แอนดรูว์ กัลลัป (Andrew Gallup) นักชีววิทยาวิวัฒนาการ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กได้เสนอคำตอบใหม่หลังจากใช้เวลาหลายปีทำงานวิจัยว่าทำไมมนุษย์และสัตว์อื่นจึง หาว และทำไมการ หาว จึงติดต่อกันได้ราวกับโรคระบาด เขาพบว่ามีความเป็นไปได้ว่าสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมดมีพฤติกรรมการหาวเพื่อจุดประสงค์ในการควบคุมกระบวนการภายในร่างกายบางอย่าง แต่ไม่ใช่เพื่อทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้นตามที่คนส่วนใหญ่เชื่อกัน
“แม้จะมีความเชื่อนี้มาอย่างยาวนาน แต่การวิจัยได้ทดสอบสมมติฐานและสรุปอย่างชัดเจนว่าการหาวนั้นไม่ได้ทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้น” กัลลัปกล่าวพร้อมเสริมตัวอย่างว่า “กรณีที่ชัดเจนนั้นคือการหาวของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสัตว์นั้นอยู่ใต้น้ำและ (การหาว) ไม่ได้ช่วยในเรื่องการหายใจ”
ถ้าเป็นเช่นนั้น การหาวทำอะไรกับร่างกายเราจริงๆ กัลลัปเสนอว่าเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการตื่นตัว “มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการหาวเกิดขึ้นพร้อมกับการกระตุ้นของสมองที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการหาวอาจทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว” เขากล่าวและเสริมว่า “ปัจจุบันมีงานวิจัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าการหาวนั้นเกิดจากอุณหภูมิของสมองสูงขึ้น”
กัลลัปกล่าวว่าเขาได้ศึกษาหนู โดยทำให้สมองของหนูมีอุณหภูมิสูง ซึ่งส่งผลให้เกิดการหาวขึ้นมาจริงๆ และหลังจากหาวอุณหภูมิก็ลดลง จึงกลายเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้พวกเขายังได้ศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกมากกว่า 100 สายพันธุ์และพบว่าระยะเวลาการหาวนั้นสัมพันธ์กับขนาดของสมอง ยิ่งสมองมีขนาดใหญ่และซับซ้อน การหาวก็จะนานและถี่กว่า
อีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมการหาวจึงติดต่อกันได้ราวกับโรคระบาด และไม่ใช่แค่เพียงในกลุ่มสิ่งมีชีวิตเดียวกันเท่านั้น แต่ยังอาจข้ามสปีชีส์ได้เช่นการหาวของสัตว์เลี้ยงก็ทำให้เจ้าของหาวตามได้ กัลลัปได้เสนอเหตุผลว่าการหาวอาจมีการพัฒนาขึ้นเมื่อเพื่อเพิ่มความระมัดระวังภายในกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่สูง
“เหตุผลพื้นฐานคือ หากการหาวเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าบุคคลหนึ่งกำลังมีการตื่นตัวที่ลดลง ดังนั้นการเห็นอีกคนหาวอาจช่วยเพิ่มความระมัดระวังของผู้ที่มองเห็น การแพร่กระจายอาจทำให้การระมัดระวังเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่ม” กัลลัปกล่าวพร้อมอธิบายถึงการศึกษาหนึ่งของเขาที่ทดสอบว่าคนที่มองเห็นการหาวจะตอบสนองต่อรูปภาพภัยคุกคามเพิ่มขึ้นหรือไม่
“เราแสดงรูปภาพต่างๆ มากมายที่รวมถึงสิ่งเร้าที่คุกคามคือรูปภาพของงู และสิ่งเร้าที่ไม่คุกคามคือรูปภาพของกบ กำหนดเวลาว่าพวกเขาสามารถเลือกภาพเหล่านั้นได้เร็วเพียงใดหลังจากดูวิดีโอของคนหาวหรือขยับปากด้วยวิธีอื่น” แกลลัป อธิบาย “หลังจากเห็นคนอื่นหาว ความสามารถในการระบุและตรวจจับงู สิ่งเร้าที่คุกคามก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การระบุถึงกบนั้นไม่มีผลกระทบใดๆ”
โดยสรุปแล้ว กัลลัปเสนอคำตอบว่าการหาวนั้นช่วยให้สมองมีอุณหภูมิลดลงและกระตุ้นการระวังภัยทั้งตนเองและภายในกลุ่ม เราและสิ่งมีชีวิตอื่นจึงหาวตามกันเมื่อได้ยินหรือเห็นผู้อื่นหาว อย่างไรก็ตาม คำตอบที่แน่ชัดถึงประโยชน์ทางวิวัฒนาการของการหาวที่ถูกคัดเลือกมานั้นยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0003347222000719