โควิด-19 ส่งผลร้ายต่อสมองของเราอย่างไร

นักวิจัยพบว่า แม้แต่ผู้ที่มีอาการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงสามารถมีอาการที่ถึงขั้นเปลี่ยนชีวิต หรือส่งผลให้ความสามารถในการรับรู้ของสมองเสื่อมสภาพลงไปได้

ฮันนาห์ เดวิส ชาวนิวยอร์ก อายุ 32 ปี ได้รับเชื้อโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม 2020 อันเป็นช่วงแรกของการระบาด แต่อาการของเธอไม่ได้เป็นไข้หรือไอ แต่กลับเป็นการที่เธออ่านข้อความที่เพื่อนส่งมาไม่ได้ มึนงงสับสน และนอนไม่หลับ จากนั้นจึงมีภาวะปวดศีรษะฉับพลัน และมีอาการสมาธิสั้นจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การทำอาหาร หรือเดินข้ามถนนได้

เดวิสเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนราวร้อยละ 30 ที่มีอาการทางประสาทหรืออาการทางจิตเวช จากการประเมินของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) สหรัฐอเมริกา โดยปัญหาความสามารถในการรับรู้นี้สามารถเรื้อรังได้เป็นหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากเริ่มได้รับเชื้อ

เมื่อปี 2020 โรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาได้เปิดคลินิกผู้ป่วยที่เคยติดโรคโควิด-19 (Post-COVID clinics) เพื่อรักษาผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่มีอาการร้ายแรงที่แม้จะผ่านการรักษามาแล้วแต่ร่างกายยังมีผลกระทบจากการติดเชื้ออยู่ อย่างไรก็ตาม คลินิกเหล่านี้เต็มไปด้วยผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลแต่มีอาการต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งอาการนี้รวมไปถึงภาวะสมองล้าและปัญหาด้านการรับรู้

ผู้ชมสวมหน้ากากป้องกันเพื่อชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ที่ลองบีช แคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 ภาพถ่ายโดย BING GUAN, BLOOMBERG, GETTY IMAGES

“เราคาดว่าผู้ที่เคยรักษาอยู่ในห้องไอซียูจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนานมากๆ แต่ก็น่าแปลกใจอย่างยิ่งว่าผู้ที่ไม่เคยรักษาในโรงพยาบาลก็มีปัญหาอาการเหล่านี้เป็นเวลานานเช่นเดียวกันครับ” วอลเตอร์ โคโรเชตซ์ ผู้อำนวยการสถาบันความผิดปกติด้านประสาทวิทยาและหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งสถาบันสุขภาพแห่งชาติ กล่าว เขากำลังพยายามทำการศึกษาเพื่อหาคำอธิบายในทางชีววิทยาว่าเหตุใดอาหารเหล่านี้ถึงยังไม่ดีขึ้นแม้จะผ่านเวลามานานนับเดือน

สิ่งที่ยังคลุมเครืออยู่ในขณะนี้คือ มีผู้คนที่สามารถหายจากอาการนี้ได้ในที่สุดเป็นจำนวนเท่าไหร่ และคนที่ยังคงมีอาการที่เกิดในระยะยาวมีมากน้อยเพียงไหน

หนึ่งปีครึ่งถัดมา เดวิสทำงานได้เพียง 2-3 ชั่วโมงต่อวันเนื่องจากอาการสมองล้า สูญเสียความทรงจำระยะสั้น และปัญหาด้านการรับรู้อื่นๆ เธอได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการ post-viral dysautonomia หรือความผิดปกติทางด้านระบบประสาทที่ก่อให้เกิดอาการวิงเวียน หัวใจเต้น หายใจหอบถี่ในตอนลุกขึ้นจากท่านอนหรือท่านั่ง ซึ่งบางครั้งต้องรักษาด้วยการให้ยาฟลูโดรคอร์ติโซน (Fludrocortisone), ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาไมโดดรีน (Midodrine) ที่ใช้ลดความดันเลือด

“ฉันไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อนในชีวิต” ดาวิสกล่าวและเสริมว่า “ร่างกายของคุณจะรู้สึกว่ามันจวนจะแตกสลาย และสูญเสียการรับรู้ของตัวเอง”

ภาพเอ็มบริโอมนุษย์ที่มีแค่แปดเซลล์ฉายอยู่ด้านหลังโจแอนนา วีซอกกา ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาพัฒนาการที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด วีซอกกากับเพื่อนร่วมงานค้นพบว่า เรโทรไวรัสที่ฝังตัวในมนุษย์ อันเป็นลำดับทางพันธุกรรมที่ได้จากการติดเชื้อไวรัสยุคโบราณ จะทำงานในช่วงขั้นตอนพัฒนาการนี้และผลิตโปรตีน วีซอกกาเชื่อว่ายีนที่รู้จักในชื่อ เฮิร์ฟ-เค ปกป้องเอ็มบริโอจากการติดเชื้อไวรัส และช่วยควบคุมพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้

