เฟอร์เรตตีนดำ ได้รับการโคลนเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา

เซลล์ของ เฟอร์เรตตีนดำ จากตัวที่ตายไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ได้รับการโคลนขึ้นมาอีกครั้ง นับเป็นความหวังสำหรับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้

คุณอาจเคยได้ยินชื่อแกะชื่อ “ดอลลี” แต่วันนี้เราขอนำเสนอ “เอลิซาเบธ แอนน์” ซึ่งเป็น เฟอร์เรตตีนดำ

นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จการโคลนนิ่งเฟอร์เรตตีนดำ โดยใช้เซลล์ที่เก็บรักษาไว้เป็นเวลานานจากตัวที่ตายแล้ว นี่คือครั้งแรกที่ทำโคลนนิ่งสำเร็จกับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในสหรัฐฯ

ความก้าวหน้าครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการอนุรักษ์เฟอร์เรตตีนดำ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าพื้นเมืองชนิดเดียวในอเมริกาเหนือ สายพันธุ์นี้เคยถูกสำรวจพบในพื้นที่กว้างใหญ่ของอเมริกาตะวันตก แต่ในทศวรรษ 1970 พวกมันมีจำนวนลดน้อยลง เมื่อเกษตรกรและเจ้าของฟาร์มกำจัดอาหารหลักของพวกมันคือ แพรี ดอก พวกเขาคิดว่ามันสูญพันธุ์ไปแล้ว จนกระทั่งในปี 1981 สุนัขในฟาร์มปศุสัตว์นำนักวิทยาศาสตร์ไปยังครอบครัวของเฟร์เรต 18 ตัวในไวโอมิง

เฟอร์เรตที่รอดชีวิตเหล่านั้นกลายมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ในโครงการผสมพันธุ์ในกรงเลี้ยง ซึ่งบริหารจัดการโดยหน่วยบริการสัตว์ป่าและการประมงสหรัฐฯ ในรัฐโคโลราโด สัตว์ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้ถูกกระจายไปยังพื้นเพาะเลี้ยงในทุ่งหญ้า 8 แห่งทั่วรัฐ แต่มีเฟอร์เรตจากเจ็ดสถานที่เพาะเลี้ยง ที่ผสมพันธุ์กัน และประชากรที่มีชีวิตอยู่เป็นเครือญาติใกล้ชิดกันทั้งหมด ปัจจุบัน มีเฟอร์เรตตีนดำในธรรมชาติประมาณ 400 – 500 ตัว พีต ก็อบเบอร์ ผู้ประสานงานโครงการฟื้นฟูประชากรเฟอร์เรตตีนดำ กล่าว

การโคลนครั้งใหม่นี้เป็นการคัดลอกพันธุกรรมจากตัวเมียในธรรมชาติชื่อ วิลลา ซึ่งตายลงช่วงกลางทศวรรษ 1980 ในรัฐไวโอมิง และไม่มีทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่ เซลล์ของวิลลาได้รับการเก็บรักษาด้วยเทคนิคเยือกแข็งที่ Frozen Zoo ซึ่งเป็นโครงการของ San Diego Zoo Global ที่เก็บตัวอย่างจากสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์กว่า 1,100 ชนิดทั่วโลก นักวิจัยหวังว่าจะผสมพันธุ์เอลิซาเบธ แอนน์ และปล่อยกลับสู่ป่า เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมให้กับประชากรในธรรมชาติ

“พวกเราค่อนข้างตื่นเต้น และมีความสุขไปพร้อมกัน” ชอว์น วอล์กเกอร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ของ ViaGen Pets and Equine บริษัทโคลนสัตว์เลี้ยงส่วนบุคคล ที่ทำงานร่วมกับหน่วยบริการสัตว์ป่าและประมงสหรัฐฯ และกลุ่มอนุรักษ์เทคโนโลยีชีวภาพ Revive and Restore

ความสำเร็จนี้ชี้ให้เห็นว่าการโคลนนิ่งสามารถเป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ได้ ไรอัน ฟีแลน ผู้อำนวยการบริหารของ Revive and Restore กล่าว นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์เซลล์สัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย โอลิเวอร์ ไรเดอร์ ผู้อำนวยการด้านพันธุศาสตร์การอนุรักษ์ของสวนสัตว์ซานดิเอโก กล่าวเสริม.

