ในขณะเดียวกัน ความหวังสุดท้ายของโลก วัคซีนโควิด-19 ก็เริ่มถูกทยอยฉีดให้บุคคลกลุ่มแรกในหลายประเทศทั่วโลก โดยใช้วัคซีนที่ผลิตจากบริษัทเอกชนชั้นนำของโลก แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยากล่าวว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนยังอยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล เท่ากับว่าศึกของมนุษยชาติครั้งนี้ยังไม่ใกล้สิ้นสุด
และความท้าทายต่อไปคือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนของประชากรโลก ที่ประชากรในประเทศยากจนอาจต้องรอวัคซีนไปอีกหลายปี
เมื่อเริ่มแรกของการระบาดโรคโควิด-19 เกิดขึ้นในประเทศจีน เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนสามารถถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้สำเร็จ และเผยแพร่ข้อมูลนี้ไปยังนานาประเทศ เพื่อเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาโรคอุบัติใหม่นี้
ในกระบวนการผลิตวัคซีนต้องเริ่มศึกษาชีววิทยาของเชื้อไวรัสก่อน และศึกษาหากลไกการติดเชื้อในร่างกายมนุษย์ และหาเป้าหมายของการติดเชื้อเพื่อหาแอนติเจน ลำดับขั้นตอนตั้งแต่พบโรคระบาด กระบวนการผลิตวัคซีน ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
การพัฒนาวัคซีนในระยะก่อนการศึกษาในคน (Pre-clinical phase)
การพัฒนาวัคซีนในระยะการศึกษาในคน (Clinical phase)
“กระบวนการต่างๆ ในการผลิตวัคซีนนั้น ย่อมใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี หรือส่วนใหญ่ใช้เวลามากกว่านั้น” ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยาและผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าว
ความน่าสนใจของวัคซีนต้านโควิด-19 คือใช้เวลาผลิตน้อยมาก เนื่องจาก ทั่วโลกมีฐานข้อมูลเรื่องไวรัสโคโรนาเดิมอยู่แล้ว (ไวรัสโคโรนาที่ก่อโรค SARS) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้ชิดกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อก่อโรคชนิดนี้อยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้การผลิตวัคซีนโควิด-19 สามารถย่นระยะเวลาได้เร็วขึ้น
โดยวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทยา 4 รายใหญ่ของโลกเป็นวัคซีน 2 ประเภทหลัง บริษัทผู้ผลิตคือ Pfizer-BioNTech จากประเทศสหรัฐอเมริกาและเยอรมัน และ Moderna จากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นวัคซีนประเภท mRNA Vaccines ในขณะที่ Gamaleya จากประเภทรัสเซียและ AstraZeneca-Oxford เป็นวัคซีนประเภท Viral Vector ความแตกต่างของวัคซีนประเภท mRNA Vaccines ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิติดลบ ในขณะที่วัคซีนประเภท Viral Vector สามารถเก็บรักษาในตู้เย็นปกติได้
ล่าสุด หลายประเทศได้เริ่มการฉีดวัคซีนต้านโควิด -19 ให้กับประชาชนในประเทศแล้ว แต่มีจุดที่น่าสังเกต คือหลายๆ บริษัทที่กำลังผลิตวัคซีนแจกจ่ายไปทั่วโลกในขณะนี้ กำลังเก็บผลการทดลองในเฟสที่ 3 ของการทดสอบระดับคลินิกวิทยาในมนุษย์ ดังนั้น ค่าตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีน อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เมื่อเก็บข้อมูลจากผู้รับวัคซีนมากขึ้น ดร.อนันต์ กล่าว
ในประเทศไทย สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องการผลิตวัคซีน และความปลอดภัยของการใช้วัคซีนในประเทศไทย และองค์การอาหารและยา หรือ อย. ทำหน้าที่ตรวจสอบวัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศว่า ผ่านมาตรฐานข้อกำหนดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังสามารถทดลองวัคซีนได้เพียงระดับสัตว์ทดลองเท่านั้น ไม่สามารถพัฒนาวัคซีนไปจนถึงระดับที่ทดลองในมนุษย์ได้ เนื่องจากไม่มีห้องปฏิบัติชีวนิรภัยที่ได้รับการรับรองในระดับสากล
นอกจากนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการใช้วัคซีนในประเทศ และเป็นผู้สนับสนุนด้านทุนวิจัยแก่นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการทดลองศึกษาเรื่องวัคซีน
“สำหรับเรื่องการนำเข้าวัคซีนมาในประเทศ เราสามารถทำได้ตลอด” ดร.อนันต์ กล่าวและเสริมว่า “เนื่องจากได้รับการรับรองจากองค์การอาหารของยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจึงสามารถยื่นเอกสารให้กับ อย. เพื่อนำเข้าวัคซีนเข้าประเทศได้โดยตรง”
