ยอดเขาเอเวอเรสต์ สูงขึ้นประมาณสองฟุต

จากการสำรวจคู่ขนานที่จัดทำขึ้นทั้งสองประเทศ การวัดความสูงของ ยอดเขาเอเวอเรสต์ ครั้งล่าสุด ยังไม่ได้กำหนดไว้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ความแม่นยำโดยเหล่านักวิทยาศาสตร์และนักสร้างแผนที่

ทางการจีนละเนปาลประกาศจุดสูงที่สุดในโลกครั้งใหม่ว่า ยอดเขาเอเวอเรสต์ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 8848.86 เมตร ตามผลการสำรวจที่นำเสนอในวันที่ 8 ธันวาคม 2020 ซึ่งสูงกว่าระดับความสูงที่รัฐบาลเนปาลเคยรับรองไว้ก่อนหน้านี้ประมาณสองฟุต หรือ 0.6 เมตร

เรื่อง FREDDIE WILKINSON

การวัดระดับความสูง ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา ในแถลงการณ์ร่วมของกรมการสำรวจประเทศเนปาลและทางการจีน ถือเป็นจุดสำคัญของโครงการที่ดำเนินมาหลายปี เพื่อวัดความสูงของเทือกเขาในตำนานลูกนี้ และเป็นการสำรวจเอเวอเรสต์อย่างจริงจังครั้งแรกในรอบ 16 ปี ความพยายามดังกล่าวได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญทางภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิทยาศาสตร์ที่วิเคราะห์ว่า แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ในปี 2015 ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคนี้อย่างไร

ในฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา กลุ่มนักสำรวจและมัคคุเทศก์ชาวเนปาลกลุ่มเล็ก ๆ ต้องอดทนกับความหนาวเหน็บของการเดินขึ้นเขาในเวลากลางคืน โดยมาถึงจุดสูงสุดในเวลา 03.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อทำงานโดยหลีกเลี่ยงความหนาแน่นของนักปีนเขาที่มาจากทั่วทุกมุมโลก

เราต้องการส่งสารไปยังประชาคมโลกว่า เราสามารถทำบางสิ่งได้ด้วยทรัพยากรและกำลังคนด้านเทคนิคของ [ประเทศ] เราเอง” Khimlal Gautam หัวหน้าเจ้าหน้าที่สำรวจของโครงการ กล่าวกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เมื่อปีที่แล้ว

จุดสูงสุดทางเทคโนโลยี

ในปี 1856 Radhanath Sickdhar นักคณิตศาสตร์ พบว่า เอเวอเรสต์เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในโลก ในขณะที่เขาทำงานให้กับ Great Trigonometrical Survey ซึ่งเป็นโครงการที่อุทิศให้กับการสำรวจและทำแผนที่อนุทวีปอินเดีย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การสำรวจอื่น ๆ พยายามหาความสูงที่แท้จริงของภูเขาลูกนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่ดีทีสุดในยุคนั้น

จนกระทั่งการถือกำเนิดของดาวเทียม นักสำรวจได้ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “กล้องสำรวจ” ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดแสงที่มีความแม่นยำ และติดตั้งอยู่บนขาตั้งกล้อง เพื่อวัดมุมระหว่างจุดที่กำหนดสองจุด ทีมสำรวจใช้วิธีวัดความสูงของเอเวอเรสต์จากระดับน้ำทะเล โดยเริ่มที่อ่าวเบงกอลไปทางเหนือจนกว่าจะเห็นยอดเขา

การสำรวจในปี 1954 โดยใช้เทคนิคที่คล้ายคลึงกัน ให้ผลการคำนวณว่า เอเวอเรสต์อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 8847.73 เมตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่หลายประเทศ และผู้ผลิตแผนที่ ใช้กันอย่างแพร่หลาย

จากนั้นในปี 1999 การสำรวจที่นำโดยนักทำแผนที่และนักสำรวจ Bradford Washburn ผู้ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ถือเป็นครั้งแรกที่ใช้เทคโนโลยี GPS ในการวัดยอดเขาเอเวอเรสต์ ผลลัพธ์ของทีมสามารถวัดความสูงได้ 8849.87 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทางสมาคมฯ ยังคงใช้อยู่จนกว่าจะสามารถตรวจสอบการวัดความสูงใหม่ได้อย่างสมบูรณ์

ไฟคาดหัวของนักปืนเขาก่อตัวเป็นเส้นทางไฟที่ทางเดินด้านข้างเขาเอเวอเรสต์ ภาพถ่ายโดย RENAN OZTURK, NATIONAL GEOGRAPHIC

การติดตั้งที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น

เพื่อให้การสำรวจครั้งใหม่สมบูรณ์ที่สุด ทีมเนปาลจึงตัดสินใจใช้ทั้งสองเทคนิค เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2019 Gautam ได้เดินขึ้นสู่จุดสูงสุดของเอเวอเรสต์พร้อมกับเพื่อนร่วมทีมสี่คน และติดตั้งเครื่องรับ GPS พร้อมกับเรดาร์ เพื่อวัดความลึกของหิมะที่กองอยู่ด้านบนของหิน ในขณะเดียวกันทีมนักสำรวจอีกทีมรออยู่ในสถานีอีกแปดแห่งที่มองเห็นยอดเขาเอเวอเรสต์ เพื่อกำหนดระดับความสูงในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งเป็นช่วงที่บรรยากาศปลอดโปร่งที่สุด ด้วยกล้องสำรวจแบบเลเซอร์อันทันสมัย

แต่หลังจากกรมการสำรวจของเนปาลทำงานภาคสนามเสร็จเมื่อปีที่แล้ว โครงการดังกล่าวก็ติดหล่มในการเมืองระหว่างประเทศ ระหว่างการเยือนประเทศเนปาลของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในเดือนตุลาคม 2019 เจ้าหน้าที่ประกาศว่า ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันสำรวจภูเขาอีกครั้ง เพื่อชะลอการเปิดเผยระดับความสูงใหม่ ทางการจีนกล่าวว่า ทีมนักสำรวจชาวจีนกำลังทำงานอยู่ทางด้านทิศเหนือของภูเขาในฤดูใบไม้ผลิ วัดความสูงของยอดเขาโดยใช้เครือข่ายดาวเทียม Beidou ของจีนซึ่งเป็นคู่แข่งกับระบบ GPS

ตอนนี้ผลประกาศออกมาแล้ว โดยตัวแทนจากทั้งสองประเทศแสดงความมั่นใจอย่างยิ่งต่อระดับความสูงใหม่ แต่ Gautam แสดงความคิดเห็นว่า ไม่ว่าจะแม่นยำแค่ไหน การสำรวจทุกครั้งก็มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยในการทำแผนที่เชิงสำรวจ เราไม่สามารถหาจุดหรือระดับความสูงที่แน่นอนได้” เขากล่าวและกล่าวปิดท้ายว่า “เรากำลังพยายามค้นหาค่า MPV: ค่าที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด (most probable value)


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พบไมโครพลาสติกบนยอดเอเวอเรสต์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.