โรคระบาด จะจบลงได้อย่างไร

โรคระบาด จะจบลงได้อย่างไร

คำตอบที่ว่า โรคระบาด จะจบลงได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งอาจเป็นภาวะที่สำคัญในธรรมชาติของวิกฤตบนโลก

หลังจากผ่านช่วงเวลาหลายเดือนที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น แต่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นทำให้แสงแห่งความหวังปลายอุโมงค์ที่จะได้เห็นการสิ้นสุดของ โรคระบาด นี้กลับมาริบหรี่อีกครั้ง

ในช่วงเดือนพฤษภาคม จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งในสหรัฐฯ บางส่วนในยุโรป และตะวันออกกลางลดลงเรื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ทำให้มีการออกมาตรการผ่อนคลายการเว้นระห่างทางสังคม การเดินทาง และธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง

ทว่าเรื่องน่ายินดีดังกลับเป็นช่วงเวลาแสนสั้น ในช่วงเดือนกรกฎาคม อย่างน้อยในสหรัฐฯ อัตราการฉีดวัคซีนเริ่มหยุดนิ่ง จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ ทำให้มีคำแนะนำการใส่หน้ากากและเรียกร้องให้ประชาชนออกไปฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น

องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้โรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นโรคระบาดระดับโลกในวันที่ 11 มีนาคม 2020 หลังจากผ่านช่วงเวลา 17 เดือนแห่งความวุ่นวาย ทำให้ผู้คนจำนวนมากเกิดความสงสัยว่า “เมื่อไหร่ที่ โรคระบาด นี้จะสิ้นสุดลง”

“แม้แต่ในชุมชนวิทยาศาสตร์เองก็มีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป” Rachael Piltch-Loeb นักวิจัยแห่งคณะแพทยศาสตร์ ที.เอช. ชาน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวและเสริมว่า “มันไม่มีคำนิยามหนึ่งเดียวว่าการสิ้นสุดของ โรคระบาด คืออะไรค่ะ”

“จนกว่าที่ไวรัสนี้สามารถถูกควบคุมหรือจำกัดการระบาดได้ในระดับโลก มันก็ไม่ได้หายไปไหน” Piltch-Loeb กล่าว นั่นหมายความว่าการประกาศว่าโรคระบาดนี้ ‘สิ้นสุด’ ไปแล้วยังคงเป็นเป้าหมายที่ห่างไกลออกไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ต่างกัน และขึ้นอยู่กับการนิยามของแต่ละคน

โรคระบาด, หน้ากากอนามัย
ที่เมืองลอสแองเจลิส แคลิฟอร์เนีย ได้มีการกำหนดให้ผู้คนสวมหน้ากากในพื้นที่นอกอาคารสาธารณะ ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนแล้วหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ภาพถ่ายโดย FRANCINE ORR, LOS ANGELES TIMES VIA GETTY IMAGE

แล้วโรคร้ายจะไปไหนต่อ

เมื่อการระบาดในระดับโลกสามารถอยู่ภายใต้การควบคุมการระบาดในระดับท้องถิ่น โรคนั้นจะไม่เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) แต่จะกลายเป็นโรคระบาด (Epidemic) ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก และถ้าหากโรคติดเชื้อโควิด-19 ปรากฎอยู่ในระดับที่คาดการณ์ได้หรือในระดับที่ปกติ ทางองค์การฯ จะกำหนดให้โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic)

โดยในระยะนี้ โรค SARS-CoV-2 จะกลายเป็นไวรัสที่ “แพร่กระจายต่อเนื่องได้น้อยลงหากเรามีการสร้างภูมิคุ้มกัน” Saad Omer นักระบาดวิทยาและผู้อำนวยการแห่งสถาบันเยลด้านสุขภาวะโลก (Yale Institute for Global Health) กล่าว

ตามประวัติศาสตร์ มีเพียงสองโรคระบาดที่ส่งผลต่อมนุษย์และสัตว์ที่ได้รับการบันทึกว่าได้ถูกกำจัดไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ได้แก่ ไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ และ โรครินเดอร์เปสต์ (Rinderpest) ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสในปศุสัตว์ กระบือบ้าน และสัตว์ป่าบางสปีชีส์ อันเป็นผลมาจากการรณรงค์ฉีดวัคซีนเพื่อหยุดการติดเชื้อใหม่ๆ โดยผู้ป่วยที่ได้รับยืนยันว่าติดโรครินเดอร์เปสต์ครั้งสุดท้ายพบในประเทศเคนยาเมื่อปี 2001 และผู้ป่วยโรคฝีดาษคนสุดท้ายพบในประเทศอังกฤษเมื่อปี 1978

