พบโรคระบาดใหม่ในประเทศจีน

ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2020 ณ มณฑลเจียงซูและอันฮุย ทางตะวันออกของประเทศจีน มีการรายงานการระบาดของโรค ไวรัสเห็บ หรือ SFTS (ยังไม่มีชื่อเรียกในระดับสากล) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่ง มีเห็บเป็นพาหะ และในขณะนี้มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 60 คน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 7 ราย

โรค ไวรัสเห็บ หรือ SFTS

โรค ไวรัสเห็บ คือ โรคที่เกิดจากติดเชื้อ “Severe Fever with Thrombocytopenia Syndrome Virus” (SFTSV) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดใหม่ในกลุ่มไวรัสบันยา (Bunyavirus) โดยไวรัส SFTS เป็นไวรัสที่มีลักษณะรูปร่างเป็นทรงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 100 นาโนเมตร เป็นไวรัสที่มีสายพันธุ์กรรมชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA) จำนวน 3 สาย ทำหน้าที่สร้างเอนไซม์และผลิตโปรตีนชนิดต่าง ๆ เพื่อการเพิ่มจำนวนและการสืบพันธุ์ เมื่อเชื้อไวรัสเดินทางเข้าสู่ร่างกายของโฮสต์ (Host)

โรค SFTS มีเห็บ (Tick) เป็นพาหะสำคัญ โดยเฉพาะเห็บ Haemaphysalis longicornis เป็นโรคที่มีวงจรจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) และมีการวนเวียนของเชื้อระหว่างเห็บและสัตว์มีกระดูกสันหลัง หรือ สัตว์ที่เป็นรังโรค เช่น แพะ แกะ หมู วัว ควาย สุนัข แมว ไก่ นก หนู และสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ถึงแม้ไวรัสเห็บ ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงอาการเจ็บป่วยในสัตว์รังโรคเหล่านี้ แต่เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ สามารถส่งผ่านเชื้อจากคนสู่คน ทำให้โรค SFTS เป็นโรคติดต่อทางการสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีโลหิตติดเชื้อเจือปนหรือจากการสัมผัสเลือดของผู้ติดเชื้อโดยตรง

การกระจายตัวของโรคและฤดูกาลระบาด 

ไวรัส SFTS ไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ นักวิจัยของจีนได้ค้นพบไวรัสชนิดนี้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 ซึ่งขณะนั้น ไวรัสเห็บไม่ได้ก่อให้เกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากนัก โดยในแต่ละปีมักมีผู้ป่วยราวหนึ่งถึงสองร้อยคน ซึ่งการติดเชื้อไวรัส SFTS พบมากที่สุดใน 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่ที่สร้างความตื่นตระหนก คือ อัตราของผู้เสียชีวิต ซึ่งสูงถึงร้อยละ 10 ไปจนถึงร้อยละ 30 ในบางปี จากการที่โรค SFTS ส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของระบบและอวัยวะภายใน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ โรค SFTS ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 10 โรคที่มีความสำคัญสูงสุด โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) อีกด้วย

โรคชนิดนี้ มักแพร่กระจายในฤดูร้อน หรือ ช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน โดยมีระดับการติดเชื้อสูงสุดในช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร ชาวนา พรานล่าสัตว์ และเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ต่าง ๆ รวมไปถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าและภูเขา ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ จากการสัมผัสกับสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของเห็บเป็นประจำ

อาการของผู้ป่วยจากไวรัส “เห็บ” (SFTS)

การดำเนินโรคมีทั้งหมด 3 ระยะ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ ดังนี้ 

ในปัจจุบัน ไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยาจำเพาะสำหรับการรักษา แต่มีการใช้ยาต้านไวรัส “ไรบาวิริน” (Ribavirin) ซึ่งได้รับการรับรองถึงประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรค SFTS อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากโรคไวรัสชนิดนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่าโดยตรง รวมถึงการหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของสัตว์เลี้ยงภายในบ้านให้ปราศจากเห็บและพาหะนำโรคต่าง ๆ 

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


อ้างอิง

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย – https://news.thaipbs.or.th/content/295321

สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย – https://www.pidst.or.th/A581.html

วารสารวิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์และเทคโนโลยี ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (2560) – https://www.lib.ku.ac.th/KU/2561/KUJ00000966c.pdf

The Indian Express – https://indianexpress.com/article/explained/tick-borne-virus-spreading-in-china-6543182/

Inventiva – https://www.inventiva.co.in/trends/tamanna/alert-a-new-virus-now-reported-from-china-claimed-to-be-passed-from-the-bite-of-ticks-another-bioweapon-or-pandemic-from-china/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เชื้อก่อโรค 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.