คืนอบอุ่นกลางเดือนตุลาคม ฉันขับรถวนไปตามทางขึ้นหอดูดาวแมกคอร์มิกของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ในภารกิจไขความลี้ลับที่ค้างคาใจมานานว่า ทำไมชาวโลกจึงหมกมุ่นกับ ดาวอังคาร ได้ขนาดนี้
โดมหอดูดาวบนยอดเขาเปิดอยู่ เห็นเป็นเสี้ยวสีอำพันในความมืดของฤดูใบไม้ร่วง ภายในโดมมีกล้องโทรทรรศน์ที่จะช่วยให้ฉันเห็นดาวอังคารอย่างที่ปรากฏแก่ผู้สังเกตเมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษมาแล้ว ครั้งที่นักดาราศาสตร์ ผู้กระตือรือร้นใช้กล้องนี้เมื่อปี 1877 เพื่อยืนยันการค้นพบดวงจันทร์จิ๋วสองดวงของดาวอังคาร ได้แก่ โฟบอส และดีมอส
คืนนี้นักดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย เอ็ด เมอร์ฟี ขึ้นมาที่หอดูดาวเป็นกรณีพิเศษ เพราะหอดูดาว ปิดเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 จังหวะการโคจรของดาวเคราะห์ต่างๆ ทำให้ขณะนี้ดาวอังคารอยู่ในตำแหน่ง ที่ใหญ่และสว่างที่สุดบนท้องฟ้า และเมอร์ฟีก็คำนวณแล้วว่า ช่วงนี้เป็นเวลาที่ดีที่สุดสำหรับดู ดาวอังคาร จากตอนกลางของรัฐเวอร์จิเนีย ที่ซึ่งอากาศปั่นป่วนสามารถทำให้การสังเกตท้องฟ้ายามค่ำคืนเป็นเรื่องยุ่งยาก
เขาปีนบันไดขึ้นไปยังฐานสังเกตการณ์ซึ่งเป็นนั่งร้านไม้สร้างมาตั้งแต่ปี 1885 เขาหมุนกล้องโทรทรรศน์ยักษ์ไปหาจุดสีส้มสว่างแจ่มจ้า ปรับปุ่มหมุนเพื่อดึงภาพดาวเคราะห์ให้ชัด “รอหลายอึดใจหน่อยนะครับ รอช่วงบรรยากาศนิ่ง แล้วคุณจะเห็นดาวอังคารที่คมชัดจริงๆ… ก่อนที่มันจะมัวลงอีก” เมอร์ฟีพูดผ่านหน้ากากอนามัยลายอวกาศ
เราสลับที่กัน เมื่อมองจากกล้องโทรทรรศน์ ดาวอังคารเป็นลูกกลมสีชมพูหัวกลับที่เดี๋ยวชัดเดี๋ยวไม่ชัด ฉันร่างภาพมืดๆ ของดาวอังคารอย่างไม่สู้จะเต็มใจนักในช่วงไม่กี่อึดใจที่ภาพคมชัด พยายามอย่างที่สุดที่จะสวมวิญญาณนักวิชาการในสมัยศตวรรษที่ 19 ผู้เคยทำแผนที่ภูมิทัศน์ของดาวดวงนี้ บางคนถึงกับปักใจเชื่อว่า ภาพต่างพิภพนั้นประทับไว้ด้วยเครื่องหมายบ่งบอกถึงอารยธรรมล้ำยุค
ทุกวันนี้เรารู้ว่า ไม่มีร่องรอยหรือเส้นสายของงานวิศวกรรมมหึมาทาบทับกันไปมาบนพื้นผิวสีชาดของ ดาวอังคาร แต่นั่นไม่สำคัญจริงๆ หรอก ความสนใจที่มนุษย์มีต่อดาวอังคารนั้นไร้กาลเวลา ตลอดหลายสหัสวรรษ เราเข้าถึงดาวอังคารด้วยการยกให้เป็นเทพเจ้า บันทึกการเคลื่อนที่ของดาว และทำแผนที่พื้นผิวที่มองเห็น เราใส่ดาวอังคารในศิลปะ บทเพลง วรรณคดี และภาพยนตร์ ตั้งแต่เริ่มยุคอวกาศ เราเหวี่ยงสิ่งประดิษฐ์กว่า 50 ชิ้นซึ่งเป็นความมหัศจรรย์ทางวิศวกรรม มูลค่ารวมหลายพันล้านดอลลาร์ เข้าใส่ดาวอังคาร หลายชิ้นล้มเหลวโดยเฉพาะในช่วงแรกๆ แต่ความคลั่งไคล้ในดาวอังคารของเรายังคงดำเนินต่อไป
ตอนฉันพบเมอร์ฟีเมื่อเดือนตุลาคม ยานอวกาศแปดลำกำลังปฏิบัติภารกิจในวงโคจรรอบดาวอังคาร หรือสำรวจพื้นผิวเปื้อนฝุ่นของมัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ขณะบทความนี้ตีพิมพ์ ทูตในร่างยานหุ่นยนต์อีกสามลำ ก็มีกำหนดไปบรรจบกับดาวเคราะห์แดง รวมทั้งรถสำรวจคันใหญ่ขององค์การนาซาชื่อ เพอร์เซอเวียแรนซ์ ที่มุ่งค้นหา ชีวิต กับภารกิจที่มีศักยภาพในการสร้างประวัติศาสตร์อีกสองลำจากจีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
