สิ่งมีชีวิตนอกโลก – สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์เดินทางจากห้องปฏิบัติการขับดันไอพ่นหรือเจพีแอล (Jet Propulsion Lab: JPL) ขององค์การนาซาในแคลิฟอร์เนีย ไปยังหุ่นยนต์รถสำรวจที่เกาะอยู่ใต้แผ่นนํ้าแข็งหนา 30 เซนติเมตรเหนือทะเลสาบแห่งหนึ่งในรัฐอะแลสกา ไฟสปอตไลต์บนรถเริ่มส่องสว่าง “ได้แล้ว!” จอห์น เลกตี วิศวกรหนุ่มจากเจพีแอล ร้องเสียงดัง เขาซุกตัวในเต็นท์บนแผ่นนํ้าแข็งใกล้ๆ เทคโนโลยีนี้ดูเหมือนไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่นี่อาจเป็นก้าวเล็กๆ ก้าวแรกสู่การสำรวจดวงจันทร์อันห่างไกล
ไกลออกไปทางใต้ของอะแลสกากว่า 7,000 กิโลเมตร นักธรณีจุลชีววิทยา เพเนโลพี บอสตัน ลุยธารนํ้าขุ่นครึ่งแข้งในถํ้าอันมืดมิดของเม็กซิโกลึกลงไปใต้พื้นดิน กว่า 15 เมตร บอสตันและนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ล้วนใส่เครื่องช่วยหายใจ และแบกถังอากาศสำรองติดตัวไปด้วยเพื่อเผชิญแก๊สพิษอย่างไฮโดรเจนซัลไฟด์และคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งมักแพร่กระจายในถํ้า ทันใดนั้น แสงจากไฟฉายคาดศีรษะของเธอก็สาดไปกระทบของเหลวข้นเกือบโปร่งใสที่ไหลย้อยเป็นทางยาวลงมาจากผนังชอล์กร่วนๆ ของถํ้า “สวยจัง!” เธออุทาน
สถานที่ทั้งสองแห่ง ได้แก่ทะเลสาบเยือกแข็งในแถบอาร์กติกและถํ้าพิษในเขตร้อน อาจให้เบาะแสสำหรับปริศนาที่ทั้งเก่าแก่ที่สุดและน่าดึงดูดที่สุดข้อหนึ่งในโลก นั่นคือ มีสิ่งมีชีวิตนอกเหนือจากในโลกของเราหรือไม่ สิ่งมีชีวิตในพิภพอื่นซึ่งอาจหมายถึงในระบบสุริยะของเราหรือที่โคจรรอบดาวดวงอื่นอันไกลโพ้นก็ตาม อาจต้องเอาตัวรอดในมหาสมุทรที่มีนํ้าแข็งปกคลุมเช่นที่พบบนดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี หรือในถํ้าปิดที่เต็มไปด้วยแก๊สพิษซึ่งอาจมีอยู่มากมายบนดาวอังคาร หากคุณสามารถแยกแยะและระบุสิ่งมีชีวิตที่สามารถอยู่ได้ในสภาวะสุดขั้วบนโลก การค้นหาชีวิตในโลกอื่นย่อมใกล้ความจริงเข้าไปอีกก้าวหนึ่ง
เป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดลงไปว่างานค้นหาชีวิตท่ามกลางดวงดาวกลายจากนวนิยายวิทยาศาสตร์มาเป็นวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เมื่อไร แต่หมุดหมายสำคัญครั้งหนึ่งคือการประชุมทางดาราศาสตร์เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1961 ซึ่งจัดโดย แฟรงก์ เดรก นักดาราศาสตร์วิทยุหนุ่ม ผู้สนใจแนวคิดเรื่องการค้นหาคลื่นวิทยุที่มนุษย์ต่างดาวส่งออกมา
ตอนที่เขาจัดการประชุม โครงการค้นหาสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญานอกโลกหรือเซติ (Search for Extraterrestrial Intelligence: SETI) “ถือเป็นเรื่องต้องห้ามของดาราศาสตร์ครับ” เดรกซึ่งขณะนี้อายุ 84 ปี ฟื้นความหลังเขาชักชวนนักวิชาการกลุ่มเล็กๆ ประกอบด้วยนักดาราศาสตร์ นักเคมี นักชีววิทยา และวิศวกร มาถกกันในเรื่องที่ปัจจุบันเรียกว่า ชีววิทยาดาราศาสตร์ (astrobiology) หรือวิทยาศาสตร์ว่าด้วยชีวิตนอกโลก
