เกาหลีใต้ ป้องกันการระบาดอย่างไร

เกาหลีใต้ ต่อสู้กับการระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด พวกเขาจะรักษาความสำเร็จนี้ไว้ได้หรือไม่

ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ หากมองจากภายนอก ศูนย์ตรวจโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเอชพลัสยางจีอาจดูไม่เหมือนห้องตรวจสักเท่าไหร่ อาคารปฏิบัติการชั่วคราวที่หน้าตาคล้ายกับบ้านสำเร็จรูปแห่งนี้ตั้งอยู่ในลานจอดรถใกล้กับทางลาดลำเลียงพัสดุ ฉากด้านหนึ่งของมันเป็นกระดานไม้ ส่วนกำแพงถูกคลุมด้วยป้ายสีแดงขาวที่ประกาศว่าโรงพยาบาลแห่งนี้คือหนึ่งใน 100 โรงพยาบาลที่ดีที่สุดของเกาหลีใต้

ภายในศูนย์คือซุ้มตรวจ 4 แถวที่กั้นด้วยกำแพงพลาสติกใส ถุงมือยางสอดผ่านพลาสติกในลักษณะที่คล้ายกับการทำงานในห้องปฏิบัติการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูง เมื่อผู้ป่วยเข้ามา พวกเขาจะได้ปรึกษากับหมอด้านนอกผ่านระบบอินเตอร์คอม ส่วนหมอด้านในที่ป้ายเก็บตัวอย่างในจมูกและคอจะต้องสวมถุงมือยางเพื่อป้องกันการสัมผัสกับผู้ป่วย ความกดอากาศด้านในถูกควบคุมให้ติดลบซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อฝอยละอองที่มีไวรัสมาด้วย หลังการตรวจ เจ้าหน้าที่ในชุดป้องกันหนึ่งคนจะเข้าไปฆ่าเชื้อภายในซุ้ม

วันที่ 2 พฤษภาคม 2020 ผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศเข้ารับการตรวจโควิด-19ที่ศูนย์สุขภาพในเขตอึนพยอง กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ศูนย์สุขภาพชุมชนเหล่านี้คือแนวหน้าในการรบกับโคโรน่าไวรัสของเกาหลีใต้
ภาพถาย: JUN MICHAEL PARK, เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

ซุ้มตรวจแบบวอล์กอินที่คล้ายกันหลายร้อยอันซึ่งติดตั้งอยู่ทั่วประเทศคือหนึ่งในเสาหลักของยุทธศาสตร์การควบคุมโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จของเกาหลีใต้ พวกมันช่วยให้ทางการสามารถทำการวินิจฉัยโรคได้อย่างละเอียดและรวดเร็ว

นอกจากซุ้มตรวจแล้ว ประเทศที่มีประชากรอยู่ 51 ล้านคนแห่งนี้ยังได้นำประวัติการติดต่อสื่อสาร การใช้บัตรเครดิต และการเดินทางจากเครือข่ายมือถือมาวิเคราะห์เพื่อแกะรอยการเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อ ผลการสำรวจชี้ว่า ประชาชนชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ยินดีที่จะเสียสละความเป็นส่วนตัวทางดิจิทัลของตนเพื่อหยุดการแพร่ระบาด ซึ่งในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ออกมารณรงค์เรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) อย่างจริงจัง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้บังคับ ร้านเหล้า บาร์ ร้านอาหาร และโรงหนังหลายแห่งยังเปิดให้บริการตามปกติ

จุดจบของการแพร่การะจายในเกาหลีใต้นั้นยังอยู่อีกไกล จากรายงานในวันที่ 12 พฤษภาคม การระบาดซึ่งเกี่ยวข้องกับไนท์คลับหลายแห่งเมื่อเร็วๆ นี้มียอดผู้ติดเชื้อถึง 102 ราย อย่างไรก็ตาม การตอบสนองของเกาหลีใต้ก็ยังถือเป็นต้นแบบให้แก่ประเทศอื่นๆ ได้ แต่การบรรลุเป้าหมายอย่างรวดเร็วเช่นนี้ในช่วงที่การระบาดครอบคลุมไปทั่วโลกแล้วนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

บทเรียนจากอดีตของ เกาหลีใต้

ปัจจัยหลักที่ช่วยกำหนดทิศทางการรับมือของเกาหลีใต้ในครั้งนี้คือความสามารถในการนำบทเรียนจากการระบาดครั้งก่อนๆ มาปรับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการระบาดของโรคเมอร์ส (ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012) เมื่อปี 2015 ที่มีผู้ติดเชื้อถึง 186 ราย และเสียชีวิตอีก 38 ราย