แต่ ทำไมล่ะ ในบรรดาพิภพที่เรารู้จัก ดาวอังคารไม่มีอะไรสุดยอดสักอย่าง มันไม่ได้สว่างที่สุด ใกล้ที่สุด เล็กที่สุด หรือแม้แต่ไปง่ายที่สุด มันไม่ลึกลับเท่าดาวศุกร์ ไม่ได้มีลวดลายน่าทึ่งเหมือนดาวพฤหัสบดีผู้พราวสี หรือดาวเสาร์ที่มีวงแหวน หรือถ้าพูดถึงสถานที่ซึ่งน่าจะเจอชีวิตต่างพิภพ ก็เถียงได้ว่าดาวอังคารไม่ใช่อยู่ดี ต้องยกให้บรรดาดวงจันทร์น้ำแข็งของระบบสุริยะชั้นนอกต่างหาก
เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ว่า ทำไมดาวอังคารจึงเป็นเป้าหมายที่เร้าใจนั้นซับซ้อนและพัฒนาไปเรื่อยๆ ผลักดันด้วยคลังภาพและข้อมูลจากบรรดายานโคจรรอบ ยานลงจอด และรถสำรวจ ดาวอังคารเป็นปริศนาตลอดกาล เป็นสถานที่ซึ่งเราคิดว่าใกล้จะรู้ความลับของมันเต็มทีแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้สักที “นี่คือการค้นพบ ซึ่งกำลังเผยตัวยาวนานที่สุดเรื่องหนึ่งในโลก” แคทริน เดนนิง นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยยอร์ก บอก “เป็นความระทึกใจไม่สิ้นสุดจริงๆ ค่ะ”
และเหตุผลที่ดาวอังคารยังติดตรึงอยู่ในจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยอาจเรียบง่ายอย่างร้ายกาจ กล่าวคือ แม้เมื่อภาพหรือความเข้าใจในดาวอังคารของเราจะคมชัดขึ้นตามกาลเวลา เราก็ยังสามารถนึกภาพตัวเราบนนั้น ได้ง่ายๆ ไปสร้างบ้านใหม่ที่พ้นไปจากข้อจำกัดของโลก “มันว่างเปล่าและคุ้นตามากพอก็เท่านั้นเอง” เดนนิงกล่าว
ด้วยภาพของดาวอังคารซึ่งร่างหยาบๆ ในมือ ฉันคิดถึงช่วงเวลาหลายทศวรรษที่เราไล่ตามมนุษย์ดาวอังคาร เหล่าจุลชีพ และนิคมตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคโบราณ ตลอดจนหนทางที่ความคลั่งไคล้ในดาวอังคารหวนกลับมาใหม่ ได้ทุกครั้งหลังความล้มเหลว ในเวลาเดียวกัน ฉันรู้จักนักวิทยาศาสตร์หลายคนผู้พร้อมที่่จะหอบความฝันและ ยานหุ่นยนต์ของเราไปยังจุดหมายที่แสนจะน่าสนใจไกลออกไปในระบบสุริยะ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ต้องจัดสรร ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและเผชิญการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่า เราจะทิ้งดาวอังคารที่แสนจะดึงดูด ได้จริงๆ หรือ
ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ดาวอังคารได้กลายเป็นเพื่อนบ้านที่คุ้นเคย ด้วยภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงได้ และความหวังที่ยังวนเวียนอยู่ว่าจะมีผู้อยู่อาศัยบนนั้นข้อมูลจากการสังเกตในเวลาต่อมาเผยว่า พืดนํ้าแข็งบนขั้วดาวอังคารหดและขยายได้ตามฤดูกาล ฉาบเป็นเงามืดที่คืบเข้าหาเส้นศูนย์สูตร นักวิทยาศาสตร์ในทศวรรษ 1950 บางคนคิดว่า พื้นที่สีคลํ้าเหล่านั้นอาจเป็นพืชพรรณที่งอกงามและแห้งตาย ทฤษฎีของพวกเขาได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำ
ความคึกคักในวงการวิทยาศาสตร์เป็นเชื้อไฟให้แก่งานเขียนเชิงจินตนาการมากมาย ตั้งแต่ สงครามล้างพิภพ (War of the Worlds) ของ เอช. จี. เวลส์ ไปจนถึง บันทึกชาวอังคาร (Martian Chronicles) ของเรย์ แบรดเบอรี