เดรกต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในการตัดสินใจว่า การทุ่มเทเวลาของกล้องโทรทรรศน์วิทยุเพื่อเฝ้าฟังการแพร่สัญญาณจากมนุษย์ต่างดาวจะมีความสมเหตุสมผลเพียงใด และวิธีการค้นหาที่น่าจะได้ผลมากที่สุดคืออะไร เขาสงสัยว่า อารยธรรมนอกโลกน่าจะมีได้สักกี่อารยธรรม เดรกจึงร่างสมการหนึ่งไว้บนกระดานดำ
ร่างดังกล่าวซึ่งปัจจุบันรู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อสมการของเดรก (Drake equation) กำหนดกระบวนการที่นำไปสู่การตอบคำถามของเขา เริ่มด้วยอัตราการเกิดดาวคล้ายดวงอาทิตย์ในทางช้างเผือก แล้วคูณด้วยเศษส่วนของดาวที่มีระบบดาวเคราะห์ จากนั้นนำผลลัพธ์ไปคูณค่าเฉลี่ยของจำนวนดาวเคราะห์ที่เอื้อต่อชีวิตในแต่ละระบบดาวเคราะห์ ซึ่งหมายถึงดาวเคราะห์ขนาดประมาณโลกและอยู่ในวงโคจรที่เหมาะแก่ชีวิต แล้วคูณต่อด้วยเศษส่วนความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์เหล่านั้นอาจมีชีวิตเกิดขึ้นจริงๆ จากนั้นคูณด้วยเศษส่วนของโอกาสที่ชีวิตนั้นจะวิวัฒน์ปัญญา และคูณต่อด้วยเศษส่วนของโลกที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการส่งคลื่นวิทยุซึ่งเราตรวจจับได้
ในขั้นตอนสุดท้าย คูณผลลัพธ์ล่าสุดด้วยเวลาเฉลี่ยที่อารยธรรมซึ่งเชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยีวิทยุจะแพร่สัญญาณอยู่ได้นาน หรือกระทั่งอยู่รอดได้
สมการของเดรกน่าเชื่อถือมาก แต่ติดปัญหาตรงที่ไม่มีใครรู้ว่าเศษส่วนและค่าเฉลี่ยเหล่านั้นควรจะมีค่าเท่าไร ยกเว้นตัวแปรแรกในสมการ คืออัตราการก่อตัวของดาวคล้ายดวงอาทิตย์ ถ้านักวิทยาศาสตร์ของเซติสามารถจับสัญญาณวิทยุนอกโลกได้สักชุดหนึ่ง ความไม่แน่นอนทั้งหลายย่อมหมดความหมาย แต่จนกว่าจะถึงวันนั้นผู้เชี่ยวชาญแต่ละหัวข้อในสมการของเดรกต้องพยายามให้ค่าหรือตัวเลขที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะโดยการหาความเป็นไปได้ของการเกิดดาวเคราะห์รอบดาวคล้ายดวงอาทิตย์ หรือโดยการพยายามไขปริศนาว่าชีวิตเกิดขึ้นบนโลกได้อย่างไร
เวลาล่วงเลยมาอีกหนึ่งในสามของศตวรรษ กว่านักวิทยาศาสตร์จะเริ่มใส่ค่าโดยประมาณลงในสมการของเดรกได้ เมื่อปี1995 มิเชล เมเยอร์ และดิดีเย เกโล จากมหาวิทยาลัยเจนีวา ตรวจพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบดาวคล้ายดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรก ดาวเคราะห์51 ม้าบิน บี (51 Pegasi b) ที่อยู่ห่างจากโลกราว 50 ปีแสง เป็นกลุ่มแก๊สมหึมาขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของดาวพฤหัสบดี พร้อมวงโคจรที่เล็กมากจน “ปี” ของมันมีแค่สี่วัน และอุณหภูมิพื้นผิวสูงกว่า 1000 องศาเซลเซียส
