พบ เบสดีเอ็นเอ ทั้ง 5 ในอุกกาบาต ชีวิตตั้งต้นบนโลกอาจมาจากอวกาศ

พบ เบสดีเอ็นเอ ทั้ง 5 ในอุกกาบาต ชีวิตตั้งต้นบนโลกอาจมาจากอวกาศ

นักวิทย์ฯ พบ เบสดีเอ็นเอ ทั้ง 5 ตัวที่ประกอบเป็นดีเอ็นเอสิ่งมีชีวิต ชี้ ชีวิตตั้งต้นบนโลกอาจมาจากอวกาศ

รหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตแทบทั้งหมดบนโลกหรือที่รู้จักกันในชื่อ DNA นั้นประกอบด้วย เบสดีเอ็นเอ พื้นฐาน 5 ชนิดนั่นคือ อะดีนิน (Adenine; A) กัวนีน (Guanine; G) ไทมีน (Thymine; T) ไซโทซีน (Cytosine; C) และ ยูราซิล(Uracil; U) อันเป็นสารตั้งต้นที่ก่อให้เกิดชีวิต ซึ่งก่อนหน้านี้เชื่อกันว่ากำเนิดขึ้นโดยบังเอิญบนโลกในยุคเริ่มแรกเมื่อราว 3-4 พันล้านปีที่แล้ว แต่หลักฐานใหม่เพิ่มน้ำหนักว่าสารตั้งต้นนี้อาจมาจากอวกาศ

“เราได้พบเบสครบชุดของ DNA และ RNA ซึ่งพวกมันอยู่ในอุกกาบาต” เดเนียล กลาวิน (Daniel Glavin) หนึ่งในทีมวิจัยจากนาซากล่าว แม้ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์จะตรวจพบอะดีนิน กัวนีน และยูราซิลบ้างในอุกกาบาต แต่ไซโทซีนและไทมีนยังขาดหายไป ด้วยเทคนิคใหม่ในการตรวจสอบ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ ยาสุฮิโร โอบะ (Yasuhiro Oba) และเพื่อนร่วมทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ญี่ปุ่น ค้นพบเบสดีเอ็นเอเหล่านี้

“วิธีการตรวจจับของเรามีความไวสูงกว่าที่ศึกษากันมาก่อนหน้านี้” โอบะกล่าว พวกเขาใช้เวลากว่า 3 ปีในการตรวจสอบ 3 ตัวอย่างของอุกกาบาตที่ตกลงมาสู่โลกตั้งแต่ปี 1960 “การปรากฏตัวของนิวคลีโอเบส(Nucleobases ; คำเรียกรวม ๆ ของเบสทั้ง 5 ตัว) ในอุกกาบาตอาจมีส่วนในการเกิดขึ้นของการทำงานทางพันธุกรรมก่อนที่จะเริ่มมีชีวิตบนโลกยุคแรกๆ” โอบะกล่าวเสริม

เทคนิคใหม่นี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการวิจัยทางพันธุกรรมและเภสัชกรรมเพื่อตรวจจับนิวคลีโอเบสจำนวนเล็กนี้ในระดับอัตราส่วนต่อพันล้านล้าน ซึ่งสูงกว่าวิธีที่ศึกษากันก่อนหน้านี้อย่างน้อย 10-100 เท่าช่วยให้พวกเขาตรวจจับความอุดมสมบูรณ์ของสารเคมีในตัวอย่างได้ ซึ่งเพิ่มน้ำหนักในสมมติฐานว่าชีวิตอาจมาจากนอกโลก 

อย่างไรก็ตามทีมวิจัยไม่สามารถบอกได้ถึงความชัดเจนของผลกระทบต่อโมเลกุลเคมีแรกๆ บนโลกจากอุกกาบาต หรือบางทีอาจเป็นไปได้ที่ทั้งสองปัจจัยต่างมีความผลกระทบต่อกันและกัน

“หากประสิทธิภาพการผลิตของนิวคลีโอเบสบนโลกสูงกว่าปัจจัยจากอวกาศมาก การเกิดขึ้นของรหัสพันธุกรรม (หรือชีวิต) ด้วยปัจจัยจากนอกโลกก็อาจมีส่วนร่วมเพียงเล็กน้อย” โอบะกล่าว “แต่การค้นพบของเราสามารถพูดได้ว่าอุกกาบาตที่อุดมไปด้วยคาร์บอนนั้นมีนิวคลีโอเบสที่หลากหลาย”

ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนอาจแย้งว่าตัวอย่างเหล่านั้นอาจเกิดการปนเปื้อนจากอากาศบนโลก แต่ทีมวิจัยกล่าวว่า “หากมีการปนเปื้อนจากดินบนโลกเราควรเห็นไอโซเมอร์เหล่านั้นในดินเช่นกัน แต่เราก็ไม่พบ” กลาวินกล่าว พวกเขาระบุว่ามันมีการจัดระเบียบและเรียงตัวต่างกัน ซึ่งตัวที่พบในอุกกาบาตนั้นต่างจากบนโลก

เพื่อความชัดเจน ทีมวิจัยหวังว่าตัวอย่างใหม่จากดาวเคราะห์น้อยริวกู (Ryugu) ที่ถูกนำกลับมาโดยญี่ปุ่นเมื่อเดือนธันวาคมในปี 2020 จะให้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น โดยพวกเขาระบุว่า “(ริวกู) จะให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับวิวัฒนาการของโมเลกุลอินทรีย์นอกโลก และเบาะแสที่อาจเกี่ยวข้องกับต้นกำเนิดของชีวิตบนโลกผ่านการวิเคราะห์ทางเคมีของวัตถุต่างดาวนอกโลกที่ไม่ได้ถูกทำลาย”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nature.com/articles/s41467-022-29612-x?utm_medium=affiliate&utm_source=commission_junction&utm_campaign=CONR_PF018_ECOM_GL_PHSS_ALWYS_PRODUCT&utm_content=textlink&utm_term=PID100052171&CJEVENT=3b633a39c5f711ec818201960a180512

https://www.sciencenews.org/article/all-of-the-bases-in-dna-and-rna-have-now-been-found-in-meteorites

https://www.space.com/meteorites-brought-dna-blocks-to-early-earth

https://www.independent.co.uk/space/dna-meteorites-origins-life-b2065837.html


อ่านเพิ่มเติม สิ่งมีชีวิตนอกโลก : มีใครอยู่ข้างนอกนั่นไหม

สิ่งมีชีวิตนอกโลก

Recommend