การเกิด ลูกเห็บ ก้อนน้ำแข็งที่ตกลงมาจากฟากฟ้า

การเกิด ลูกเห็บ ก้อนน้ำแข็งที่ตกลงมาจากฟากฟ้า

ลูกเห็บ (hails) เกิดจากอะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร

ลูกเห็บ มักเกิดขึ้นพร้อมพายุฝนฟ้าคะนอง และเมื่อตกลงมาจากฟ้าแล้ว ก็มักส่งผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือน พืชผลทางการเกษตร ยานพานะ และผู้คนอาจได้รับบาดเจ็บ

ลูกเห็บ เกิดจากมวลอากาศร้อนที่ลอยตัวสูงขึ้น และพัดพาเม็ดฝนลอยขึ้นไปปะทะกับมวลอากาศเย็นด้านบน มักเกิดขึ้นในเมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus clouds) จากนั้น เม็ดฝนจับตัวเป็นเม็ดน้ำแข็งซึ่งตกลงมาเจอมวลอากาศร้อนที่อยู่ด้านล่าง ความชื้นจะเข้าไปห่อหุ้มเม็ดน้ำแข็งให้เพิ่มขนาดใหญ่ขึ้น

เมฆ, เมฆฝน,
เมฆคิวมูโลนิมบัส

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง เมฆชนิดต่างๆ ในชั้นบรรยากาศ

จากนั้นกระแสลมก็พัดพาเม็ดน้ำแข็งวนซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้งระหว่างชั้นมวลอากาศร้อนและมวลอากาศเย็นภายในกลุ่มเมฆ จนกลายเป็นเม็ดน้ำแข็งมีน้ำหนักมากขึ้น และกระแสลมไม่สามารถพยุงไว้ได้จึงตกลงมายังพื้นดิน 

ลูกเห็บมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร หรือไม่เกิน 25 มิลลิเมตร เคยมีบันทึกลูกเห็บที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบันทึกของสหรัฐอเมริกา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ยาวถึง 8 นิ้ว และมีน้ำหนักเกือบหนึ่งกิโลกรัม พบที่เมืองวิเวียน รัฐเซาท์ดาโกทา ในปี 2010

หากเราลองหยิบลูกเห็บมาดู เราจะเห็นลักษณะภายในของลูกเห็บเป็นลักษณะวงชั้นของน้ำแข็งลักษณะคล้ายหัวหอม นั่นเพราะว่า เม็ดน้ำแข็งเกิดการเย็นตัวถึงจุดอุณหภูมิต่ำ มีการพัดพาของลมสัมผัสกับละอองน้ำในก้อนเมฆหลายครั้งทำให้เม็ดแข็งสะสมความชื้นที่ห่อหุ้มเม็ดน้ำแข็งไปเรื่อยๆ ทำให้น้ำแข็งมีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้น จำนวนชั้นของน้ำแข็งสามารถบอกได้ว่าลูกเห็บลูกนี้ถูกพัดวนขึ้นไปกี่ครั้ง

ลูกเห็บ, การเกิดลูกเห็บ
ภาพถ่าย pixabay

ส่วนใหญ่ ลูกเห็บเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดพายุฤดูร้อน เนื่องจากอากาศแปรปรวนในฤดูร้อน และเกิดขึ้นในแถบประเทศเขตร้อนมากกว่าเขตอบอุ่น และเขตหนาว 

อย่างไรก็ตาม ในเขตอบอุ่นและเขตหนาวก็มีสิ่งที่คล้ายกันตกลงมา นั่นคือหิมะ ซึ่งมีลักษณะเป็นเกล็ดน้ำแข็งเบาบาง เนื่องจากสภาพอากาศโดยรอบมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศา

หลายคนอาจสงสัยว่าลูกเห็บสามารถกินได้หรือไม่ เพราะลักษณะลูกเห็บเป็นเหมือนน้ำแข็ง แต่เมื่อพิจารณาแล้ว กระบวนการเกิดลูกเห็บที่เกิดขึ้นบนก้อนเมฆในชั้นบรรยากาศ ต้องเจอกับทั้งละอองฝุ่นและควันต่างๆ ซึ่งเป็นมลพิษในอากาศ ดังนั้น น้ำแข็งจึงมีการเจือปนของมลพิษ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน

สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.nstda.or.th/th/vdo-nstda/science-day-techno/4090-hail

https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/68148/-blo-sciear-sci-

JS100 Radio


อ่านเพิ่มเติม เรื่องการเกิดพายุ

พายุโซนร้อน

 

 

Recommend