ไม่มีใครคิดว่าชีวิตอาจอุบัติขึ้นในสภาพแวดล้อมเลวร้ายปานนั้น แต่การค้นพบดาวเคราะห์แม้เพียงดวงเดียวก็เป็นการเปิดศักราชใหม่ ต้นปีต่อมา เจฟฟรีย์ มาร์ซี และทีมงานค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงที่สองและดวงที่สาม ถึงวันนี้นักดาราศาสตร์ยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบเกือบสองพันดวงแล้ว ขนาดมีตั้งแต่เล็กกว่าโลกไปจนถึงใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดี นอกจากนี้ยังมีดาวเคราะห์อีกหลายพันดวงที่รอการยืนยัน
ในบรรดาดาวเคราะห์เหล่านั้นไม่มีดวงไหนเหมือนโลกทุกประการ แต่นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่า ไม่นานพวกเขาจะค้นพบสักดวงหนึ่ง จากข้อมูลการค้นพบจนถึงปัจจุบันซึ่งมักมีแต่ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ เมื่อไม่นานมานี้ นักดาราศาสตร์คำนวณว่า มากกว่าหนึ่งในห้าของดาวคล้ายดวงอาทิตย์มีดาวเคราะห์คล้ายโลกที่ชีวิตอาศัยอยู่ได้ ถ้าว่ากันตามสถิติ ดาวแบบนั้นดวงที่อยู่ใกล้เราที่สุดอาจห่างออกไปเพียง 12 ปีแสง จะว่าไปก็เหมือนอยู่ข้างบ้านเรานี่เอง
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักล่าดาวเคราะห์เริ่มคิดได้ว่า การจำกัดการค้นหาอยู่ที่ดาวคล้ายดวงอาทิตย์นั้นไร้เหตุผล ความจริงดาวประมาณร้อยละ 80 ของทางช้างเผือกเป็นดาวสีแดงขนาดเล็กที่เย็นและมีแสงสลัวเรียกว่าดาวแคระชนิดเอ็ม (M dwarf) ถ้าดาวเคราะห์คล้ายโลกต้องโคจรรอบดาวแคระชนิดเอ็มในระยะที่พอเหมาะ คือไม่เย็นเกินไป มันจะอยู่ใกล้ดาวแคระชนิดเอ็มยิ่งกว่าโลกใกล้ดวงอาทิตย์เสียอีก เพื่อให้ชีวิตเกิดขึ้นได้ง่ายพอๆ กับกรณีดาวเคราะห์คล้ายโลกโคจรรอบดาวคล้ายดวงอาทิตย์
ยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่า ดาวเคราะห์ที่ชีวิตอาศัยอยู่ได้ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่เท่าโลก ดิมิทาร์ แซสเซลอฟ นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีกคนหนึ่ง บอกว่า “ถ้าถามผม ผมว่ามวลตั้งแต่หนึ่งถึงห้าเท่าของโลกเป็นใช้ได้ครับ” พูดง่ายๆ ก็คือ ความหลากหลายของดาวเคราะห์ที่ชีวิตอาศัยอยู่ได้และของดาวฤกษ์ที่พวกมันโคจรรอบล้วนสูงกว่าที่เดรกและผู้เข้าร่วมประชุมเมื่อปี 1961 ตั้งสมมุติฐานไว้อย่างจำกัดอยู่มาก
