โครงสร้างของดอกไม้ อวัยวะสำคัญสำหรับการปฏิสนธิของพืช

โครงสร้างของดอกไม้ อวัยวะสำคัญสำหรับการปฏิสนธิของพืช

โครงสร้างของดอกไม้ เป็นอวัยวะสำคัญสำหรับสืบพันธุ์ของพืชดอก

โครงสร้างของดอกไม้ ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ 4 ส่วนหลัก โดยแต่ละส่วนจะเรียงตัวจากชั้นที่อยู่นอกสุดเข้าสู่ส่วนใน คือ กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย ตามลำดับ โดยส่วนประกอบทั้ง 4 นี้จะอยู่บนฐานรองดอก ซึ่งอยู่ปลายสุดของก้านชูดอก

ดอกไม้ (Flower) คือ อวัยวะส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่ในการสืบพันธุ์ของพืชดอก (Angiosperm) เป็นส่วนโครงสร้างของพืชที่พัฒนามาจากกิ่งและใบ ดอกไม้แต่ละดอกมักมีขนาด รูปร่าง และสีสันแตกต่างกันไปตามชนิดของพันธุ์พืช ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เรามักเห็นดอกไม้มีสีสันสวยงามและส่งกลิ่นหอม หารู้ไม่ว่าลักษณะทางโครงสร้างที่โดดเด่นเหล่านี้ ช่วยส่งเสริมกระบวนการสืบพันธุ์ของพืช โดยการดึงดูดและล่อเหล่าแมลงนานาชนิดเข้ามาช่วยในการผสมเกสรนั่นเอง

ส่วนประกอบของดอกไม้, โครงสร้างของดอกไม้, การสืบพันธุ์ของพืชดอก, การปฏสนธิของพืช, ดอกไม้
ดอกไม้มีรูปร่างและสีสันที่แตกต่างกันออกไป แตสามารถจำแนกตามโครงสร้างได้ 4 ส่วนหลักๆ

โครงสร้างหลักของดอกไม้สามารถแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่

ชั้นกลีบเลี้ยง (Calyx) ชั้นกลีบดอก (Corolla) ชั้นเกสรเพศผู้ (Androecium) และชั้นเกสรเพศเมีย (Gynaecium) ซึ่งเรียงตัวจากชั้นนอกสุดเข้าสู่ด้านในของดอกไม้ โดยส่วนประกอบทั้ง 4 ตั้งอยู่บนฐานรองดอกที่บริเวณปลายสุดของก้านชูดอก ดังนี้

1. ชั้นกลีบเลี้ยง (Calyx)

หรือวงของกลีบเลี้ยงประกอบด้วยกลีบเลี้ยง (Sepal) ที่เป็นโครงสร้างห่อหุ้มด้านนอกสุดของตัวดอก มักมีสีเขียวคล้ายส่วนของใบไม้จากการมีองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์อยู่ภายใน ซึ่งทำให้กลีบเลี้ยง

นอกจากทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้แก่ส่วนโครงสร้างภายในของดอกไม้แล้ว ยังสามารถสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) เพื่อสร้างสารอาหารให้แก่พืชอีกด้วย กลีบเลี้ยงส่วนใหญ่จะหมดหน้าที่และหลุดร่วงไปจากต้น เมื่อดอกไม้บานเต็มที่แล้ว

ในพืชดอกบางชนิดวงของกลีบเลี้ยงอาจมีสีสันสดใส เพื่อทำหน้าที่ล่อแมลงให้เข้ามาผสมเกสรเช่นเดียวกับกลีบดอก อีกทั้ง ในพืชบางชนิดยังมี “ริ้วประดับ” (Epicalyx) หรือกลีบสีเขียวขนาดเล็กที่เรียงตัวเป็นวงบริเวณใต้กลีบเลี้ยง เช่นที่ปรากฏในดอกชบา และพู่ระหง เป็นต้น

ส่วนประกอบของดอกไม้, โครงสร้างของดอกไม้, การสืบพันธุ์ของพืชดอก, การปฏสนธิของพืช, ดอกไม้
โครงสร้างของดอก ประกอบด้วยอวัยวะสืบพันธุ์คือ เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย รวมถึงมีส่วนของกลีบดอก และกลีบเลี้ยง ที่ช่วยล่อแมมลงผสมเกสร

2. ชั้นกลีบดอก (Corolla)

หรือวงของกลีบดอกประกอบด้วยกลีบดอก (Petal) ที่เป็นส่วนโครงสร้างอยู่ถัดเข้ามาจากกลีบเลี้ยง มักมีสีสันสวยงามจากรงควัตถุประเภทต่าง ๆ เช่น แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) หรือแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ในพืชดอกบางชนิด อย่างดอกพุดตาน กลีบดอกนั้นสามารถเปลี่ยนสีได้ หรือในพืชบางชนิด กลีบดอกอาจมีกลิ่นหอมผสมผสานอยู่ด้วย จากการมีทั้งต่อมกลิ่นและต่อมน้ำหวานตรงบริเวณโคนของกลีบดอก ซึ่งทำหน้าที่ช่วยดึงดูดแมลงให้เข้ามาผสมเกสร

นอกจากนี้ ยังมี “วงกลีบรวม” (Perianth) ที่ปรากฏขึ้นในพืชซึ่งวงของกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีลักษณะคล้ายคลึงกันจนแยกไม่ออก อย่างเช่นในจำปี จำปา บัวหลวง และทิวลิป เป็นต้น