อย่างไรก็ตาม Joshua Epstein ศาตราจารย์ด้านระบาดวิทยาในคณะสุขภาวะโลกแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กเห็นว่าการถูกกำจัดโดยสิ้นเชิงดังกล่าวนั้นเป็นไปได้ยาก และโรคระบาดเหล่านั้น “เพียงแค่ถอยกลับไปที่แหล่งกำเนิดโรคในสัตว์ และกลายพันธุ์ในระดับต่ำเท่านั้น” เขากล่าวและเสริมว่า “แต่โรคเหล่านั้นไม่ได้หายไปจากชีวนิเวศโลกแต่อย่างใด”

โรงภาพยนตร์, หน้ากาอนามัย
ผู้ชมสวมหน้ากากป้องกันเพื่อชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ที่ลองบีช แคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 ภาพถ่ายโดย BING GUAN, BLOOMBERG, GETTY IMAGES

โรคระบาดระดับโลกที่เคยระบาดหนักในอดีตยังคงแพร่กระจายอยู่บนโลกจนทุกวันนี้ มีผู้คนมากกว่า 3,000 คนที่ติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (Bubonic Plague)  และกาฬโรคปอด (pneumonic plague) ในระหว่างปี 2010 และ 2015 ตามการรายงานขององค์การอนามัยโลก และไวรัสไข้หวัดใหญ่ในช่วงปี 1918 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกและคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก ก็ได้กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่มีความอันตรายน้อยลง และไวรัสที่สืบทอดมาต่อได้กลายเป็นไวรัสสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

เมื่อเปรียบเทียบกับไข้หวัดใหญ่ในช่วงปี 1918 ไวรัส SARS-CoV-2 จะยังคงกลายพันธุ์ต่อไป และระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะต้องปรับตัวเพื่อป้องกัน แต่ระหว่างนี้ก็มีผู้คนจำนวนมากที่ต้องล้มป่วยและเสียชีวิตไป “พัฒนาการของระบบภูมิคุ้มกันเป็นเรื่องที่ยากและไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่เราควรคาดหวังครับ” Omer กล่าว

การค้นหาวิธีการชะลอการแพร่กระจายของโรคและการจัดการผลกระทบ อย่างน้อยเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด ผู้เชี่ยวชาญกล่าว ในทุกวันนี้ ยกตัวอย่างเช่น การควบคุมศัตรูพืชและแนวปฏิบัติสุขอาณามัยขั้นสูงสามารถป้องกันกาฬโรคได้ ในขณะที่โรคอื่นๆ สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ

ในส่วนของโรคอื่นๆ เช่นไข้หวัดใหญ่ วัคซีนสามารถสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไปได้ การมีอยู่ของวัคซีนโควิด-19 นั้นเป็นเรื่องที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายความว่าการที่มีผู้คนได้รับวัคซีนที่เพียงพอสามารถยุติการแพร่ระบาดนี้ได้รวดเร็วและมีอัตราการตายที่ลดลงได้

แอปเปิลสโตร์
ลูกค้าสวมหน้ากากเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ในขณะที่รอรับการบริการในร้าน Apple store ในซานตา โมนิกา แคลิฟอร์เนีย ภาพถ่ายโดย GENARO MOLINA, LOS ANGELES TIMES, GETTY IMAGES

เหตุผลที่เราทุกคนต้องการวัคซีน

ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายของการให้วัคซีนประชากรทุกประเทศบนโลกให้ได้ร้อยละ 10 ภายในเดือนกันยายน 2021 และตั้งหมายสูงสุดที่อัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกจะอยู่ที่ร้อยละ 40 ภายในสิ้นปี 2021 และถึงร้อยละ 70 ภายในกลางปี 2022

อย่างไรก็ตาม ในทุกวันนี้มีประชากรโลกเพียงร้อยละ 28 ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 เข็ม และการกระจายวัคซีนทั่วโลกยังเป็นไปแบบไม่เท่าเทียมอย่างมาก สหภาพยุโรปมีประชากรได้รับสิทธิการฉัดวัคซีนราว 3 ใน 4 ที่ได้รับวัคซีนเพียงแค่บางส่วน ด้านสหรัฐอเมริกามีอัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชากรที่มีอายุ 12 ปี ขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 68

ทว่า ในประเทศอื่นๆ ยังมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโควิด-19 อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซีย อินเดีย และอีกหลายประเทศในแอฟริกา ซึ่งกำลังดำเนินการในระดับที่ล่าช้า เป็นผลมาจากโครงการโคแวกซ์ โครงการที่สนับสนุนโดยองค์การสหประชาชาติที่มุ่งกระจายวัคซีนไปทั่วโลก กำลังอยู่ในภาวะที่ต้องดิ้นรนเพื่อได้รับและส่งต่อวัคซีนไปยังบรรดาประเทศที่ยากจน เมื่อช่วงต้นเดือน องค์การอานามัยได้ออกมาเรียกร้องให้ประเทศที่ร่ำรวยบริจาควัคซีนไปยังประเทศที่ยากจนกว่าก่อนที่จะดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster shot) ให้กับประชากรของประเทศตนเอง

