ระบบเนื้อเยื่อพืช (Plant Tissue)

เนื้อเยื่อพืช (Plant Tissue) คือกลุ่มของเซลล์พืชที่ผสานรวมกันเป็นโครงสร้างหรืออวัยวะต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่เฉพาะให้แก่พืช เช่น กลุ่มเซลล์ในเนื้อเยื่อส่วนรากที่ทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหารจากดิน หรือเนื้อเยื่อส่วนนอกของลำต้นและใบ ที่ทำหน้าที่ป้องกันพืชจากอันตรายภายนอก และการสูญเสียน้ำ

เนื้อเยื่อส่วนลำต้นของต้นสน / ภาพถ่าย : Fayette A. Reynolds M.S.

การจำแนกชนิดของ เนื้อเยื่อพืช

ในกลุ่มพืชดอก (Angiosperm) เนื้อเยื่อพืชสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  1. เนื้อเยื่อเจริญ (Meristem Tissue) คือ กลุ่มของเซลล์เจริญ (Meristematic Cell) หรือเซลล์มีชีวิตที่มีคุณสมบัติในการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส (Mitosis) อยู่ตลอดเวลา ทำให้พืชเจริญเติบโตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ขณะที่พืชยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เนื้อเยื่อเจริญจึงมักพบอยู่บริเวณปลายยอดและปลายรากของพืช

ลักษณะโดยทั่วไปของเซลล์ในเนื้อเยื่อเจริญ

– มีนิวเคลียสขนาดใหญ่

– มีผนังเซลล์บางและมีความยืดหยุ่นสูง

– เซลล์มีการเรียงชิดติดกันจนไม่มีช่องว่างระหว่างเซลล์

เนื้อเยื่อเจริญสามารถจำแนกออกเป็น 3 ชนิด คือ

1.1 เนื้อเยื่อเจริญส่วนปลาย (Apical Meristem) คือ เนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณปลายยอดหรือปลายรากของพืช ทำหน้าที่แบ่งเซลล์เพื่อให้ส่วนปลายยอดและปลายรากของพืชเจริญเติบโตและยืดขยายยาวออกไป  ช่วยเพิ่มความสูงของต้นพืช ซึ่งการเติบโตในลักษณะนี้จัดเป็นการเจริญเติบโตขั้นปฐมภูมิของพืช (Primary Growth)

1.2 นื้อเยื่อเจริญด้านข้าง (Lateral Meristem) คือ เนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณด้านข้างของลำต้นและราก มีหน้าที่แบ่งเซลล์เพื่อให้ส่วนของลำต้นและรากเติบโต และขยายขนาดออกทางด้านข้าง หรือเพิ่มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของรากและลำต้นออกไป ประกอบด้วยเนื้อเยื่อแคมเบียม (Cambium) ในกลุ่มท่อลำเลียง

1.3 คอร์ก (Cork) ในเนื้อเยื่อชั้นผิวด้านนอกที่ทำให้เกิดเปลือกและเนื้อไม้ ซึ่งการเจริญด้านข้างในลักษณะนี้จัดเป็นการเจริญเติบโตขั้นทุติยภูมิของพืช (Secondary Growth)

เนื้อเยื่อเจริญเหนือข้อ (Intercalary Meristem) คือ เนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณเหนือข้อหรือโคนของต้นพืช โดยเฉพาะบริเวณของปล้องของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว อย่างเช่น ไผ่ อ้อย และต้นข้าว ซึ่งเนื้อเยื่อเจริญเหนือข้อทำหน้าที่แบ่งเซลล์ร่วมกับฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน (Gibberellin) เพื่อทำให้ปล้องต่าง ๆ หรือก้านช่อดอกของพืชเจริญเติบโตและยืดขยายยาวออกไป

ตำแหน่งของเนื้อเยื่อเจริญ / ภาพถ่าย : Sinauer Associates, Inc. and W.H Freeman & Co.
  1. เนื้อเยื่อถาวร (Permanent Tissue) คือ กลุ่มของเซลล์ที่พัฒนามาจากเนื้อเยื่อเจริญและเติบโตเต็มที่แล้ว จึงไม่สามารถแบ่งเซลล์ต่อไปได้อีก เนื้อเยื่อถาวรสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามรูปร่างและองค์ประกอบภายในเซลล์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาของต้นพืช เพื่อทำหน้าที่เฉพาะในกลุ่มเซลล์นั้น ๆ

2.1 เนื้อเยื่อถาวรเชิงเดี่ยว (Simple Permanent Tissue) คือ เนื้อเยื่อถาวรที่ประกอบขึ้นจากเซลล์ชนิดเดียวกันทั้งหมด ได้แก่

เนื้อเยื่อป้องกัน (Protective Tissue) ชั้นนอกสุดที่มีหน้าที่เสริมความแข็งแรง ป้องกันอันตรายจากภายนอก รวมถึงป้องกันการสูญเสียน้ำหรือการแทรกซึมของน้ำจากด้านนอกของต้นพืช โดยที่เนื้อเยื่อป้องกันประกอบด้วย

