เต่ามะเฟือง ขึ้นวางไข่บนชายหาดไทยเพิ่มขึ้น สะท้อนธรรมชาติกำลังฟื้นฟู

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมวิจัยและสำรวจประชากร เต่ามะเฟือง เพื่อเป็นข้อมูลและความหวังใหม่แห่งท้องทะเลไทย

ปัจจุบัน ประชากร เต่ามะเฟือง ทั่วโลกกำลังมีจำนวนลดลงมาก จากการประเมินบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN Red List) เต่ามะเฟืองจึงจัดเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable: VU)

ประเทศไทย จากการสำรวจในอดีตไม่พบการวางไข่ของเต่ามะเฟืองเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปี จนกระทั่ง 2 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่บนชายหาดจังหวัดภูเก็ตและพังงาจำนวนกว่า 20 รัง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สร้างความยินดีแก่ทุกคนเป็นอย่างมาก

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศูนย์วิจัยชีวศาสตร์ทางสัตวแพทย์ ภาควิชาชีวศาสตร์ทางสัตว์แพทย์และสัตวแพทย์สาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ นำโดยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กรมทรัพยากรชายทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย ดร. ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ ได้เข้าศึกษาวิจัยโครงสร้างด้านพันธุศาสตร์ประชากรของเต่ามะเฟืองจากการวางไข่อย่างใกล้ชิด

เต่ามะเฟืองมีลักษณะทางพันธุกรรมเฉพาะตัว จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพน้อย เป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้การขยายพันธุ์ตามธรรมชาติน้อยลงไปด้วย ทีมวิจัยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลฯ จึงต้องการสำรวจแม่เต่ามะเฟืองที่เข้ามาวางไข่ที่ภูเก็ตและพังงาในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา เพื่อคาดการณ์ถึงจำนวนประชากรของเต่ามะเฟืองที่มีอยู่ในธรรมชาติในบริเวณชายฝั่งประเทศไทยได้

ทีมนักวิจันจึงเริ่มต้นศึกษาโครงสร้างด้านพันธุศาสตร์ของเต่ามะเฟือง โดยนำเอาเนื้อเยื่อของลูกเต่าที่เสียชีวิตตั้งแต่ในรัง จำนวน 149 ตัวอย่าง แยกมาจากทั้งหมด 14 รัง จาก 5 ชายหาด ในระหว่างปี 2561-2563 ซึ่งจากการศึกษาโดยวิธีการเปรียบเทียบพันธุกรรมจาก Mitochondria (ออร์แกเนลภายในเซลล์ที่หน้าที่สร้างพลังงาน) ซึ่งเป็นลักษณะพันธุกรรมที่ถูกถ่ายทอดมาจากแม่เท่านั้น ในตำแหน่ง Control Region ของส่วน D-loop หากมีลักษณะที่ตรงกันก็จะแสดงถึงแม่เต่าตัวเดียวกันนั่นเอง ซึ่งพบว่าไข่ทั้ง 14 รังนี้มาจากแม่เต่าจำนวน 3 ตัว และที่น่าสนใจคือ พบแม่เต่า 1 ตัวที่กลับมาวางไข่ในปีที่ 2 ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว ควรจะกลับมาวางไข่อีกครั้งในช่วง 3 – 5 ปี

ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้สร้างความหวังให้แก่ทีมนักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก ซึ่งผลการศึกษาครั้งนี้ได้แสดงถึงสัญญาณที่ดีว่า ธรรมชาติทางทะเลกำลังค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเองกลับมา ศาสตราจารย์ ดร.นายสัตวแพทย์ กรกฎ กล่าวว่า “แม้เราไม่ได้อยู่ใกล้ทะเล เราก็สามารถที่จะช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติได้ด้วยการลดการใช้พลาสติก หรือการรีไซเคิลพลาสติก เนื่องจากสาเหตุการเสียชีวิตหลักอย่างหนึ่งของสัตว์ทะเลคือพลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเล การที่เราช่วยกันทางอ้อมก็ถือว่ากำลังเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของสัตว์เหล่านี้ได้เช่นกัน”

จากผลการวิจัยในครั้งนี้จะสามารถใช้เป็นแนวทางการจัดการ สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ นำไปสู่การอนุรักษ์ และสร้างสมดุลทางทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจากศูนย์วิจัยชีวศาสตร์ทางสัตวแพทย์ ภาควิชาชีวศาสตร์ทางสัตว์แพทย์และสัตวแพทย์สาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรื่อง ณภัทรดนัย
ภาพเปิด Max Gotts
ภาพประกอบ ศูนย์วิจัยชีวศาสตร์ทางสัตวแพทย์ ภาควิชาชีวศาสตร์ทางสัตว์แพทย์และสัตวแพทย์สาธารณสุข

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


อ่านเพิ่มเติม เต่ามะเฟือง เต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุด ดำน้ำได้ลึกที่สุดและหายากที่สุดในประเทศไทย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.