เจาะลึกโควิด-19 สายพันธุ์ เดลตา ไวรัสสุดอันตรายที่ทั่วโลกยากจะรับมือ

รายงานฉบับใหม่เผยว่ามีเพียงการได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบสองโดส จึงสามารถป้องกันไวรัสโควิด – 19 สายพันธุ์ เดลตา ซึ่งกำลังระบาดอย่างหนักในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอีกหลายสิบประเทศได้

ประชากรในสหรัฐฯ ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบสองโดส เพียงร้อยละ 48 ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ต่างดิ้นรนจัดหาวัคซีน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณะสุขต่างกังวลว่า โควิด – 19 สายพันธุ์ เดลตา ซึ่งอันตรายที่สุดและแพร่ระบาดได้เร็วที่สุดในขณะนี้ จะทำให้มีผู้ที่ติดเชื้อและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก

โควิด-19 สายพันธุ์ เดลตา ตรวจพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และแพร่ระบาดภายทั้งในและนอกประเทศ มากกว่า 90 ประเทศ โดยพบผู้ติดเชื้อมากในอินเดีย สหราชอาณาจักร รัสเซีย อิสราเอล สิงคโปร์ และอีกกว่า 12 ประเทศ

สายพันธุ์เดลตามีอัตราการแพร่กระจายมากกว่าสายพันธุ์อัลฟา ที่มีการตรวจพบครั้งแรกในอังกฤษ มากถึงร้อยละ 60 “นี่เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว มันเป็นปัญหามากเลยละครับ” เอริก โทโพล ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของสถาบัน  Scripps Research Translational Institute (SRTI) ในแคลิฟอร์เนีย กล่าว

สายพันธุ์เดลตามีคุณสมบัติในการหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ได้ “นอกจากนี้ มันยังมีอัตราการแพร่ระบาดที่สูงที่สุดเท่าที่เราเคยพบเจอมา มันรวมคุณสมบัติที่แย่ ๆ มาไว้บนพันธุกรรมครับ” เขากล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทางด้านวัคซีน บ่งชี้ว่าการได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบสองโดส ยังมีประสิทธิภาพป้องกันความเจ็บป่วยจากการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา งานวิจัยระบุว่าวัคซีนที่มีเทคโนโลยี mRNA ทั้งโมเดอร์นาและไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ดูเหมือนจะป้องกันไวรัสสายพันธุ์นี้ได้ ถึงแม้ว่าจะป้องกันได้ไม่ดีเท่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้

บุคลากรทางการแพทย์สวมชุดป้องกันเดินผ่านตู่ปลอดเชื้อในส่วนรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาล Mariinsky เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2021 PHOTOGRAPH BY OLGA MALTSEVA, AFP VIA GETTY IMAGES

งานศึกษาอื่นๆ ระบุว่า ผู้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าและไฟเซอร์ฯ ครบสองโดสมีอัตราการป้องกันอาการป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ร้อยละ 60 และ 88 ตามลำดับ ตามข้อมูลจาก แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อและภูมิแพ้แห่งชาติ สหรัฐฯ 

อย่างไรก็ตาม การได้รับวัคซีนประเภท mRNA เพียงโดสเดียว หรือมีประวัติการติดเชื้อตามธรรมชาติก่อนหน้า แทบไม่สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ จากงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Nature

ประสิทธิผลของวัคซีนที่ป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ลดลง ไฟเซอร์ฯ จึงมีแผนขออนุมัติการฉีดวัคซีนเพิ่มเพื่อเป็นบูสต์เตอร์การสร้างภูมิคุ้มกัน และทางไฟเซอร์ฯ ได้ประกาศว่า พวกเขาได้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายเพื่อรับมือสายพันธุ์เดลตาโดยเฉพาะ คาดว่าจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการทดสอบทางคลินิกในเดือนสิงหาคมนี้

 “ข้อสรุปเพียงอย่างเดียวที่เป็นเหตุเป็นผลมากที่สุดในขณะนี้ คือได้โปรดออกไปรับวัคซีนเถอะครับ มันจะช่วยคุณในการต่อต้านไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่กำลังแพร่กระจายเพิ่มขึ้นขณะนี้” เฟาซี กล่าว

เหตุใดไวรัสสายพันธุ์เดลตาจึงน่ากลัว

ไวรัสที่แพร่กระจายอย่างอิสระ โดยเฉพาะไวรัสโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ ที่ถอดรหัสพันธุกรรมโดยใช้โมเลกุลของ RNA จะกลายพันธุ์ได้บ่อยครั้ง และไร้รูปแบบ (randomly) เนื่องจากความผิดปกติในกระบวนการจำลองตัวของไวรัสที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในเซลล์มนุษย์ การกลายพันธุ์บางแบบทำให้ไวรัสสามารถหลบเลี่ยงแอนติบอดี และเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าจับกับเซลล์โดยที่ไม่รู้ตัว

เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์โน้มตัวไปหาหญิงคนหนึ่งที่เป็นลมหลังจากเห็นการเก็บตัวอย่างจากจมูกของสามีเพื่อนำไปทดสอบหาโรคเชื้อราดำ (Black Fungus) ในห้องไอซียูที่โรงพยาบาลของรัฐในเมืองอัมบิคาเพอร์ รัฐฉัตติสครห์ (Chhattisgarh) ประเทศอินเดีย ภาพถ่ายโดย HARSHA VADLAMANI

