นักวิทยาศาสตร์กำลังไขความลึกลับของ ความเจ็บปวด และแสวงหาวิธีใหม่ๆ ในการเยียวยารักษา
ความสามารถในการรู้สึกเจ็บปวดเป็นหนึ่งในของขวัญที่ธรรมชาติมอบแก่มนุษยชาติและสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ เราวิวัฒน์ขึ้นมาให้รู้สึกเจ็บปวดเพราะ ความเจ็บปวด ทำหน้าที่เป็นระบบเตือนภัยอันเป็นกุญแจสำคัญในการเอาตัวรอด
ผู้ที่เป็นเสมือนทหารยามในระบบนี้คือเซลล์ประสาทสัมผัสชนิดพิเศษที่เรียกว่าโนซิเซ็ปเตอร์ (nociceptor หรือตัวรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวด) ซึ่งอยู่ใกล้กับกระดูกสันหลัง โดยเส้นใยของมันจะแผ่เข้าไปในผิวหนัง ปอด ลำไส้ และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เซลล์เหล่านี้มีหน้าที่รับรู้สิ่งเร้าที่เป็นอันตรายชนิดต่างๆ เช่น มีดบาด ความร้อนของขี้ผึ้งเหลว การไหม้ของกรด เมื่อโนซิเซ็ปเตอร์ตรวจพบภัยคุกคามเหล่านี้ พวกมันจะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังไขสันหลังซึ่งจะส่งต่อสัญญาณผ่านเซลล์ประสาทอื่นๆ ไปยังสมอง เซลล์ประสาทลำดับที่สูงขึ้นในเปลือกสมองซึ่งเป็นปลายทางของเส้นทางความรู้สึกเจ็บปวดขาขึ้น (ascending pain pathway) จะแปลความหมายของข้อมูลนี้ไปเป็นการรับรู้ถึง ความเจ็บปวด
เมื่อรับรู้ถึงความเจ็บปวด สมองจะพยายามลดผลกระทบลง เครือข่ายเส้นประสาทในสมองจะส่งสัญญาณไฟฟ้าลงไปที่ไขสันหลังตามเส้นทางความรู้สึกเจ็บปวดขาลง (descending pain pathway) ที่กระตุ้นให้เกิดการปล่อยเอนดอร์ฟิน และโอปิออยด์ตามธรรมชาติอื่นๆ สารชีวเคมีเหล่านี้ยับยั้งสัญญาณความเจ็บปวดขาขึ้น จึงช่วยลดปริมาณความเจ็บปวดที่รับรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นักวิทยาศาสตร์เข้าใจแบบแผนพื้นฐานของเส้นทางความเจ็บปวด ขาขึ้นและขาลงแล้ว ตอนที่คลิฟฟอร์ด วูล์ฟ นักประสาทชีววิทยาจากโรงพยาบาลเด็กในบอสตัน ผู้ศึกษาเรื่อง ความเจ็บปวด มานานกว่าสี่ทศวรรษ เริ่มทำงานในแวดวงนี้เมื่อทศวรรษ 1980 สภาพอันน่ารันทดของผู้ป่วยที่เขาเห็นในหอผู้ป่วยแผนกศัลยกรรมระหว่างเรียนแพทย์กระทบใจวูลฟ์
“ความเจ็บปวดเป็นปัญหาที่วิชาชีพแพทย์ในตอนนั้นแทบไม่เห็นความสำคัญ เพราะไม่มีวิธีรักษาที่ทั้งปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ” วูล์ฟกล่าว การตระหนักรู้นี้เองที่จุดประกายให้เขาปรารถนาจะเข้าใจธรรมชาติของความเจ็บปวด วูล์ฟใช้หนูเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้เพิ่มเติมว่า ความเจ็บปวดถูกถ่ายทอดอย่างไร เขาค้นพบสิ่งที่คาดไม่ถึง กล่าวคือ หลังจากผิวหนังที่โดนความร้อนสองสามครั้งเริ่มเกิดการอักเสบ เซลล์ประสาทในไขสันหลังจะอยู่ในสภาวะที่ไวต่อการกระตุ้นมากขึ้น แค่ลูบรอบๆ บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บก่อนหน้านี้ ก็ทำให้เซลล์ส่งสัญญาณได้แล้ว
นี่แสดงให้เห็นว่า การบาดเจ็บที่ผิวหนังทำให้ระบบประสาทส่วนกลางไวต่อการกระตุ้น ทำให้เซลล์ประสาทในไขสันหลังส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมอง แม้ว่าข้อมูลจากเส้นประสาทส่วนปลายจะไม่มีอันตราย นับจากนั้น นักวิจัยคนอื่นๆ ก็ชี้ให้เห็นปรากฏการณ์นี้ในมนุษย์
ข้อสรุปอันน่าตกใจจากงานของวูล์ฟและการวิจัยต่อเนื่องมีอยู่ว่า ความเจ็บปวดอาจเกิดขึ้นได้แม้ไม่มีการบาดเจ็บ ระบบการส่งสัญญาณความเจ็บปวดอาจกลายเป็นภาวะความรู้สึกไวเกินหลังการบาดเจ็บซึ่งเกิดขึ้นในหนู แต่ก็อาจหายไปหรือคงอยู่ในสภาพไวต่อความรู้สึกหลังจากอาการบาดเจ็บหายแล้วก็ได้
ขณะที่การค้นหายาใหม่ๆ ยังดำเนินต่อไป แพทย์และนักวิจัยกำลังสืบค้นวิธีปลดปล่อยความสามารถภายในของสมองในการจัดการกับความเจ็บปวดและคลายความทุกข์ทรมานที่เกิดจากความเจ็บปวดนั้น ความสามารถเหล่านั้นน่าประทับใจ