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะปรากฏว่าช่วงอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมทางเคมีที่สิ่งมีชีวิตชอบความสุดขั้ว (extremophilic organism) สามารถดำรงอยู่ได้นั้นกว้างไกลเกินจินตนาการของผู้เข้าร่วมประชุมของเดรก ในช่วงทศวรรษ 1970 นักสมุทรศาสตร์ค้นพบพุนํ้าร้อนยวดยิ่งหรือช่องนํ้าร้อน (hydrothermal vent) ซึ่งหล่อเลี้ยงระบบนิเวศอันรุ่มรวยของแบคทีเรียที่กินไฮโดรเจนซัลไฟด์และสารเคมีอื่นๆ ที่ละลายอยู่ในนํ้า ก่อนจะกลายเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตลำดับสูงกว่า นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบสิ่งมีชีวิตแพร่กระจายอยู่ในนํ้าพุร้อน ในทะเลสาบเย็นเยือกลึกลงไปหลายร้อยเมตรใต้พืดนํ้าแข็งของทวีปแอนตาร์กติกา ในแหล่งที่มีความเป็นกรดหรือเป็นด่างสูง ในแหล่งที่เค็มจัดหรือมีกัมมันตรังสีเข้มข้น และแม้แต่ในรอยแตกเล็กๆ ของหิน ลึกลงไปใต้ดินหนึ่งกิโลเมตรหรือมากกว่านั้น
ปัจจัยเดียวที่นักชีววิทยาเสนอว่าจำเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตในรูปแบบที่เรารู้จัก คือนํ้าในสถานะของเหลว ซึ่งเป็นตัวทำละลายทรงพลังที่สามารถพาสารอาหารที่เจืออยู่ไปยังทุกส่วนของสิ่งมีชีวิต ในระบบสุริยะของเรา เรารู้ตั้งแต่ครั้งที่ยานมาริเนอร์ 9 ไปโคจรรอบดาวอังคารเมื่อปี 1971 ว่า นํ้าน่าจะเคยไหลอย่างเสรีบนดาวเคราะห์ดวงนั้น ที่นั่นจึงอาจเคยมีสิ่งมีชีวิต อย่างน้อยก็จุลชีพ และน่าเชื่อว่าชีวิตเหล่านั้นอาจยังพอหลงเหลืออยู่ใต้พื้นผิวซึ่งยังมีนํ้าในสถานะของเหลวตกค้าง
ดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดีก็ปรากฏรอยร้าวบนพื้นผิวอายุค่อนข้างน้อยที่มีนํ้าแข็งปกคลุม เท่ากับเป็นหลักฐานว่า ใต้ผืนนํ้าแข็งนั้นมีมหาสมุทรนํ้าในสถานะของเหลวอยู่ ความจริงระยะห่างจากดวงอาทิตย์ราว 800 ล้านกิโลเมตร น่าจะทำ ให้นํ้าบนดวงจันทร์ยูโรปาแข็งตัวทั้งหมด แต่ดวงจันทร์ดวงนี้บิดตัวอยู่ตลอดเวลาเพราะถูกดึงและดันโดยแรงนํ้าขึ้นลงจากดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์ดวงอื่นในระบบ จนเกิดความร้อนซึ่งทำให้นํ้าใต้พื้นผิวยังคงสถานะของเหลวอยู่ได้ ในทางทฤษฎี ชีวิตจึงอาจดำรงอยู่ในนํ้านี้ได้เช่นกัน
เมื่อปี 2005 ยานแคสซีนีขององค์การนาซาสังเกตเห็นว่า มีนํ้าพุ่งขึ้นเป็นลำจากดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์ ต่อมายานได้ตรวจวัดเพิ่มเติมและยืนยันในรายงานเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ว่า มีแหล่งนํ้าใต้ดินอยู่บนดวงจันทร์เอนเซลาดัสเช่นกัน บนพื้นผิวของไททัน ดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ มีแม่นํ้า ทะเลสาบ และฝน แต่วัฏจักรลมฟ้าอากาศที่นั่นเป็นวัฏจักรของสารไฮโดรคาร์บอนเหลว เช่น มีเทนและอีเทน ไม่ใช่นํ้า อาจมีชีวิตดำรงอยู่ในนั้น แต่หน้าตาของมันเป็นอย่างไรคงยากที่จะคาดเดา
ดาวอังคารคล้ายโลกมากกว่า และใกล้เรากว่าดวงจันทร์อันไกลโพ้นเหล่านั้นมาก ขณะนี้รถสำรวจคิวริออซิตีขององค์การนาซากำลังสำรวจหลุมอุกกาบาตเกลซึ่งเคยมี ทะเลสาบกว้างใหญ่ไพศาลเมื่อหลายพันล้านปีมาแล้ว และปัจจุบันก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า สิ่งแวดล้อมทางเคมีของที่นี่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของจุลชีพ หากมันเคยอุบัติขึ้น