ผลจากการระบาดเมื่อปี 2015 คือสภานิติบัญญัติของเกาหลีใต้ได้ปรับแก้พระราชบัญญัติควบคุมและป้องกันโรคติดต่อทันที เพื่อกลยุทธ์ที่ครอบคลุมในการแกะรอยความเคลื่อนไหว ผู้ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อจะถูกติดตามและแยกไปกักตัว การแก้ไขกฎหมายทำให้หน่วยงานสาธารณสุขมีอำนาจในการขอประวัติการทำธุรกรรมจากบริษัตรบัตรเครดิต และข้อมูลสถานที่จากเครือข่ายมือถืออย่างสะดวก ก่อนจะปล่อยข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์และเรียบเรียงแล้วออกมาเป็น “บันทึกการเดินทาง” นิรนามให้ประชาชนได้ตรวจสอบเวลาและสถานที่เสี่ยงที่พวกเขาอาจได้รับเชื้อ

การผลักดันขนานใหญ่ในเรื่องการแกะรอยและการตรวจหาผู้ป่วยช่วยควบคุมการลุกลามที่อาจเกิดขึ้นในช่วงแรก หากสถานการณ์มีทีท่าจะบานปลายจนเหนือการควบคุม ที่ผ่านมา เกาหลีใต้มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่วันละหลายร้อย โดยยอดสูงสุดอยู่ที่จำนวน 909 เคสในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกลุ่มศาสนาในเมืองแทกู แถมกลยุทธ์ในครั้งนี้ยังสามารถหยุดยั้งการติดต่อในโบสถ์ ร้านเกมส์คอมพิวเตอร์ และคอลเซ็นเตอร์ที่อาจตามมาในภายหลัง ในวันที่ 15 เมษายน การเลือกตั้งระดับชาติของเกาหลีใต้ผ่านไปได้อย่างปลอดภัย มีผู้คนออกไปใช้สิทธิ์กว่า 29 ล้านคน ทุกคนต่างสวมหน้ากากและถุงมือ มีการวัดอุณภูมิและคัดแยกผู้มีไข้ที่หน่วยเลือกตั้ง ในวันนั้นไม่มีการติดตามผู้ป่วยเกิดขึ้น

นักเทคนิคในห้องปฏิบัติการขณะแบ่งสารทดในวันที่ 22 เมษายน ปี 2020 ที่ TCM BIOSCIENCE บริษัทผู้พัฒนาชุดตรวจโควิด-19 ในย่านพากโยในเมืองซ็องนัม การตรวจหาผู้ติดเชื้อ การแกะรอย และการกักตัวอย่างแข็งขันคือกุญแจสู่ความสำเร็จของเกาหลีใต้ในการต่อสู้กับโคโรน่าไวรัส ตัวอย่างที่เก็บมาจะถูกวิเคราะห์ด้วยเทคนิคการเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมที่เรียกว่า REAL – TIME PCR ผลตรวจจะมาออกมาภายใน 4 – 6 ชั่วโมง
ภาพถ่าย: JUN MICHAEL PARK, เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

ในขณะที่ผู้คนบางประเทศอาจมองว่าการเก็บข้อมูลของเกาหลีใต้เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย แต่วิธีการนี้กลับได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากสาธารณชนชาวเกาหลีใต้ จากผลสำรวจความคิดเห็นของบัณฑิตวิทยาลัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยลัยแห่งชาติโซล พบว่าร้อยละ 78 ของผู้ร่วมทำแบบสอบถาม 1,000 คน เห็นด้วยกับการผ่อนปรนเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมไวรัส จากประสบการณ์การระบาดที่ผ่านมา ผู้คนพร้อมใจกันอยู่บ้านและสวมหน้ากาในที่สาธารณะอย่างรวดเร็วก่อนที่รัฐบาลจะออกมาประกาศแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการเสียอีก

ด้วยความจำเป็น เกาหลีใต้ได้พัฒนาความสามารถในการตรวจหาโรคของตนเองขึ้นหลังการระบาดของเมอร์สในปี 2015 ต่างจากสหรัฐอเมริกาที่ต้องรอพึ่งชุดตรวจซึ่งพัฒนาโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ในแอตแลนตา เกาหลีใต้ตัดสินใจเกณฑ์ภาคเอกชนเข้ามาร่วมรบ ในการประชุมเมื่อปลายเดือนมกราคม  รัฐบาลกระตุ้นให้ให้บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในท้องถิ่นลองพัฒนาชุดตรวจ ภายในหนึ่งเดือน เกาหลีใต้สามารถผลิตชุดตรวจได้มากกว่า 10,000 ชุดต่อวัน

