ดาวฤกษ์ขนาดใหญ่หายไป

การหายไปของดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ สร้างความประหลาดใจให้กับนักดาราศาสตร์ หรือเหตุการณ์นี้อาจสร้างความรู้ใหม่ที่เราเคยเรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของดาวฤกษ์

ภารกิจสำรวจดวงดาวด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ทางตอนใต้ของยุโรป (European Southern Observatory’s Very Large Telescope – VLT) นักดาราศาสตร์พบว่า “ดาวแปรแสงสีฟ้าที่สว่างมาก” (Luminous Blue Variables / LBVs) ใน “กาแล็กซีแคระคินแมน (Kinman Dwarf Galaxy)” หายไปจากการสำรวจ

ในช่วงปี 2001 ถึง 2011 นักดาราศาสตร์ได้เก็บข้อมูลสเปกตรัมของกาแล็กซีแคระคินแมน ที่อยู่ห่างจากโลกออกไป 75 ล้านปีแสง เนื่องจากกาแล็กซีนี้มีขนาดเล็กและอยู่ไกลมาก จึงไม่สามารถศึกษาดาวฤกษ์แต่ละดวงในที่อยู่ในกาแล็กซีนี้ได้ ทำได้เพียงศึกษาสเปกตรัมโดยรวมของทั้งกาแล็กซี แต่อย่างไรก็ตาม ดาวฤกษ์ที่สว่างมากและมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากดาวดวงอื่น จะปรากฏเอกลักษณ์อย่างเด่นชัดบนสเปกตรัมของกาแล็กซี

นักดาราศาสตร์พบว่าในกาแล็กซีนี้มีดาวฤกษ์ประเภท “ดาวแปรแสงสีฟ้าที่สว่างมาก” (Luminous Blue Variables / LBVs) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงระดับความสว่างอย่างมาก แต่ไม่มีคาบที่ชัดเจน สามารถสว่างได้มากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 2.5 ล้านเท่า และมีสเปกตรัมที่แตกต่างไปจากดาวฤกษ์สีฟ้าทั่ว ๆ ไป

ภาพถ่ายกาแล็กซี PHL 293B หรือกาแล็กซีแคระคินแมน
ภาพถ่าย : NASA, ESA / Hubble, J. Andrews)

จนกระทั่งปี 2019 นักดาราศาสตร์ตรวจวัดสเปกรัมของกาแล็กซีนี้อีกครั้ง และพบว่าสเปกตรัมของดาวแปรแสงสีฟ้าดวงนี้หายไป ราวกลับว่าไม่เคยมีดาวดวงนี้มาก่อน ในขณะที่สเปกตรัมของดาวฤกษ์ยักษ์น้ำเงินดวงอื่น ๆ ยังคงปรากฏอยู่ ซึ่งเมื่อพิจารณาวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ประเภทนี้ จุดจบของมันควรจะระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาที่สว่างมาก ๆ แล้วจึงจะจางหายไป คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับดาวดวงนี้

นักดาราศาสตร์จึงตั้งสมมติฐานกับเรื่องนี้ไว้ 2 ประเด็นคือ 1. ดาวฤกษ์สว่างน้อยลงและถูกฝุ่นอวกาศบดบังบางส่วน และ 2. เกิดการยุยตัวของดวงดาวในหลุมดำโดยไม่ก่อให้เกิดปรากฏารณ์ซูเปอร์โนวา “ถ้าเป็นจริง” ตามขอสมมติฐานนี้ “นี่จะเป็นการสำรวจพบครั้งแรกว่า ดาวฤกษ์ดับไปด้วยลักษณะเช่นนี้” หัวหน้าทีมสำรวจและนักศึกษาปริญญาเอก แอนดรูว์ อัลแลน จากวิทยาลัยทรินิตีดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ กล่าว

เนื่องจากนักดาราศาสตร์ไม่สามารถศึกษาดาวฤกษ์ดวงนี้ได้โดยตรง จึงมีความเป็นไปได้ว่าดาวฤกษ์อาจระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม สมมติฐานนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะกาแล็กซีแคระคินแมนมักจะถูกสังเกตการณ์อยู่เป็นประจำ ดังนั้น หากเกิดซูเปอร์โนวาไปแล้วจริง ๆ จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะไม่มีใครสังเกตเห็นเลย

แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้เป็นเพียงการสังเกตการณ์ดาวฤกษ์ทางอ้อมเท่านั้น ยังไม่สามารถสังเกตการณ์โดยตรงได้เนื่องจากกาแล็กอยู่ห่างไกลจากเรามาก จึงจำเป็นจะต้องศึกษาดาวฤกษ์ประเภทนี้โดยละเอียดมากขึ้น และจำเป็นจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถศึกษาดาวฤกษ์ประเภทนี้ได้โดยตรง ซึ่งหากสมมติฐานข้างต้นเป็นจริง บทเรียนที่เคยเรียนมาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของดาวฤกษ์อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลง


ข้อมูลอ้างอิง
https://www.bbc.com/news/science-environment-53235909
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/1566-big-stars-disappeared
https://scitechdaily.com/a-cosmic-mystery-disappearance-of-a-massive-star-surprises-astronomers/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ดาวฤกษ์ ดวงดาวที่ส่องประกายประดับนภาราตรี

ท้องฟ้ายามราตรีที่ดาษดื่นด้วยเหล่าดารา
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.