แต่การค้นหาชีวิตนอกโลกได้นำ เควิน แฮนด์ นักชีววิทยาดาราศาสตร์ของเจพีแอล กับทีมงานซึ่งรวมถึง จอห์น เลกตี ไปยังทะเลสาบซูคอกในอะแลสกา ความมุ่งมั่นแบบเดียวกันได้ดึงดูดเพเนโลพี บอสตัน และเพื่อนร่วมงานให้หมั่นแวะเวียนไปยังถํ้าพิษกวยบาเดบียาลุซใกล้เมืองตาปีคูลาปาในเม็กซิโก สถานที่ทั้งสองแห่งช่วยให้นักวิจัยทดสอบเทคนิคใหม่ๆ สำหรับใช้ค้นหาชีวิตในสภาพแวดล้อมที่อย่างน้อยก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับสิ่งที่ยานสำรวจอาจต้องเผชิญ พวกเขาเจาะจงมองหาลายเซ็นชีวภาพ (biosignature) ได้แก่ เบาะแสในรูปของภาพหรือสารเคมีที่บ่งบอกถึงการดำรงอยู่ของชีวิต ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน
ตัวอย่างเช่นถํ้าในเม็กซิโก ยานโคจรรอบดาวอังคารบ่งชี้ว่า บนดาวอังคารมีถํ้าซึ่งเป็นแหล่งที่จุลชีพอาจเข้าไปอาศัยตอนที่ดาวเคราะห์ดวงนั้นสูญเสียบรรยากาศและนํ้าบนพื้นผิวเมื่อราวสามพันล้านปีก่อน สิ่งที่อาศัยอยู่ในถํ้าบนดาวอังคารจะต้องอยู่รอดด้วยแหล่งพลังงานอื่นที่ไม่ใช่แสงอาทิตย์ เช่นเดียวกับของเหลวที่ไหลย้อยเป็นทางยาวซึ่งบอสตันหลงใหล นักวิทยาศาสตร์เรียกของเหลวไม่น่าพิสมัยเหล่านี้ว่า “สน็อตไทต์” (snottite) มันดูเหมือนเมือก แต่ที่จริงเป็นฟิล์มชีวภาพ (biofilm) หรือชุมชีวินของจุลชีพที่เกาะเกี่ยวกันอยู่ในก้อนเหนียวหนืด
บอสตันอธิบายว่า “พวกมันทำปฏิกิริยาออกซิเดชันกับไฮโดรเจนซัลไฟด์ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานเพียงหนึ่งเดียว และสร้างเมือกนี้ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการชีวิตค่ะ”
สน็อตไทต์เป็นเพียงชุมชีวินของจุลชีพหนึ่งในหลายชุมชีวินที่ดำรงอยู่ในถํ้าแห่งนั้น บอสตันบอกว่า ในนั้นมีอยู่ราว 12 ชุมชีวิน “แต่ละชุมชีวินมีรูปร่างแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และใช้ระบบสารอาหารเฉพาะของตนเองทั้งสิ้น”
หนึ่งในชุมชีวินเหล่านี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ มัน ไม่ได้หยดหรือจับเป็นก้อน แต่สร้างลวดลายบนผนังถํ้า แทน ทั้งแบบจุด แบบเส้น และกระทั่งแบบตาข่าย นักชีววิทยาดาราศาสตร์เห็นพ้องที่จะเรียกรูปแบบเหล่านี้ว่า ไบโอเวอร์มิคิวเลชัน (biovermiculation) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ไบโอเวิร์ม (bioverm) มาจากคำ ว่า ”เวอร์มิคิวเลชัน„ (vermiculation) ที่แปลว่าการเคลื่อนไหวคล้ายหนอน