ความรุ่งเรืองของเทคโนโลยีในชีวภาพของเกาหลีใต้ในช่วงนี้ มีส่วนช่วยในการเพิ่มกำลังการผลิต Thomas Shin ซีอีโอแห่งบริษัท TCM Bioscience ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพันกโยแห่งเมืองซองนัม กล่าวว่า “ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทเทคโนโลยีชีวิภาพเกิดใหม่มากมาย” TCM คือหนึ่งในบริษัทที่ตอบรับความต้องการของรัฐบาลและได้รับการอนุมัติจากกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยาในเดือนเมษายน

เขากล่าวว่า การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายหากมองจากมุมของธุรกิจ โรคใหม่เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก หากมันหายไปอย่างรวดเร็ว มันอาจยากที่จะหาทุนมาชดเชยในส่วนที่เสียไปตอนเริ่มต้น แต่ความใกล้ชิดระหว่างเกาหลีใต้และศูนย์กลางการระบาดในจีน ทำให้ TCM มองว่าเหตุการณ์คล้ายกันอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในบ้านของตนพร้อมเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในตลาดโลก จนถึงตอนนี้ ชุดตรวจที่บริษัทจัดส่งออกไปต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.6 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ตามคำแนะนำของรัฐบาล สถาบันภาครัฐและเอกชนเริ่มจัดสนามสอบตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ในวันเสาร์ที่ 25 เมษายน สมาคมประกันชีวิตและสมาคมประกันวินาศภัยเกาหลีได้จัดการสอบคัดเลือกพนักงานตัวแทนขายบนลานกลางแจ้ง เหล่าผู้เข้าสอบต่างดีใจที่ได้กลับมาสอบต่อหลังเว้นระยะมานานกว่าสองเดือน
ภาพถ่าย: JUN MICHAEL PARK, เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

ในวันที่ 30 เมษายน เกาหลีใต้มีรายงานผู้ป่วยใหม่เพียงสี่เคสเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดก็เป็นนักท่องเที่ยวที่พึ่งกลับมาจากต่างประเทศ จึงเป็นวันแรกในรอบสองเดือนครึ่งที่ไม่มีรายงานการติดเชื้อจากคนในท้องถิ่น ตัวเลขที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้รัฐบาลเริ่มผ่อนปรนมาตรการต่างๆ อย่างระมัดระวัง พร้อมกับส่งสัญญาณบอกถึงการเปลี่ยนไปใช้มาตรการที่เหมาะสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการสวมหน้ากากและการวัดอุณหภูมิร่างกายที่โรงเรียน

ท่าทีของผู้คนเริ่มผ่อนคลาย นำไปสู่ความกังวลใจของเจ้าหน้าที่ในเรื่องความชะล่าใจและการติดเชื้อระลอกสอง และการระบาดในไนต์คลับเมื่อเร็วๆ นี้ ในยานอีแทวอน อาจทำให้พวกเขากังวลมากขึ้น แต่รัฐบาลก็ได้ออกมาจัดการเรื่องนี้อย่างเข้มงวด ผู้คนนับพันถูกแกะรอยและจับตรวจภายในเวลาอันสั้น

ระยะทางสุดท้ายสาหัสที่สุด

แม้โรงงานจะจะตอบรับความต้องการอย่างรวดเร็ว แต่การเปิดตัวกลับไม่ค่อยราบรื่นนัก ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ตัวเลขความต้องการชุดตรวจยังสูงกว่าจำนวนของที่ผลิตได้อยู่มาก ชุดตรวจมีจำนวนมากพอแค่แจกจ่ายไปยังโรงพบาลเพียงไม่กี่แห่ง

ยิ่งไปกว่านั้น โรงพยาบาลเองก็ต้องดิ้นรนหาทางที่จะตรวจผู้ป่วยอย่างไรให้ปลอดภัยและรวดเร็ว ห้องตรวจต้องได้รับการฆ่าเชื้อตามหลังผู้ป่วยแต่ละคน หางแถวที่ยาวหมายถึงการแพร่กระจายของไวรัสสู่คนที่อยู่ในแถว และอุปกรณ์การป้องกันของเจ้าหน้าที่เองก็ลดลงเรื่อยๆ ที่โรงพยาบาลยางจี เหตุการณ์เช่นนี้นำไปสู่ความอ่อนล้าของทีม Sang Il Kim ผู้อำนวยการโรงพยาบาล กล่าว