เอพิเดอร์มิส (Epidermis) เนื้อเยื่อชั้นนอกสุดที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่พิเศษต่าง ๆ  อาทิ เปลี่ยนแปลงไปเป็นขนราก (Root hair) เพื่อดูดซึมสารอาหาร หรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์คุม (Guard cell) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการแลกเปลี่ยนก๊าซและการระเหยของน้ำ

คอร์ก (Cork) เนื้อเยื่อด้านนอกสุดของลำต้น กิ่ง และราก ซึ่งมีสารซูเบอริน (Suberin) และคิวติน (Cutin) ทำหน้าที่ป้องกันการระเหยของน้ำ

เนื้อเยื่อป้องกันในใบของต้นพืช / ภาพถ่าย : Zephyris
  1. เนื้อเยื่อพื้น (Ground Tissue) เป็นองค์ประกอบของราก ลำต้น ใบ และดอก ทำหน้าที่เปรียบเสมือนตัวกลางให้เนื้อเยื่ออื่น ๆ เจริญแทรกตัวอยู่ เนื้อเยื่อพื้นประกอบด้วย

พาเรงคิมา (Parenchyma) เนื้อเยื่อถาวรที่พบมากที่สุดในพืช เป็นเซลล์โตเต็มที่ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ มีรูปร่างหลากหลาย ทั้งทรงกระบอก ทรงหลายเหลี่ยม และทรงกลม ทำให้เมื่อรวมตัวกันจะก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างเซลล์ ผนังของเซลล์บาง ซึ่งเซลล์บางส่วนที่เรียกว่า “คลอเรงคิมา” (Chlorenchyma) สามารถสังเคราะห์แสงได้จากคลอโรพลาสต์บรรจุอยู่ภายในเซลล์

คอลเลงคิมา (Collenchyma) เนื้อเยื่อถาวรเชิงเดี่ยวที่พบในชั้นคอร์เทกซ์ของลำต้นและใบประกอบด้วยเซลล์มีชีวิต มีลักษณะหลายเหลี่ยมและมีรูปร่างรียาว ผนังของเซลล์หนา แต่มีความหนาไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากมีการสะสมสารเพกทิน (Pectin) บริเวณเหลี่ยมหรือมุมของเซลล์ คอลเลงคิมาทำหน้าที่สร้างความยืดหยุ่นและความคงทนแข็งแรงให้แก่ต้นพืช

สเกลอเลงคิมา (Sclerenchyma) เนื้อเยื่อพยุงที่ประกอบด้วยเซลล์เส้นใย (Fiber) และสเกลอรีด (Sclereid) เป็นกลุ่มเซลล์ที่ไม่มีชีวิต เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ไซโทพลาซึมและนิวเคลียสของเซลล์จะสลายไป เซลล์มีผนังหนามากจากการสะสมสารลิกนิน (Lignin) ด้านข้างของเซลล์มีรูขนาดเล็ก (Pit Canal) ที่ใช้แลกเปลี่ยนสารกับเซลล์ข้างเคียง สเกลอเลงคิมามีหน้าที่เสริมความแข็งแรงให้แก่ต้นพืช รวมถึงช่วยพยุงลำต้นให้ตั้งตรงแข็งแรง

เอนโดเดอร์มิส (Endodermis) เนื้อเยื่อชั้นในสุดใกล้เนื้อเยื่อลำเลียงของราก ผนังเซลล์มีสารลิกนินและซูเบอรินพอกหนาเป็นแถบที่เรียกว่า “แคสพาเรียนสตริป”  (Casparian Strip) ทำหน้าที่ป้องกันน้ำซึมเข้าสตีล (Stele) ที่มีท่อลำเลียงน้ำและอาหารอยู่ภายใน

เนื้อเยื่อพื้น / ภาพถ่าย : Encyclopædia Britannica, Inc.

เนื้อเยื่อถาวรเชิงซ้อน (Complex Permanent Tissue) คือ เนื้อเยื่อถาวรที่ประกอบขึ้นจากเซลล์หลายชนิดอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือที่เรียกว่า “มัดท่อลำเลียง” (Vascular Bundle) ซึ่งประกอบด้วยไซเลม (Xylem) ที่มีหน้าที่ลำเลียงน้ำและแร่ธาตุจากรากขึ้นสู่ส่วนต่าง ๆ ของพืช และโฟลเอม (Phloem) ที่มีหน้าที่ลำเลียงสารอาหารที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงไปเก็บสะสมไว้ยังส่วนต่าง ๆ ของพืช

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง

http://www.thaischool1.in.th/_files_school/60100515/data/60100515_1_20180904-115805.pdf

http://www.digitalschool.club/digitalschool/science1_2_2/science18_1/pdf_teacher18_1.pdf

http://www.hunkhapit.ac.th/doc/เอกสารเผยแพร่งานคุณครู/ชุดที่-1-เนื้อเยื่อพืช-เผยแพร่ลงเว็บ.pdf


อ่านเพิ่มเติม โครงสร้างของดอกไม้ อวัยวะสำคัญสำหรับการปฏิสนธิของพืช

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.