ปรากฏว่าลวดลายแบบนี้ไม่ใช่มีแต่ที่เกิดจากจุลชีพบนผนังถํ้าเท่านั้น “มันเกิดขึ้นได้หลากหลายขนาดเชียวครับ โดยปกติจะเป็นในที่ซึ่งมีทรัพยากรจำกัด” คีท ชูเบิร์ต อธิบาย เขาเป็นวิศวกรจากมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการสร้างภาพ และมายังถํ้ากวยบาเดบียาลุซเพื่อติดตั้งกล้องสำหรับการเฝ้าสังเกตระยะยาวภายในถํ้า ชูเบิร์ตเสริมว่า หญ้าและต้นไม้ในภูมิภาคแห้งแล้งก็สร้างลวดลายไบโอเวิร์มได้เช่นกัน แผ่นคราบแข็งหน้าดินในทะเลทรายก็ด้วย เพราะในนั้นคือชุมชีวินของแบคทีเรีย มอสส์ และไลเคนที่ปกคลุมผิวดินอยู่
ถ้าสมมุติฐานดังกล่าวเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ที่เฝ้าศึกษาไบโอเวิร์มอาจค้นพบความรู้ที่สำคัญยิ่ง เพราะจนถึงปัจจุบัน เครื่องหมายแสดงชีวิตที่นักชีววิทยาดาราศาสตร์ต่างมองหาคือแก๊สต่างๆ อย่างออกซิเจน ซึ่งสิ่งมีชีวิตบนโลกปล่อยออกมา แต่ชีวิตที่สร้างลายเซ็นชีวภาพในรูปออกซิเจนอาจเป็นเพียงชีวิตรูปแบบเดียวจากหลายรูปแบบ
การศึกษาจุลชีพที่ชอบความสุดขั้วมีประโยชน์ก็จริง แต่ทำได้เพียงให้เบาะแสใกล้ตัวถึงสิ่งที่เป็นปริศนานอกโลก ทว่าอีกไม่นานเราจะมีวิธีอื่นๆ ที่จะช่วยเติมส่วนที่ยังขาดอยู่ในสมการของเดรก
ความสนใจเรื่องลายเซ็นชีวภาพและจุลชีพที่ชอบความสุดขั้วตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า ชีวิตบนโลกอื่นเป็นเหมือนชีวิตบนโลก กล่าวคือ สร้างจากโมเลกุลซับซ้อนที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้าง และใช้นํ้าเป็นตัวทำละลาย เหตุผลหนึ่งคือ ทางช้างเผือกมีคาร์บอนและนํ้าอยู่อย่างเหลือเฟือ อีกเหตุผลหนึ่งคือ เราไม่รู้ว่าจะหาชีวิตที่ไม่ใช้คาร์บอนได้อย่างไร เพราะเราไม่รู้ว่าลายเซ็นชีวภาพที่มันทิ้งไว้ให้เห็นคืออะไร
“ถ้าจำกัดการค้นหาอยู่แค่นี้ เราอาจล้มเหลวครับ” แซสเซลอฟจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอก ทีมของแซสเซลอฟกำลังพิจารณาชีววิทยาทางเลือกที่อาจดำรงอยู่บนโลกอันไกลโพ้นอื่นๆ เช่นที่อาจมีวัฏจักรกำมะถัน แทนที่จะเป็นวัฏจักรคาร์บอนซึ่งเป็นชีววิทยาหลักของชีวิตบนโลก
เบื้องหลังงานวิจัยเหล่านี้คือโครงการที่เป็นต้นกำเนิดของชีววิทยาดาราศาสตร์เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว ทุกวันนี้ แฟรงก์ เดรก ยังคงมองหาสัญญาณจากนอกโลก การค้นพบสัญญาณดังกล่าวจะเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่กว่าอะไรทั้งหมด แม้เดรกจะเดือดร้อนเพราะเงินสนับสนุนส่วนใหญ่ของโครงการเซติล้วนเหือดหายไป แต่เขาก็ตื่นเต้นกับโครงการใหม่เอี่ยมโครงการหนึ่งที่พยายามตรวจหาแสงวาบจากอารยธรรมนอกโลก ”วิธีที่ฉลาดคือลองดูทุกทางครับ” เขาบอกก่อนจะทิ้งท้ายว่า “เพราะเราไม่เก่งนักในเรื่องการเดาว่า มนุษย์ต่างดาวกำลังทำอะไรกันอยู่”
เรื่อง ไมเคิล ดี. เลมอนิก
ภาพถ่าย มาร์ก ทีสเซน
เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2557