เนื่องจากโอกาสในการแพร่กระจายและกลายพันธุ์ ไวรัสได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ที่ไม่เพียงแค่ติดต่อได้ง่ายขึ้น แต่ยังจำกัดได้ยากขึ้นอีกด้วย ไวรัสสายพันธุ์เดลตายังคงเป็นสายพันธุ์ที่มีการติดต่อและตรวจพบได้มากที่สุดในตอนนี้ ซึ่งยังมีการระบาดอย่างรุนแรงเช่นในประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่เผยว่าไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดาอาจจะมีคุณบัติต้านวัคซีนบางชนิดได้อีกด้วย

โรคระบาด, ตรวจโควิด, บุคลากรทางการแพทย์
บุคลากรทางสาธารณสุขดำเนินการตรวจโควิด-19 แบบไดร์ฟทรูในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส ภาพถ่ายโดย CALLAGHAN O’HARE, BLOOMBERG VIA GETTY IMAGES

แล้วใครจะบอกได้ว่าโรคระบาดนั้นสิ้นสุดลงแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกทางเลือกหนึ่ง ที่บรรดานักวิทยาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า “ผู้คนจะตัดสินเองว่าโรคระบาดได้สิ้นสุดลงแล้ว ก่อนที่ร่างกายของเราจะประกาศว่าเป็นเช่นนั้น”

กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เมื่อไข้หวัดปี 1918 ได้ซ้ำเติมภาวะสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเมื่อสงครามสิ้นสุด ก็ได้มี  “ความรู้สึกที่ต้องการเอาช่วงเวลาทั้งทศวรรษนี้ไปจบลงที่เตียงและโอบรับอนาคตใหม่ๆ” Naomi Rogers ศาสตรจารย์ด้านประวัติศาสตร์การแพทย์และประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล กล่าว สาธารณชนในช่วงนั้นต่างเข้าสู่ทศวรรษ 1920 ที่สนุกสุดเหวี่ยง (Roaring Twenties) แม้ว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวยังคงแพร่ระบาดในหมู่ประชากรสหรัฐฯ

หากสังคมพยายามที่จะประกาศการสิ้นสุดของโรคระบาดก่อนวิทยาศาสตร์ เราจะต้องยอมรับผลลัพธ์อันโหดร้าย รวมไปถึงความตาย นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในภาวะโรคระบาดต่างๆ ในอดีต ไข้หวัดดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นโรคระบาดระดับโรคอีกต่อไปเนื่องจากมันได้เป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว อย่างไรก็ตาม มีจำนวนประชากรสหรัฐฯ ระหว่าง 12,000 – 61,000 คนที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปี จากการคาดการณ์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC)

หากเราสามารถลดจำนวนการเสียชีวิตลงในระดับหนึ่งและเริ่มต้นชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง เราก็สามารถกล่าวได้ว่าโรคระบาดนั้น ‘สิ้นสุด’ ลงแล้ว Jagpreet Chhatwal นักวิทยาการตัดสินใจ (decision scientist) แห่งสถาบันโรงพยาบาลกลางแมสซาชูเซตส์เพื่อการประเมินเทคโนโลยี (the Massachusetts General Hospital Institute for Technology Assessment) ในนครบอสตัน กล่าว และขอย้ำอีกครั้งว่า วัคซีนนั้นสามารถสร้างความแตกต่างได้ การเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในสหรัฐฯ นั้นลดลงมากพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูง

โดยปกติแล้ว ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ จะออกแนวปฏิบัติเมื่อโรคระบาดไปเปลี่ยนมายังสถานะการเป็นโรคประจำถิ่นในสหรัฐฯ Piltch-Loeb กล่าว ซึ่งหมายการเปลี่ยนวิถีชีวิตกลับมายังรูปแบบที่ปกติบางส่วน โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงการประกาศในระดับโลก

“เราต่างต้องการกลับไปมีชีวิตในแบบช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ” Andrew Azman นักระบาดวิทยาแห่งคณะสาธาณสุข จอนส์ ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ กล่าวและเสริมว่า “ซึ่งเราไม่ต้องรอใช้คำกล่าวขององค์การอนามัยโลกว่าโรคระบาดนั้นสิ้นสุดแล้วมาบอกก่อนหรอกครับ”

เรื่อง JILLIAN KRAMER


อ่านเพิ่มเติม เจาะลึกโควิด-19 สายพันธุ์ เดลตา ไวรัสสุดอันตรายที่ทั่วโลกยากจะรับมือ

Recommend