ปริศนาในการสืบหาที่มาของ โควิด-19 คืออะไร

การสืบสวนที่มาของ โควิด-19 ภายใน 90 วันแสดงให้เห็นว่าไวรัสไม่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้น แต่ข้อมูลส่วนอื่นยังคงเป็นปริศนา

หลังจากการระบาดมาเกือบ 2 ปี ผู้ติดเชื้อกว่า 219 ล้านเคส และผู้เสียชีวิตกว่าสี่ล้านคนทั่วโลก เราได้เรียนรู้กี่ยวกับโรคติดเชื้อโควิด-19 มากมาย แต่ยังมีคำถามที่สามารถพลิกมุมมองของเราและเป็นคำถามที่สำคัญว่า: ที่มาของโควิด-19 มาจากไหน

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสิ้นสุดการสอบสวนโดยหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาจากคำสั่งของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ต้องสืบค้นต้นตอของไวรัสให้ได้ใน 90 วัน กลับพบกับผลลัพธ์ที่ว่างเปล่า ผลสรุปการสอบสวนความยาว 1 หน้ากระดาษ ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมาระบุว่ไวรัสนั้น “ไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพือเป็นอาวุธชีวภาพ”

การทำความเข้าใจว่าโรคระบาดนี้เริ่มต้นที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องการเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคต หากพบว่าไวรัสมีที่มาจากค้างคาวหรือสัตว์ชนิดอื่นดังที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนมากได้กล่าวไว้ ก็จะมีการกำหนดมาตรการในการเข้าใกล้สัตว์เหล่านั้นของมนุษย์ และอาจจะมีการห้ามให้มนุษย์บุกรุกพื้นป่าซึ่งได้รับการระบุเป็นพื้นที่เสี่ยง

หรือถ้าเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ ก็อาจจะมีการห้ามล่าสัตว์หรือค้าขายสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายได้ และถ้าหากเป็นการรั่วไหลจากห้องทดลอง ผลการสืบสวนที่ออกมาจะเป็นข้อมูลในการกำหนดมาตรการที่ปลอดภัยในการศึกษาเชื้อไวรัสเหล่านี้

บุคลากรทางการแพทย์สวมชุดป้องกันเดินผ่านตู่ปลอดเชื้อในส่วนรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาล Mariinsky เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2021 PHOTOGRAPH BY OLGA MALTSEVA, AFP VIA GETTY IMAGES

หลักฐานแบบใดที่นักสืบไวรัสต้องการ

การตามรอยต้นกำเนิดของไวรัสเป็นงานที่ต้องมีการลงพื้นที่อย่างหนัก การตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ละเอียด และอาศัยโชคเล็กน้อย ความพยายามอุตสาหะนี้อาจใช้เวลานานหลายปีกว่าที่นักวิทยาศาสตร์จะค้นพบหลักฐานซึ่งชี้ไปยังแหล่งกำเนิดที่พวกเขาต้องการ

ในกรณีที่เป็นโรคที่เกิดจากสัตว์ โดยปกติ หลักฐานที่บ่งชี้คือผลพันธุกรรมที่ตรงกันระหว่างไวรัสที่ได้มาจากสัตว์กับไวรัสที่ได้มาจากผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้วคนแรก ซึ่งอาจจะไม่ตรงกันแบบ 100 เปอร์เซ็นต์เนื่องจากไวรัสอาจมีกลายการพันธุ์ แต่ควรจะใกล้เคียงที่ 100 เปอร์เซ็นต์ให้ได้มากที่สุด

สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับเรื่องราวจุดเริ่มต้นของโควิด-19 ในขณะนี้

หนึ่งในความแตกต่างที่สำคัญจากการระบาดของโรคซาร์สและโรคเมอร์สในอดีตคือนักวิทยาศาสตร์สามารถระบุสัตว์ที่มาของไวรัสได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน แต่สำหรับโควิด-19 แล้ว ความเชื่อมโยงไปสู่ที่มาของไวรัสยังเป็นปริศนา

ในเดือนธันวาคม ปี 2019 ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 คนแรกๆ ในเมืองอู่ฮั่นมีรายงานว่าเป็นผู้ที่ขายของอยู่ในตลาด Huanan ที่มีการขายสัตว์ป่าและสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์ม เช่น แบดเจอร์ จิ้งจอกแร็กคูน ชะมด กระต่าย ค้างคาว งู และจระเข้

ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคม 2020 เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของจีนได้รวบรวมตัวอย่างเชื้อที่อยู่ตามพื้นที่และสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในตลาด และพบว่ามี 73 ตัวอย่างที่พบผลบวกของเชื้อ SARS-CoV-2

เจ้าหน้าที่สวมชุดป้องกันกำลังพักผ่อนหลังจากฝังร่างผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในเมืองบันดุง จังหวัดชวาตะวันตก อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2021 PHOTOGRAPH BY ANTARA FOTO, RAISAN AL FARISI, VIA REUTERS

อย่างไรก็ตาม ได้มีการเก็บตัวอย่างของเชื้อไวรัสที่มีลักษณะเหมือน SARS-CoV-2 ตามพื้นต่างๆ ของจีน เช่นตัวลิ่นที่ลักลอบนำเข้ามาในประเทศจีนที่มณฑลยูนนาน รวมไปถึงค้างคาที่อยู่ในถ้ำของมณฑลยูนนาน

นอกจากนี้  มีนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบไวรัสที่มีความคล้ายคลึงกับ SARS-CoV-2 นอกประเทศจีน เช่นค้างคาวที่พบประเทศกัมพูชาที่เป็นตัวอย่างที่พบเมื่อปี 2010 และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์มีการพบไวรัสโคโรนาที่ชื่อว่า RacCS203 ในค้างคาวที่พบที่จังหวัดฉะเขิงเทรา ประเทศไทย แต่ค่าความตรงกันของพันธุกรรมไวรัสที่พบยังไม่ใกล้เคียงกับพันธุกรรมของไวรัสที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ในระดับที่ 100 เปอร์เซ็นต์เท่าใดนัก

เหตุใดจึงมีการต่อต้านแนวคิดเชื้อรั่วไหลจากห้องทดลอง

นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า  SARS-CoV-2 เป็นไวรัสที่มาจากธรรมชาติ และไม่น่าเป็นผลจากการพัฒนาในห้องทดลอง แต่ในเดือนมีนาคม 2020 คริสเตียน แอนเดอร์สัน นักไวรัสวิทยาประจำสถาบันวิจัยสคริปปส์ ในเมือง La Jolla รัฐแคลิฟอร์เนีย และเพื่อนร่วมงานของเธอได้แสดงถึงลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 ที่มีความเป็นไปได้ว่าเป็นฝีมือมนุษย์มีการพบในธรรมชาติ

แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มว่าไวรัสจะมีต้นกำเนิดมาจากธรรมชาติ ทฤษฎีที่ว่าไวรัส SARS-CoV-2 นั้นหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการยังคงได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์บางคน นักการเมืองบางส่วน และในสังคมวงกว้าง

ข้อสงสัยนี้เกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่าโรคระบาดนี้เกิดขึ้นใกล้พื้นที่กับสถาบันไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีนักวิจัยศึกษาไวรัสโคโรนาในค้างคาว และมีฐานข้อมูลและตัวอย่างเชื้อเก็บไว้ “ผู้คนมองเห็นถึงความบังเอิญนี้ค่ะ” แอนเดอร์สัน กล่าว โดยเมืองอู่ฮั่นเองก็เป็นเมืองที่มีตลาดสดที่ค้าสัตว์ป่ามากมายเช่นกัน

บุคลากรทางสาธารณสุขดำเนินการตรวจโควิด-19 แบบไดร์ฟทรูในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส ภาพถ่ายโดย CALLAGHAN O’HARE, BLOOMBERG VIA GETTY IMAGES

ทว่า ผู้เชี่ยวชาญและผู้สังเกตการณ์โต้แย้งความเป็นไปได้ว่าสมาชิกของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นติดเชื้อเนื่องจากช่องว่างมาตรการความปลอดภัยระหว่างทำงานกับเชื้อ SARS-CoV-2 ระหว่างทำงาน และแพร่กระจายโดยไม่ได้ตั้งใจ

ในส่วนของจดหมายที่เผยแพร่ในวารสาร Science เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีเนื้อหาที่นักวิทยาศาสตร์บางคนแนะว่าแนวคิดความเป็นไปได้ที่ไวรัสจะหลุดออกมาจากห้องทดลองไม่ได้รับการพิจารณาในการสืบสวนขององค์การอนามัยโลก โดยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่งานแถลงงานข่าว เบน เอมบาเรก ผู้จัดการโครงการ องค์การอนามัยโลก และผู้นำภารกิจในการสืบสวนในจีนกล่าวว่า “เนื่องจาก [ทฤษฎีเชื้อไวรัสหลุดจากห้องทดลอง] ไม่ได้เป็นสิ่งที่เรามุ่งเน้นในการศึกษาร่วมกันครั้งนี้ จึงไม่ได้รับความสนใจในเชิงลึกเมื่อเทียบกับสมมติฐานอื่นๆ”