“แม้ว่าพวกเราจะมีชุดตรวจ แต่ระยะเวลาในการรอคิวนานเกินกว่าที่จะตรวจคนไข้ได้ครบทุกคน พวกเขาจึงต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลอื่น” Yoona Chung แพทย์ในแผนกศัลยกรรม กล่าวเสริม

จากข้อมูลของโรงพยาบาลยางจี พวกเขาสามารถตรวจผู้ป่วยได้มากสุดเพียง 10 คนต่อวันในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่ตัวเลขของคนที่หันหลังกลับเพราะต้องรอคิวกลับเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลอื่นในเกาหลีใต้เริ่มทดลองเปิดศูนย์ตรวจแบบไดร์ฟทรู (Drive-Thru) ที่ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการตรวจได้โดยไม่ต้องลงจากรถ แต่อย่างไรก็ตาม ยางจีนั้นตั้งอยู่ใกล้กับรถไฟใต้ดินในย่านชุมชนหนาแน่น รถยนต์ไม่ใช่จึงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยของพวกเขา

ด้วยเหตุนี้ หมอคิมจึงสร้างซุ้มตรวจแบบวอล์คอินขึ้นมาและเริ่มดำเนินการทดลองใช้ครั้งแรกในวันที่ 10 มีนาคม ภายในเวลาไม่กี่วัน จำนวนของผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า ปลายเดือนมีนาคม โรงพยาบาลยางจีสามารถตรวจผู้ป่วยได้มากถึง 90 คนต่อวัน ในขณะที่โรงพยาบาลอื่น ๆ ในเกาหลีใต้และรอบโลกก็เริ่มนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ เว้นแต่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในปูซานที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กันเป็นของตน

ร้านปิ้งย่างเกาหลีในกรุงโซลที่อัดแน่นไปด้วยลูกค้าท้องถิ่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พวกเขากำลังเพลิดเพลินกับบรรยากาศหลังต้องกักตัวอยู่บ้านและเว้นระยะห่างจากสังคมเป็นเวลาสองเดือน
ภาพ: JUN MICHAEL PARK, เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

ที่โรงพยาบาล Massachusetts General Hospital (MGH) ในบอสตัน ผู้นำของโรงพยาบาลเห็นรายงานข่าวเกี่ยวกับซุ้มตรวจของยางจีและขอให้ทีมงานสร้างสิ่งที่คล้ายกัน ด้วยหวังว่ามันจะช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่และรักษาชุดป้องกันอันล้ำค่าของพวกเขาเอาไว้ได้ หลังทำการค้นหาในกูเกิลนิดหน่อยและการโทรออกอีกสองสาย เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็ได้พูดคุยกับคุณหมอคิมผ่านอีเมล

“ฉันจำได้ว่าตอนนั้นเป็นเวลาสี่ทุ่ม พวกเราทั้งหมดต่างท้อแท้ เราใช้เวลาทั้งคืนหาทางทำให้มันมีประสิทธิภาพ” Nour Al-Sultan นักวิเคราะห์กลยุทธ์ทางธุรกิจแห่ง MGH Springboard Studio กล่าว ทีมนักวิจัยและนักออกแบบได้รับมอบหมายให้ถอดโครงสร้างของซุ้มเหล่านั้น “ฉันเข้านอนและตื่นขึ้นในเช้าวันถัดมาและหมอคิมก็เป็นผู้ตอบคำถามทั้งหมดของฉัน”

ปัจจุบันโรงพยาบาล MGH ได้ติดตั้งซุ้มตรวจไปแล้วทั้งหมด 8 ซุ้มในโรงพยาบาลสามแห่งของบอสตัน จากข้อมูลเบื้องต้น ความต้องการชุดป้องกันที่กำลังขาดแคลนลดลงถึงร้อยละ 96 ช่วยประหยัดชุดกาวน์ไปได้กว่า 500 ชุดต่อสัปดาห์ ตอนนี้ทีมของ MGH กำลังประสานงานกับผู้ร่วมงานในยูกันดาเพื่อช่วยกันพัฒนาซุ้มในเวอร์ชันของพวกเขา

“ข้อเท็จจริงที่ว่าเขาสละเวลามาให้ข้อมูลอย่างละเอียดกับฉันคือบทพิสูจน์ของพลังแห่งความร่วมมือระดับโลกในการต่อสู้กับการระบาดใหญ่นี้” Al-Sultan กล่าว

เรื่อง มาร์ก แซสโทรว


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: โอกาสการแพร่ระบาดใหญ่ระลอกสองของ COVID-19

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.