ความสำเร็จในประสิทธิภาพของไวรัสโควิด -19 สายพันธุ์เดลตา คือการรวมกันของการกลายพันธุ์ (collection of mutations) บนสไปก์โปรตีนที่ปกคลุมผิวของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 การกลายพันธุ์นี้ได้เปลี่ยนสไปก์โปรตีนจนทำให้แอนติบอดีในร่างกายมนุษย์ ไม่สามารถเข้าจับกับไวรัสได้อย่างแข็งแรง มาร์คัส ฮอฟฟ์แมนน์ นักชีววิทยาโรคติดเชื้อ สถาบันวิจัยสัตว์ไพรเมทไลบ์นิซแห่งเยอรมนี กล่าว

สายพันธ์เดลตาได้กลายพันธุ์สไปก์โปรตีน โดยเปลี่ยนวิธีปฏิสัมพันธ์กับโปรตีนตัวรับ ACE2 (the ACE2 receptor protein) ซึ่งพบได้ในพื้นผิวของปอดและเซลล์อื่นๆ ของมนุษย์ และเป็นช่องทางการบุกรุกเข้าไปในในเซลล์ การกลายพันธุ์นี้ทำให้ไวรัสมีความสามารถในการกระจายตัวได้มากขึ้น และแพร่ไปยังกลุ่มประชากรต่างๆ เมฮุล สุธา นักภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งศูนย์วัคซีนอีโมรี (Emory Vaccine Center) กล่าว 

หากการกลายพันธุ์ทำให้ไวรัสมีความสามารถในการขยายพันธุ์ การกลายพันธุ์จะมีแนวโน้มที่จะพัฒนาตัวเองอย่างอิสระในจุดต่าง ๆ ของโลก และการกลายพันธุ์รูปแบบนี้เองที่เป็นปัจจัยให้ไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายไปทั่วโลก

นอกเหนือไปจากการกลายพันธุ์แล้ว งานวิจัยที่ศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้ว่า ส่วนหนามด้านนอกของไวรัสสายพันธุ์เดลตาทำให้ตัวไวรัสสามารถหนีแอนติบอดีที่ยับยั้งการเพิ่มจํานวนของไวรัส (neutralizing antibodies) ที่อ่อนแอได้ การกลายพันธุ์นี้พบได้อย่างแพร่หลายในสายพันธุ์ที่พบในสหรัฐอเมริกา แม็กซิโก และยุโรปนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2021 เป็นต้นมา

เจ้าหน้าที่สวมชุดป้องกันกำลังพักผ่อนหลังจากฝังร่างผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในเมืองบันดุง จังหวัดชวาตะวันตก อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2021 PHOTOGRAPH BY ANTARA FOTO, RAISAN AL FARISI, VIA REUTERS

วัคซีนที่อ่อนประสิทธิภาพลงต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ในขณะที่วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพต้านอาการรุนแรงและการรักษาในโรงพยาบาลจากไวรัสสายพันธุ์อัลฟาและเบตา ประสิทธิภาพดังกล่าวกลับลดลงในสายพันธุ์เดลตา ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 1 หรือ 2 โดส สร้างแอนติบอดีเพื่อรับมือการสายพันธุ์เดลตาได้ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟาและเบตา 

เช่นเดียวกับงานศึกษาหนึ่งที่เผยว่า การได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบสองโดส มีประสิทธิภาพในการต้านอาการป่วยที่เกิดจากสายพันธุ์เดลตาที่ร้อยละ 88 ซึ่งเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟาจะอยู่ที่ร้อยละ 93 การได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าครบสองโดสก็มีประสิทธิภาพต้านอาการป่วยจากสายพันธุ์อัลฟาที่ร้อยละ 66 แต่ต้านอาการจากสายพันธุ์เดลตาได้เพียงร้อยละ 60 เท่านั้น 

ทว่า การได้รับวัคซีนทั้งสองยี่ห้อดังกล่าวเพียงโดสเดียว มีประสิทธิภาพในการต้านอาการป่วยจากสายพันธุ์อัลฟาที่ร้อยละ 51 และต้านอาการป่วยจากสายพันธุ์เดลตาที่ร้อยละ 33 ประสิทธิภาพดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกากำหนดไว้สำหรับการกำหนดค่าความปลอดภัยขั้นต่ำของวัคซีนโควิด-19 ที่ร้อยละ 50 ซึ่งหมายความว่า วัคซีนควรป้องกันได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของผู้ที่ได้รับวัคซีนจากการมีอาการป่วยที่เกิดจากโรคติดเชื้อโควิด-19

อย่างไรก็ตาม การได้รับวัคซีนเพียงอย่างเดียวสามารถชะลอโรคติดต่อโดยการเพิ่มภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ซึ่งจนกว่าจะถึงจุดนั้น มาตรการป้องกันตัวเองเช่นการรักษาระยะห่างทางสังคม และการใส่หน้ากากอนามัยยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการลดการแพร่กระจายของไวรัสชนิดนี้

เรื่อง ซานจัย มิชรา


อ่านเพิ่มเติม การระบาดโรคโควิด-19 ระลอกที่สองในอินเดีย กลายการระบาดที่รุนแรงที่สุดในโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.