“ก่อนที่เราจะสำรวจดาวอังคารกันจริง ๆ ยุคก่อนทศวรรษ 1960 เป็นช่วงที่จินตนาการเราบรรเจิดกันมาก” แอนดี เวียร์ ผู้แต่งเรื่อง ชาวดาวอังคาร (The Martian) บอกและเสริมว่า “นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อาจบอกได้ว่าผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับดาวอังคารเลยสักอย่าง ผมเลยจะพูดอะไรก็ได้ที่อยากพูดเกี่ยวกับดาวอังคาร”
กระทั่งปี 1965 ยานมารีเนอร์ 4 ขององค์การนาซาบินผ่านดาวเคราะห์แดง และถ่ายภาพขาวดำระยะใกล้ชุดแรกของพื้นผิวดาวอังคาร เป็นภาพหยาบ ๆ ของภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาต ความแล้งไร้ของดาวเคราะห์ที่ได้เห็นกันในที่สุดกลายเป็นความผิดหวังอย่างยิ่ง แต่ไม่นาน ความคิดเรื่องชีวิตบนดาวอังคารก็จุดประกายขึ้นใหม่ในจินตนาการของมนุษย์
ทว่าหากจะมีอะไรสักอย่าง ดาวอังคารได้สอนมนุษยชาติว่า เรามักตกเป็นเหยื่อของความคิดโลกสวยเกี่ยวกับชีวิตบนพื้นผิวดาวอังคาร จากคลองและพืชพรรณ ไปจนถึงการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนว่าด้วยเรื่องร่องรอยซากดึกดำบรรพ์ในอุกกาบาตดาวอังคาร ดาวเคราะห์แดงเหยียบยํ่าความหวังของเราด้วยความเป็นจริงอันมืดมนซํ้าแล้วซํ้าเล่า
ถ้าอย่างนั้น ทำไมเราจึงยังจะส่งยานอวกาศอีกลำหนึ่งไปค้นหาชีวิตบนดาวอังคารกันอีก แถมไม่ใช่จุลินทรีย์ที่มีชีวิตอยู่วันนี้ด้วยซํ้า แต่ไปหาร่องรอยของจุลินทรีย์ที่อาจเคยมีชุกชุมเมื่อหลายพันล้านปีก่อน แต่ภูมิประเทศดึกดำบรรพ์ยังคงอยู่ที่นั่น เป็นบันทึกวัยเยาว์ของดาวเคราะห์ และยุคสมัยที่เคยมีชีวิตคลาคลํ่าในช่วงที่ชุ่มชื้นกว่านี้ ล้อมรอบด้วยบรรยากาศที่หนากว่านี้
“เรารู้ว่าไม่มีคลอง เรารู้ว่าพีระมิดบนดาวอังคารไม่มีจริง ไม่มีอารยธรรมต่างดาว ไม่มีถ้วยโถโอชามอะไรเลย” แคบรอล นาตาลี แคบรอล จากสถาบันเซติ (SETI Institute) ผู้ศึกษาดาวอังคารมาหลายทศวรรษ กล่าว แต่ถ้าเราพบสารอินทรีย์ต้นกำเนิดชีวิตกระจายตัวบนพื้นผิวดาวอังคารตรงนั้น เราอาจได้เรียนรู้บางอย่างเกี่ยวกับวิวัฒนาการของชีวิตบนฝั่งทะเลที่เป็นหินในทุกที่ รวมทั้งในโลกด้วย
แล้วถ้ารถเพอร์เซอเวียแรนซ์ไม่พบหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ดาวอังคาร หรือแม้แต่ร่องรอยว่าสถานที่อย่างหลุมอุกกาบาตเจเซอโรอาจเคยเป็นที่อาศัยของชีวิต เราจะสามารถเลิกหวังเสียทีว่ามีชีวิตอยู่บนดาวอังคารได้แน่หรือ – คงไม่
เดวิด กรินสปูน นักวิทยาศาสตร์อาวุโสแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ ยอมรับและเสริมว่า “มันยากมากที่จะล้มเลิกความคิดที่ว่า ดาวอังคารใช้วิธีอะไรสักอย่างซ่อนชีวิตไม่ให้เราเห็น เป็นความคิดที่ฝังแน่นมากครับ” ในแง่หนึ่ง ความดื้อรั้นนี้อาจบอกชัดมากถึงความปรารถนาในมิตรภาพของเรา การต้องรู้ให้ได้ว่าเราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในเอกภพ โดยมากมนุษย์จำเป็นต้องพึ่งมนุษย์คนอื่นเพื่อการอยู่รอด และเราอาจหวังให้นี่เป็นความจริงในระดับดาวเคราะห์ด้วย
“พวกเราไม่ใช่เผ่าพันธุ์รักสันโดษ” เวียร์บอก “ในระดับที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า เรา หมายถึงมนุษยชาตินะครับ เราไม่อยากอยู่เพียงลำพังครับ”
เรื่อง นาเดีย เดรก
ภาพถ่าย เครก คัตเลอร์ และ สเปนเซอร์ โลเวลล์
สามารถติดตามสารคดี ทำไมเราจึงหลงใหลดาวอังคาร ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2564