ฝนหิมะ (Sleet) หรือ “ฝนน้ำแข็ง” คือ หนึ่งในหยาดน้ำฟ้า (Precipitations) ที่มักปรากฏขึ้นในฤดูหนาว มีลักษณะเป็นก้อนน้ำแข็งกลมมนขนาดเล็ก ซึ่งก่อตัวขึ้นจากการผกผันของอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศโลกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนสถานะกลับไปมาของหยาดน้ำฟ้าอย่างรวดเร็ว ขณะลอยตัวอยู่ในอากาศเหนือพื้นดิน จากเกล็ดหิมะละลายกลายเป็นน้ำฝนและเย็นตัวลงจนเปลี่ยนสถานะกลับไปเป็นน้ำแข็งอีกครั้ง ก่อนตกลงสู่พื้นดิน “ฝนหิมะ” จึงมีคุณสมบัติแตกต่างจากหยาดน้ำฟ้าในฤดูหนาวอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นหิมะ (Snow) ลูกเห็บ (Hail) หรือฝนเยือกแข็ง (Freezing Rain)
ฝนหิมะก่อตัวขึ้นจากกระบวนการทางธรรมชาติเช่นเดียวกับหยาดน้ำฟ้าประเภทอื่น ๆ จากปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) ในชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งโดยปกติแล้ว อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) จะลดลงตามระดับความสูงเหนือพื้นดินในอัตรา 6.5 องศาเซลเซียสต่อความสูงทุก 1 กิโลเมตร แต่เมื่อเกิดการแทรกตัวของกระแสอากาศหรือมวลอากาศอุ่น (Warm Air Mass) ท่ามกลางมวลอากาศที่เย็นกว่าที่รายล้อมอยู่โดยรอบ ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ดังกล่าวหรือเกิดจากการเย็นตัวช้าลงของพื้นแผ่นดินในฤดูหนาว ต่างส่งผลให้ลำดับชั้นของอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ เกิดความแปรปรวนไปจากสภาวะปกติ
ฝนหิมะจึงก่อตัวขึ้นในสภาวะแวดล้อมเช่นนี้ที่ในชั้นบรรยากาศโลกมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่ทำให้อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศเย็นตัวลง จนก่อให้เกิดผลึกน้ำแข็ง (Ice Crystals) ที่รวมตัวกันเป็นหิมะตกลงมาจากก้อนเมฆทั้งหลายบนท้องฟ้า ซึ่งจะถูกละลายกลายเป็นหยาดน้ำหรือเม็ดฝน เมื่อปะทะเข้ากับชั้นของมวลอากาศอุ่นที่แทรกตัวอยู่อย่างไม่หนาแน่นนัก ทำให้หยาดน้ำหรือเม็ดฝนเหล่านี้ มีเวลาเย็นตัวลงและเปลี่ยนสถานะกลับไปเป็นก้อนน้ำแข็งอีกครั้ง เมื่อเคลื่อนตัวผ่านชั้นอากาศดังกล่าว เม็ดฝนที่ตกลงมาจึงกลายเป็นก้อนน้ำแข็งกลมมนที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ก่อนตกลงกระทบพื้นดิน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและผลลัพธ์ที่ได้ คือ เม็ดน้ำแข็งขนาดเล็กที่เรียกว่า “ฝนหิมะ” นั่นเอง
ทั้งฝนหิมะ (Sleet) และฝนเยือกแข็ง (Freezing Rain) ต่างเป็นหยาดน้ำฟ้าที่เกิดจากปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันเช่นเดียวกัน แตกต่างกันเพียงที่ในสภาวะซึ่งฝนเยือกแข็งก่อตัวขึ้น มวลอากาศอุ่นที่แทรกตัวอยู่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และหนาแน่น ทำให้น้ำฝนที่ตกลงมามีเวลาไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนสถานะกลับไปเป็นน้ำแข็งอีกครั้งก่อนตกถึงพื้นดิน ฝนเยือกแข็งจึงอยู่ในสถานะของเหลวจนกระทั่งตกลงกระทบพื้นดินหรือสัมผัสเข้ากับพื้นผิวของวัตถุที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เย็นจัด ซึ่งทำให้ฝนเยือกแข็งแข็งตัวกลายเป็นแผ่นน้ำแข็งที่เคลือบอยู่ตามพื้นผิวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิ่งไม้ พื้นถนน หรือป้ายโฆษณาตามท้องถนนนั่นเอง
ดังนั้น การตกลงมาของทั้งฝนหิมะและฝนเยือกแข็งจึงเป็นอันตรายต่อผู้สัญจรไปมาบนท้องถนนอย่างมาก โดยเฉพาะฝนเยือกแข็งที่จับตัวเป็นน้ำแข็งตามพื้นถนน หรือตามสะพานลอยและทางยกระดับต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่สูงขึ้นเหนือพื้นดิน เนื่องจากมวลอากาศเย็นที่รายล้อมสิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีส่วนเร่งให้ฝนเยือกแข็งที่ตกลงมากลายเป็นน้ำแข็งรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่ฝนหิมะซึ่งเป็นก้อนน้ำแข็งขนาดเล็กจะไม่เกาะตัวตามวัตถุหรือผิวสัมผัส แต่มักกระเด้งกระดอนเมื่อตกกระทบวัตถุต่าง ๆ จึงทำให้ผู้คนสังเกตอันตรายและหลบเลี่ยงจากมันได้ง่ายกว่า
นอกจากนี้ ฝนเยือกแข็งยังส่งผลต่อการรับน้ำหนักอย่างฉับพลันของกิ่งไม้ สายไฟ หรือ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ อีกด้วย ทั้งการหักโค่นของต้นไม้และเสาไฟฟ้า รวมไปถึงการพังทลายของหลังคาหรือสิ่งปลูกสร้างขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ตามพื้นที่กลางแจ้ง เป็นต้น
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ
National Geographic Society – https://www.nationalgeographic.org
National Oceanic and Atmospheric Administration – https://www.weather.gov
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) – https://www2.mtec.or.th
National Weather Service – https://www.metoffice.gov.uk