ลองดูตัวอย่างการศึกษาที่สหราชอาณาจักรเมื่อไม่นานมานี้ ในผู้ป่วยกว่า 300 รายที่มีอาการปวดไหล่ชนิดหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากกระดูกงอก การบรรเทาอาการปวดมักทำโดยการผ่าตัดเอากระดูกที่งอกออก นักวิจัยแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเข้ารับการผ่าตัด กลุ่มที่สองถูกทำให้เชื่อว่าได้รับการผ่าตัดแต่จริงๆ แล้วไม่ได้ผ่า กลุ่มที่สามถูกขอให้กลับมาตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวไหล่อีกครั้งในอีกสามเดือนข้างหน้า กลุ่มที่ได้รับการผ่าตัดและกลุ่มที่คิดว่าตนได้รับการผ่าตัดพูดถึงอาการปวดไหล่ที่ลดลงคล้ายคลึงกัน
ไอรีน เทรซี หนึ่งในคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า “การบรรเทาอาการปวดที่ผู้ป่วยได้รับเป็นเพียงผลจากปรากฏการณ์การรักษาหลอกเท่านั้น” การศึกษาอื่นๆเผยให้เห็นว่าความคาดหวังถึงความเจ็บปวดที่ลดลงของผู้ป่วยสามารถแปรเปลี่ยนไปสู่ความเจ็บปวดที่ลดลงจริงได้อย่างไร ดูเหมือนความคาดหวังนี้จะไปกระตุ้นเส้นทางความเจ็บปวดขาลงของสมอง นำไปสู่การปล่อยโอปิออยด์ที่สังเคราะห์ขึ้นภายในสมอง ซึ่งไปขัดขวางสัญญาณความเจ็บปวดที่ส่งมาจากร่างกาย
ความเป็นจริงเสมือน หรือวีอาร์ (virtual reality : VR) อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเจ็บปวด ที่ห้องปฏิบัติการของลูอานา คอลโลกา นักประสาทวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ผู้ช่วยคนหนึ่งของคอลโลกามัดกล่องเล็กๆ ไว้ที่ปลายแขนซ้ายของผม ขณะที่ผมเอนตัวลงบนเก้าอี้ที่นุ่มสบาย อุปกรณ์นั้นเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่านสายเคเบิล และสามารถเพิ่มระดับความร้อนและทำให้เย็นลงได้อย่างรวดเร็ว มือขวาของผมถืออุปกรณ์ควบคุมมีปุ่มที่ผมสามารถกดเพื่อหยุดความร้อนที่แขนได้
ในการทดลองครั้งแรกๆ คอลโลกาขอให้ผมกดปุ่มทันทีที่รู้สึกว่าอุปกรณ์เริ่มร้อน ในอีกสองสามรอบถัดไป ผมต้องรอนานอีกเล็กน้อยจนกว่าอุปกรณ์จะร้อนขึ้นจนรู้สึกระคายเคือง ในการทดลองรอบสุดท้ายผมต้องปิดเครื่องเมื่อรู้สึกร้อนจนทนไม่ไหว
จากนั้น คอลโลกาให้ผมทำการทดลองแบบเดียวกันอีกครั้งโดยสวมแว่นวีอาร์ ผมจมอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นมหาสมุทร เสียงเพลงผ่อนคลายขับกล่อมอยู่ในหู ผมรู้สึกว่าอุปกรณ์ทำให้ผิวที่แขนร้อนขึ้นเป็นระยะๆ
เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง คอลโลกาให้ผมดูระดับอุณหภูมิที่ผมปล่อยให้อุปกรณ์ร้อนขึ้นในการทดลองทั้งหมด ตัวเลขที่อ่านได้จากอุปกรณ์ตั้งแต่ระดับที่ผมรู้สึกว่า“อุ่น” “ร้อน” และ “ร้อนจนทนไม่ไหว” ล้วนสูงกว่าเมื่อผมกำลังมีประสบการณ์ใต้สมุทร โดยเฉพาะอุณหภูมิร้อนที่สุดที่ผมสามารถทนได้เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส คือสูงถึง 47.7 องศาเซลเซียส ซึ่งตามความเห็นของคอลโลกาแล้วถือว่า “สูงมาก” นั่นหมายความว่าคุณทนความเจ็บปวดในระดับที่สูงขึ้นมากได้ หากอยู่ในสภาพแวดล้อมนี้โดยมีเพลงที่ผ่อนคลายคลอไปด้วย” เธอกล่าว
คอลโลกาแสดงให้เห็นว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดผลดีคือความบันเทิงจากประสบการณ์ดังกล่าวซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและลดความวิตกกังวล ไม่ว่าจะเป็นกลไกใดที่อยู่เบื้องหลังประสิทธิผลนี้ แพทย์ก็ใช้ความเป็นจริงเสมือนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดเฉียบพลัน เช่น ผู้มีแผลไฟไหม้รุนแรงอยู่แล้ว คอลโลกาเชื่อว่ากลยุทธ์นี้พิสูจน์ได้ว่ามีประโยชน์ในการรักษาอาการปวดเรื้อรัง
เรื่อง ยุธิจิต ภัตตาจาร์จิ
ภาพถ่าย เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์, โรเบิร์ต คลาร์ก,
โรบิน แฮมมอนด์, เครก คัตเลอร์, และมาร์ก ทีสเซน
*** อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับมกราคม 2563
สารคดีแนะนำ