การทดสอบทางเชาวน์ปัญญาแห่งบริเตนใหญ่

ก่อนที่จะเกิดภาวะโรคระบาด ทีประเทศอังกฤษ อดัม แฮมเชียร์ นักประสาทวิทยาศาสตร์เชิงปัญญา (cognitive neuroscientist) และเพื่อนร่วมงานของเขาที่ราชวิทยาลัยลอนดอน (Imperial College London) เตรียมวางแผนจัดทำการสำรวจระดับชาติที่ชื่อว่า การทดสอบทางเชาวน์ปัญญาแห่งบริเตนใหญ่ (Great British Intelligence Test) เพื่อทำความเข้าใจว่าปัจจัยเช่นอายุ การดื่มแอลกอฮอล์ อาชีพ มีผลต่อความสามารถทางปัญญาอย่างไร ซึ่งเมื่อเกิดภาวการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พวกเขาจึงเพิ่มปัจจัยการติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมาด้วย

จากจำนวนผู้ที่ทำแบบทดสอบกว่า 81,000 คน ในช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม 2020 มี 13,000 คนที่มีรายงานว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีอาการในระดับกลางไปจนถึงรุนแรง ผลการทดสอบเปิดเผยว่าพวกเขามีปัญหาทางกระบวนการรับรู้และการคิดมากกว่าผู้ที่ไม่เคยมีอาการทรมานจากโควิด-19

“ในแง่มุมที่เลวร้ายที่สุด ผู้ที่รักษาที่โรงพยาบาลและได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจแสดงถึงความสามารถทางการพูดได้ต่ำเยอะมากๆ ครับ” แฮมเชียร์กล่าว

โดยคนเหล่านี้มีปัญหาในเรื่องการให้เหตุผล การคิดแก้ปัญหา การวางแผนในแบบทดสอบ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้คนที่อยู่ในช่วงอายุเดียวกัน ภูมิหลังทางการศึกษาเดียวกัน แต่ไม่ได้เข้ารับรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งการถดถอยทางปัญญาโดยเฉลี่ยเปรียบได้กับการลดอายุทางปัญญาไป 10 ปี ผลศึกษานี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม

เจสัน เชปเพิร์ด นักประสาทวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยยูทาห์ ถือภาพถ่ายจากการสร้างภาพสามมิติของแคปซูลโปรตีนคล้ายไวรัสที่มีบทบาทสำคัญต่อการรับรู้และความทรงจำ สัตว์บก มีกระดูกสันหลังได้รับยีน เออาร์ซี ซึ่งมีรหัสคำสั่งสร้างความอัศจรรย์ดังกล่าว จากบรรพบุรุษคล้ายไวรัสเมื่อราว 400 ล้านปีก่อน แคปซูลซึ่งดูคล้ายแคปซิดที่หุ้มจีโนมไวรัสนี้ส่งข้อมูลทางพันธุกรรมระหว่างเซลล์ประสาทในสมองมนุษย์ เช่นเดียวกับสมองสัตว์ชนิดอื่นๆอีกมาก (ภาพถ่าย: ซีมอน เอร์เลนด์ซอน, MRC LABORATORY OF MOLECULAR BIOLOGY)

โดยผู้ที่เคยรักษาในห้องไอซียูนั้นจะมีปัญหาด้านการรับรู้ที่ยาวนานกว่า โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีอาการระบบหายใจล้มเหลวจะมีอาการคล้ายกับสมองที่ได้รับบาดเจ็บ และการรักษาในห้องไอซียูซึ่งผู้ป่วยจะไม่ได้ขยับตัวและต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ สภาวะดังกล่าวจะก่อให้เกิดภาวะสับสนเฉียบพลัน (delirium) หรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะในจิตใจที่ก่อให้เกิดความสับสนและงุนงง ซึ่งอาจมีอาการได้เป็นชั่วโมง วัน หรือสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ภาวะอยู่นิ่งเนื่องจากการรักษาก็ไม่ได้เป็นสาเหตุที่อธิบายถึงผลกระทบที่มีต่อระบบประสาทและการรับรู้ของผู้ป่วยโควิด-19 ได้ทั้งหมด เนื่องจากยังมีผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเช่นเดวิส ที่มีอาการเช่นเดียวกัน

กลไกทางชีววิทยา

หากเชื้อ SARS-CoV-2 ไม่ได้ส่งผลต่อเซลล์สมอง แล้วมันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมองได้อย่างไร? ในขณะนี้มีสมมติฐานหลักๆ อยู่สองประการ

