิดภูมิคุ้มกันระดับชุมชนเกิดประสิทธิภาพในการป้องกัน

ภูมิคุ้มกันไม่ได้อยู่ในร่างกายของเราตลอดไป ยกตัวอย่างเช่น เชื้อ HIV สามารถกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วภายในร่างกายของโฮสต์หนึ่งคน เจสซี แอ็บแบต ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อก่อโรคที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ในประเทศฝรั่งเศส กล่าวและเสริมว่า การกลายพันธุ์แต่ละครั้งล้วนเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย รวมไปถึงแนวทางการพัฒนาวัคซีน เช่น เชื้อไข้หวัดตามฤดูกาลจำเป็นต้องคาดการณ์สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดในช่วงเวลานั้น

ปัจจุบัน โคโรนาไวรัสมีสี่สายพันธุ์ที่แพร่กระจายอยู่ในมนุษย์ และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดไข้หวัดทั่วไป แต่ถ้าเราไม่ได้รับวัคซีนซ้ำ ภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะหมดไป ถ้าโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่า ประชาชนต้องได้รับวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันซ้ำเป็นประจำทุกปี และเพื่อคงกระบวนการภูมิคุ้มกันระดับชุมชนให้อยู่ในกลุ่มประชากรอย่างยั่งยืน

จากรายงานการศึกษาบางฉบับกล่าวถึงเรื่องของการติดเชื้อซ้ำในผู้ป่วยที่รักษาตัวหายแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ อาจเกิดจากเชื้อไวรัสไม่ได้ถูกกำจัดโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพียงแต่รอเวลาสร้างจำนวนขึ้นมาใหม่เท่านั้น

ถ้าเราสามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ และเริ่มใช้งานจริงในมนุษย์ อาจมีประชากรกลุ่มเล็กๆ ที่ระบบภูมิกันไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นของวัคซีน และถ้าระบบภูมิกันเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อยู่ในร่างกายมนุษย์ได้เพียงระยะสั้นๆ นั่นหมายความว่า เราต้องรับวัคซีนซ้ำในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้เกิดความท้าทายเรื่องการขนส่งวัคซีน

ในเวลาเช่นนี้ นโยบายที่ดีที่สุดสำหรับควบคุมการแพร่ระบาดคือ การรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แนะนำต่อรัฐบาลอังกฤษ และทำให้รัฐบาลประกาศกลยุทธ์ใหม่

“เราเคยคาดหวังจะใช้วิธีภูมิคุ้มกันระดับชุมชน” อัซรา กานิ นักวิจัยเรื่องโรคติดต่อ ในอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน กล่าวเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา และเสริมว่า “แต่ตอนนี้เราตระหนักได้แล้วว่า เราไม่สามารถรับมือกับวิธีดังกล่าวได้”

เรื่อง CATHLEEN O’GRADY


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: มาตรการของประเทศที่ควบคุม COVID-19 ได้ดี และบทบาทของภาครัฐ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.