3. ชั้นเกสรเพศผู้ (Androecium)

ประกอบด้วยเกสรเพศผู้ (Stamen) ทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ ซึ่งในพืชส่วนใหญ่มักมีจำนวนมากและเรียงตัวเป็นวง โดยเกสรเพศผู้มีทั้งส่วนที่แยกออกจากกันเป็นอิสระและส่วนของเกสรที่มีโครงสร้างติดกันหรืออาจเชื่อมติดกับส่วนอื่น ๆ ของดอกไม้ อย่างเช่นในดอกเข็มและดอกลำโพง ซึ่งเกสรเพศผู้จะเชื่อมติดกับส่วนของกลีบดอก หรือที่พบในดอกรักและดอกเทียนที่เกสรเพศผู้มีโครงสร้างติดกับเกสรเพศเมีย เกสรเพศผู้มีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ

ส่วนประกอบของดอกไม้, โครงสร้างของดอกไม้, การสืบพันธุ์ของพืชดอก, การปฏสนธิของพืช, ดอกไม้

  • อับเรณู (Anther) หรืออับเกสรเพศผู้ มีลักษณะเป็นแท่งกลมยาว 2 พู ภายในประกอบด้วย “ถุงเรณู” (Pollen Sac) ขนาดเล็ก 4 ถุง ซึ่งบรรจุละอองเรณู (Pollen Grain) ที่มีลักษณะเป็นเม็ดขนาดเล็กสีเหลืองจำนวนมาก ผิวของเรณูนั้นแตกต่างกันไปตามชนิดของพืช เมื่อดอกเจริญเต็มที่แล้ว ถุงละอองเรณูจะแตกออก ทำให้ละอองเรณูปลิวไปตกลงบนยอดเกสรเพศเมีย เพื่อสร้างสเปิร์ม (Sperm) ที่ใช้ในการผสมพันธุ์ต่อไป ในพืชแต่ละชนิด จำนวนของเกสรเพศผู้จะมีจำนวนมากน้อยแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้ว พืชโบราณหรือพืชชั้นต่ำมักมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ส่วนพืชที่มีวิวัฒนาการสูงเกสรจะมีจำนวนลดลง
  • ก้านชูเกสรเพศผู้ (Filament) คือ ส่วนโครงสร้างที่ทำหน้าที่ชูอับเรณู มีลักษณะโครงสร้างเป็นเส้นที่อาจอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือแยกจากกันเป็นอิสระ มีขนาดและความยาวแตกต่างกันไปตามชนิดของพืช

4. ชั้นเกสรเพศเมีย (Gynaecium)

ประกอบด้วยเกสรเพศเมีย (Pistil) อยู่ด้านในสุดของดอก เป็นส่วนโครงสร้างที่พัฒนามาจากใบ เพื่อทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย ในพืชแต่ละชนิด เกสรเพศเมียอาจมีเพียงหนึ่งหรืออาจมีจำนวนมากขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์พืช เกสรเพศเมียมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ

เกสรตัวเมีย, พืช, การสืบพันธุ์ของพืช, โครงสร้างของดอกไม้
พืชส่วนใหญ่ มักจะมีเกสรตัวเมียเพียงหนึ่งอัน โดยส่วนมากจะอยู่ชั้นในสุดของโครงสร้างดอกไม้
  • ยอดเกสรเพศเมีย (Stigma) คือ ส่วนที่มีลักษณะโปร่งพองออกมาเป็นตุ่มแผ่แบนเป็นแฉก ๆ เป็นพูและมีน้ำหวานเหนียวค้นหรือขนคอยจับละอองเรณูที่ลอยมาติด
  • ก้านชูเกสรเพศเมีย (Style) คือ ส่วนที่มีลักษณะเป็นเส้นหรือก้านขนาดเล็กที่เชื่อมต่อจากยอดเกสรตัวเมียลงสู่รังไข่ เพื่อเป็นเส้นทางให้สเปิร์มเคลื่อนตัวเข้ามาปฏิสนธิกับไข่
  • รังไข่ (Ovary) คือ ส่วนของกระเปาะพองโตที่ยึดหรืออาจฝังอยู่กับฐานรองดอก (Receptacle) ภายในมีลักษณะเป็นห้องขนาดเล็กเรียกว่า “โลคุล” (Locule) ซึ่งภายในโลคุลประกอบด้วยออวุล (Ovule) ที่มีหน้าที่สร้างไข่ (Egg) บรรจุอยู่ แต่ละหน่วยของเกสรเพศเมียที่มีโลคุลที่ห่อหุ้มไข่ไว้ภายในเรียกว่า “คาร์เพล” (Carpel) โดยใน 1 โลคุล อาจมี 1 คาร์เพล หรือหลายคาร์เพลตามชนิดของดอกไม้ เมื่อเกิดการปฏิสนธิ รังไข่จะเจริญไปเป็นผล ขณะที่ออวุลจะเจริญไปเป็นส่วนของเมล็ดนั่นเอง

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล – http://www.satriwit3.ac.th/files/200429099330853_20091916164326.pdf
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – http://1.179.173.242/moviesnew/Admin/acrobat/v_3_sc_sc_141.pdf
สำนักงานเทศบาลเมืองตาก – http://www.tessabantak.go.th/backoffice/php_form/uploads/files/2561-06/070625611630.pdf


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การสืบพันธุ์ของพืชดอก : การปฏิสนธิของพืชดอก

Recommend