นอกจากการนำเข้าวัคซีนที่ผลิตจากต่างประเทศเข้ามาโดยตรง ยังมีอีกอีกหลายรูปแบบในการจัดหาวัคซีนสำหรับคนไทยที่ทำได้ เช่น รัฐบาลไทยให้องค์การเภสัชกรรม (GPO) รับเทคโนโลยีผลิตวัคซีนจากต่างประเทศเข้ามาผลิตเองในประเทศไทย เนื่องจากองค์การเภสัชกรรมมีโรงงานและความสามารถเพียงพอที่จะทำได้ ราคาต้นทุนของวัคซีนก็จะถูกลงด้วยเช่นกัน
ดร.อนันต์ กล่าวว่า หลายคนมักเข้าใจผิดว่าหลังจากได้รับวัคซีนต้านโควิด -19 แล้ว จะไม่สามารถติดเชื้อได้เลย แต่ความจริงแล้ว วัคซีนที่โลกมีอยู่ปัจจุบัน ถือเป็นวัคซีนป้องกันโรค ไม่ใช่วัคซีนป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ คือช่วยให้ผู้ป่วยคนนั้นไม่เป็นโรครุนแรงในปอด หรือไม่มีอาการติดเชื้อรุนแรง แต่คนเหล่านี้ยังสามารถติดและแพร่กระจายไวรัสได้ เพียงแต่จะไม่แสดงอาการ ความน่ากังวลจึงตกเป็นของคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
“ความสำเร็จของวัคซีนจะเกิดขึ้นเมื่อประชากรร้อยละ 80 ในประเทศไทยได้รับวัคซีน และมีภูมิคุ้มกันของตัวเองแล้ว ถึงตอนนั้นจึงนับเป็นจุดหยุดการแพร่กระจายเชื้อ เพราะไม่ว่าไวรัสจะเข้าไปในร่างกายของใคร ทุกคนล้วนมีภูมิคุ้มกันหมด”
ไม่ใช่ทุกประเทศจะสามารถซื้อหาวัคซีนได้อย่างทั่วถึง รายงานล่าสุดระบุว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร ซึ่งมีประชากรเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 14 ของโลก สั่งซื้อและกักตุนวัคซันไปแล้วมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณที่ผลิตได้ในปัจจุบันที่ 7,400 ล้านโดส ในขณะที่ประเทศไทยสั่งซื้อ 26 ล้านโดส
หากประเทศไทยนำเข้าวัคซีนมาได้เพียง 26 ล้านโดส เท่ากับว่ามีประชากรเพียง 13 ล้านคนเท่านั้น ที่จะได้รับวัคซีน เนื่องจากแต่ละบุคคลควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 โดส และโดยหลักการในการใช้ หากไม่สามารถแจกจ่ายวัคซีนให้กับทุกคนได้ ประชากรกลุ่มเสี่ยงจะได้รับวัคซีนก่อน ซึ่งในกรณีนี้คือบุคลากรทางการแพทย์
นพ. นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวล่าสุดว่า ประเทศไทยน่าจะได้ใช้วีคซีนภายในกลางปี 2564 และในการได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงของประชากรไทยทุกคน น่าจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังค้นหาคำตอบคือ ภูมิคุ้มกันในตัวมนุษย์จากวัคซีนโควิด -19 จะคงอยู่นานแค่ไหน บางส่วนกล่าวว่าน่าจะคงอยู่ไม่นาน เพราะจากสถิติที่ผ่านมา พบอัตราการติดเชื้อซ้ำของผู้ป่วย ดังนั้นเท่ากับว่าเราอาจต้องฉีดวัคซีนเข้าไปสร้างภูมิคุ้มกันเรื่อยๆ จาก 2 จึงอาจกลายเป็น 3 หรือ 4 โดส
เพื่อให้ครอบคลุมและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพของประชากร 70 ล้านคนของไทย เราอาจต้องการวัคซีนมากกว่าหลายร้อยล้านโดส ดังนั้นคำถามต่อมาคือ ในประชากรกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อยและคนด้อยโอกาสที่ไม่มีกำลังเพียงพอจะจับจ่ายวัคซีน ภาครัฐจะมีมาตรการในการจัดการอย่างไร
ดร.อนันต์อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากปัจจุบันมีวัคซีนจากหลายบริษัทยาชั้นนำทั่วโลก หากรัฐบาลไทยและภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนจากต่างบริษัทกัน วัคซีนที่แตกต่างกันนั้นจะสามารถใช้ทดแทนหรือใช้ร่วมกันได้หรือไม่ หากนำมาใช้ร่วมกันจะทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาและวางกฎเกณฑ์มาตรการของ อย.
ในอนาคตหากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย องค์การอนามัยโลก (WHO) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดรูปแบบและวางมาตรฐานของวัคซีนจากแต่ละบริษัทให้อยู่ในระดับเดียวกัน รวมถึงจัดหาและแจกจ่ายวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศยากจน และในอนาคตหากโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ที่ต้องมีการฉีดวัคซีนทุกปีอย่างไข้หวัดใหญ่ องค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณสุขให้ทั่วโลกให้ร่วมกัน
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เมื่อโลกติดไวรัสโควิด-19: รายงานจากประเทศไทย