มีข้อโต้แย้งล่าสุดปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม เมื่อ Wall Street Journal รายงานว่ามีรายงานของหน่วยข่าวกรองสหรัฐที่ไม่เปิดเผยว่า นักวิจัย 3 คนที่สถาบันอู่ฮั่นเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 เนื่องจากมีอาการที่คล้ายกับการได้รับเชื้อโควิด-19 และอาการป่วยตามฤดูกาล ซึ่งข้อมูลของนักวิจัยและอาการป่วยเหล่านั้นยังไม่มีการเปิดเผย

แต่ในส่วนของรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่าไม่การบันทึกว่าเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ มีอาการป่วยหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการได้รับเชื้อโควิด-19 ก่อนเดือนธันวาคม 2019 อย่างไรก็ตาม ทีมงานไม่ได้เข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 174 คนแรกในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับตลาดสดอู่ฮั่นแต่อย่างใด ซึ่งข้อมูลนี้สามารถเป็นส่วนที่สามารถตามรอยต้นกำเนิดโรคระบาดนี้ได้

เจ้าหน้าที่ขององต์การอนามัยโลกที่ได้รับงานการสืบสวนที่มาของไวรัสโควิด-19 เดินทางถึงสถาบันไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภาพถ่ายโดย THOMAS PETER, REUTERS

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

การระบุอายุทางโมเลกุล (molecular dating) จากหลายแหล่งแนะให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่า SARS-CoV-2 เริ่มแพร่กระจายมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2019 ซึ่งตามรายงานขององค์การอนามัยโลกแนะว่าควรค้นหาแอนติบอดีของเชื้อ SARS-CoV-2 ในตัวอย่างจากธนาคารเลือดที่มีอยู่ ซึ่งอาจช่วยเผยให้เห็นถึงช่วงเวลาที่ไวรัสปรากฏขึ้น อย่างไรก็ตาม การค้นหาจุดเริ่มต้นของโรคระบาดนี้ยังคงเป็นงานที่แสนยากเย็น

“คุณอาจจะต้องใช้เวลาถึง 10 ปีเพื่อเก็บตัวอย่างจากสัตว์เพื่อหาสิ่งที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง” ดาร์รีล ฟัลซาราโน นักไวรัสวิทยาประจำมหาวิทยาลัย Saskatchewan ในแคนาดา กล่าวและเสริมว่า “แต่คุณอาจไม่เจอแม้แต่สิ่งที่สามารถเชื่อมโยงได้เลยก็ได้ครับ”

ด้านแอนเดอร์สัน ผู้ที่ตรวจทานข้อมูลให้กับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าวว่า “ถือเป็นมาตรฐานของการวิจัยทางไวรัสวิทยาและการระบุถึงคำถามที่สำคัญ นั่นคือ: ไวรัสเกิดขึ้นมาได้อย่างไร [ในส่วนที่ส่งผลคุกคามต่อมนุษย์] และพบเจอที่ไหน” สำหรับเขาแล้ว ข้อมูลไม่ได้บ่งบอกว่า SARS-CoV-2 ไม่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นในห้องทดลองเมืองอู่ฮั่นเนื่องจากโครงสร้างของไวรัสที่ใช้ในห้องทดลองไม่ใช้โครงสร้างของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม กว่าที่จะได้รับข้อมูลที่ทำให้ทุกอย่างชัดเจนมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญยังคงสงสัยว่า หากมีการสืบสวนในห้องทดลองที่เมืองอู่ฮั่นเพิ่มเติมเพื่อค้นหาว่ามีการทำการทดลองที่เสี่ยงอันตราย หรือมีเกิดช่องโหว่ในมาตรการความปลอดภัยทางชีววิทยาได้แล้ว ผลจะออกมาเป็นอย่างไรต่อไป

“เราไม่รู้โดยแน่ขัดว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่” เจสซี บลูม นักไวรัสวิทยาประจำศูนย์วิจัยมะเร็ง Fred Hutchinson กล่าวและเสริมว่า “ดังนั้นเราไม่ควรตัดทุกความเป็นไปได้ใดๆ เลยครับ”

เรื่อง PRIYANKA RUNWAL


อ่านเพิ่มเติม โรคระบาด จะจบลงได้อย่างไร

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.