สมมติฐานแรกคือการติดเชื้อนั้นก่อให้เกิดการอักเสบในสมอง ผู้ป่วยโควิด-19 บางคนมีอาการไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) หรือสมองบวม ซึ่งก่อให้เกิดการสับสนงุนงงและเห็นภาพซ้อน ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจก่อให้เกิดปัญหาการพูด ได้ยิน หรือมองเห็น ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยก็อาจมีปัญหาทางด้านการรับรู้ที่รุนแรงขึ้น โดยไวรัสเช่น เวสต์ไนล์ (West Nile Virus) หรือไวรัสซิกาสามารถก่อให้เกิดอาการไข้สมองอักเสบโดยการที่เชื้อติดต่อไปเซลล์สมองโดยตรง แต่การที่เชื้อโควิด-19 ก่อให้เกิดการอักเสบในสมองได้อย่างไร ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน

สมมติฐานข้อที่สองก็คือ เชื้อโควิด-19 อาจยับยั้งการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนหล่อเลี้ยงที่ไปยังสมอง โดยผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโควิด-19 นักวิจัยพบหลักฐานว่าเนื้อเยื่อสมองนั้นเสียหายเนื่องจากภาวะ hypoxia หรือการพร่องออกซิเจน

“สมองเป็นอวัยวะที่ต้องการออกซิเจนในการทำงานของมันมากๆ” Billie Schultz แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งคลินิกมาโยในรัฐมินนิโซตา ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูจากโรคหลอดเลือดสมองและการบาดเจ็บที่สมอง กล่าว

ยังมีอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมาทั้งการเจ็บปวด เหนื่อยล้า การหายใจสั้น ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ด้วยเช่นกัน Schultz กล่าว “มันไม่ใช่เพียงอาการทางสมอง แต่เป็นภาวะอาการของทั้งร่างกายที่เราควรกล่าวถึงครับ”

ภาพแรงงานอพยพรอรถไฟอยู่ด้านนอกสถานีเพื่อกลับภูมิลำเนา ที่สถานีโลกมันยาติลักษณ์ ในมุมไบ ประเทศอินเดีย ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2021 ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเกรงว่าการกลับภูมิลำเนาจำนวนมากนี้จะเร่งการระบาดของโรค ในพื้นที่ที่มีอุปกรณ์การการแพทย์ไม่เพียงพอ ภาพโดย อะตุล โล้ก (ATUL LOKE) นิวยอร์กไทมส์

วิกฤตการณ์ทางสุขภาพถัดไป

Schultz หวังว่าผู้ที่มีปัญหาทางด้านการรับรู้เนื่องจากโควิด-19 จะมีอาการที่ดีขึ้น หลายคนที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองภาวะสมองบาดเจ็บจะสามารถหายได้เองโดยธรรมชาติ จากกระบวนการเยียวยาตัวเองของสมองภายในสามถึงหกเดือน

แต่ยังมีผู้ที่กังวลว่าอาการทางด้านการรับรู้ที่เกิดจากโควิด-19 อาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้ จากการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บรรดานักวิทยาศาสตร์นำเสนองานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาพยาบาลมีตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในเลือด (blood biomarkers) การเสื่อมของระบบประสาท (neurodegeneration) และการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นงานวิจัยยังไม่ได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ (peer-review)

ฮีเธอร์ สไนเดอร์ รองประธานด้านความสัมพันธ์ทางการแพทย์กับวิทยาศาสตร์แห่งสมาคมโรคอัลไซเมอร์เตือนว่า ผลการศึกษานี้ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าผู้ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 จะมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์หรืออาการสมองเสื่อมประเภทอื่นๆ เสมอไป “เรากำลังพยายามทำความเข้าใจความเชื่อมโยงเหล่านี้” เธอกล่าว

ในขณะนี้ ยังไม่มีการรักษาแบบเจาะจงต่อภาวะสมองล้าที่เกิดจากโรคโควิด-19 การสูญเสียความทรงจำ หรือผลกระทบด้านการรับรู้อื่นๆ อย่างไรก็ตาม แพทย์ได้ใช้วิธีการบำบัดทางความคิด กิจกรรมบำบัด หรือการแก้ไขทางการพูด (cognitive therapy, occupational therapy, or speech-language pathology ) เพื่อรักษาอาการเหล่านี้ มีหลายการศึกษา เช่นเดียวกับงานศึกษาหนึ่งโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐที่พยายามทำความเข้าใจถึงความผิดปกติในกลไกและการรับรู้ที่ซ่อนอยู่ในผู้ป่วยโควิด-19 ในระยะยาวและความหวังในการรักษาที่มีโอกาสได้ผล

เรื่อง EMILY MULLIN


อ่านเพิ่มเติม โรคระบาด จะจบลงได้อย่างไร

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.