เฟอร์เรตตีนดำต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยโรคระบาดซิลวาติก การติดเชื้อแบคทีเรียที่แพร่กระจายโดยหมัด ซึ่งเป็นภัยคุกคามหลักต่อความอยู่รอดของพวกมัน นักวิจัยหวังว่า ความหลากหลายทางพันธุกรรมที่เพิ่มขึ้นจะช่วยต้านทานเชื้อก่อโรคชนิดนี้ได้ ในอนาคต เราอาจเพิ่มทางเลือกโดยใช้เทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรม ฟีแลนกล่าว

กระบวนการโคลน

ขั้นตอนการโคลนเริ่มต้นด้วยการนำไข่จากเฟอร์เรตบ้านมาใช้เป็นเซลล์ตั้งต้น ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้ชิดกับเฟอร์เรตตีนดำ เมื่อไข่ที่สุกเต็มที่แล้วนักวิทยาศาสตร์จาก ViaGen ใช้ปิเปตดูดเอาสารพันธุกรรมและนิวเคลียสในเซลล์ไข่ออก จากนั้นนำสารพันธุกรรมของวิลลาใส่เข้าไปแทนที และกระตุ้นการแบ่งเซลล์ด้วยประจุไฟฟ้า เมื่อไข่แบ่งตัวจนได้ระยะเอมบริโอแล้วจึงปลูกถ่ายกลับเข้าไปในมดลูกของเฟอร์เรตบ้าน โดยเลือกเอมบริโอที่สมบูรณ์ที่สุดเพียงอันเดียว

โดยพื้นฐานแล้วการโคลนนิ่งครั้งนี้เป็นกระบวนการเดียวกันที่ใช้กับแกะดอลลีเมื่อ 25 ปีก่อน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรกที่โคลนจากเซลล์ตัวเต็มวัย แม้ว่าจะซับซ้อนกว่าเล็กน้อยเนื่องจากเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนสารพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งไปอีกชนิดหนึ่ง

นักวิทยาศาสตร์ เบน โนวัก จาก Revive and Restore เข้าเยี่ยมเอลิซาเบธ แอนน์ ที่ศูนย์อนุรักษ์เฟอร์เรตตีนดำ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้มันมีอายุได้สามสัปดาห์
ภาพถ่าย COURTESY REVIVE & RESTORE

เอลิซาเบธ แอนน์ เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่ศูนย์อนุรักษ์เฟอร์เรตตีนดำ รัฐโคโลราโด ชื่อเล่นนี้ไม่ได้ถูกเลือกด้วยเหตุผลเฉพาะใด ๆ แต่เป็นหนึ่งในรายการชื่อสัตว์ของศูนย์อนุรักษ์เฟอร์เรตตีนดำ ที่รวบรวมเพื่อตั้งชื่อสัตว์หลายชนิดที่เกิดที่นั่น

จนถึงขณะนี้ การวิเคราะห์สุขภาพในด้านต่างๆ แสดงให้เห็นว่าเฟอร์เรตน้อยมีสุขภาพดี และมันจะได้รับการเลี้ยงดูต่อไป นักวิทยาศาสตร์หวังว่ามันจะผสมพันธุ์ได้ในที่สุด หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ประชากรรุ่นต่อไปที่เกิดจากเอลิซาเบธอาจได้รับการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในปี 2024 หรือ 2025 เบน โนวัก นักวิทยาศาสตร์จาก Revive and Restore กล่าว

มีชีวิตเพื่อดำรงอยู่

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า พวกเขาไม่คาดหวังว่าจะเกิดผลกระทบเชิงลบ เมื่อปล่อยประชากรเฟอร์เรตตีนดำที่เกิดจากตัวแม่ที่มาจากกระบวนการโคลน เช่นเดียวกับเฟอร์เรตตีนดำที่ได้รับการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไปก่อนหน้านี้ ทุกตัวได้รับฝึกและปรับพฤติกรรมให้อยู่รอดในพื้นที่ธรรมชาติ ก็อบเบอร์กล่าวและเสริมว่า ที่นั่น เฟอร์เรตที่เคยอยู่ในกรงเลี้ยงต้องมีทักษะการล่าแพรรีด็อก และทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับเอาตัวรอด

ไรเดอร์กล่าวว่า เขาตื่นเต้นมากที่เซลล์จาก Frozen Zoo มีอายุยืนยาวกว่า 30 ปี และสามารถนำมาทำโคลนนิ่งได้ ย้อนกลับไปในช่วงปลายทศวรรษ 1980 เมื่อเขาแนะนำให้เก็บตัวอย่างจากผิวหนังของวิลลา เพื่อศึกษาสารพันธุกรรมของชนิดพันธุ์ เขาคิดว่าเซลล์ดังกล่าว ไม่สามารถใช้ในการโคลนนิ่งได้

ปัจจุบัน ประชากรเฟอร์เรตตีนดำที่อยู่ในธรรมชาติ เป็นสายเลือดที่ใกล้ชิดกัน หรือเป็นพี่น้อง หรือเป็นญาติกัน ยีนของวิลลา ซึ่งตอนนี้อยู่ในตัวของเอลิซาเบธ แอนน์ มีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่าสามเท่า การเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมสามารถช่วยให้สัตว์ผสมพันธุ์ได้ง่ายขึ้น และช่วยให้ร่างกายทนต่อเชื้อโรคและความเครียดทางสรีรวิทยา

“การขยายความหลากหลายของยีนให้กว้างขึ้น ดูเหมือนจะเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยรับประกันความยั่งยืนของสายพันธุ์ในระยะยาว” ไรเดอร์กล่าวปิดท้าย

เรื่อง ดักลาส เมน


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ค้นพบกิ้งก่าชนิดใหม่ ที่อาจเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่เล็กที่สุดในโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.