การถูกคุกคามของสายพันธุ์ (Species Endangerment) คือ ภาวะความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด (Species) ที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นชนิดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ทั้งที่อาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น ในแหล่งน้ำหรือในพื้นที่รกร้างต่าง ๆ
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตหลายพันล้านชนิดกว่าร้อยละ 99 ที่เกิดขึ้นบนโลกได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ทั้ง 5 ครั้งในอดีต (Mass Extinction) โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งช่วงเวลาที่พืชทะเล และปลาดึกดำบรรพ์ครองโลก หรือในยุคที่ไดโนเสาร์อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร
ในอดีต การสูญพันธุ์แต่ละครั้งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งภูเขาไฟระเบิด และการพุ่งชนโลกของอุกกาบาตขนาดใหญ่ หรือดาวเคราะห์น้อย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตไม่ได้ลดน้อยลง แต่กลับมีอัตราเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นหลายพันหลายหมื่นเท่าจากผลของกิจกรรมมนุษย์
สาเหตุของภาวะความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต
การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย (Habitat Loss) : จากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและผลจากกิจกรรมและการกระทำของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การตัดไม้ทำลายป่า การขยายตัวเมืองและพื้นที่อุตสาหกรรม การทำเกษตรกรรม และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการตัดถนนผ่านพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติ การสร้างสะพานข้ามแหล่งน้ำขนาดใหญ่หรือการสร้างท่าเรือน้ำลึกต่าง ๆ
มลพิษและมลภาวะ (Environmental Pollution) : มลภาวะทางอากาศ น้ำและดิน รวมไปถึงมลพิษจากขยะประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่เป็นอันตรายโดยตรงต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิต ซึ่งทำให้เกิดการปนเปื้อนห่วงโซ่อาหารและทำลายสมดุลของระบบนิเวศ
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Invasive Alien Species) : การรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เช่น หอยเชอร์รี่ ผักตบชวา หรือ ไมยราบยักษ์ ซึ่งเป็นพันธุ์สัตว์และพืชที่ปราศจากผู้ล่าตามธรรมชาติ พวกมันสามารถขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว เข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและทำลายสมดุลของระบบนิเวศ ผ่านการแข่งขันและแทนที่ชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น (Endemic Species) ที่ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างจำกัดในระบบนิเวศ
การใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัดของมนุษย์ (Overexploitation) : การแสวงหาและนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างไร้ขีดจำกัด ทั้งจากพฤติกรรมการบริโภคที่เติบโตตามเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย การล่าสัตว์และการทำประมงเกินขนาด (Overfishing)
เชื้อโรคและการเกิดโรคภัย (Pathogens and Disease) : โรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น ค้างคาว กบ และซาลาแมนเดอร์ โดยเฉพาะจากการลักลอบค้าสัตว์ป่าซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคระบาด เนื่องจากการค้าขายและการเดินทางที่เกิดขึ้นเพิ่มโอกาสให้เชื้อโรคมีการติดต่อสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด ทั้งเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของพวกมันและทำให้เกิดการแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) : หนึ่งในสาเหตุหลักที่ส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในศตวรรษนี้ ทั้งจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สูงเป็นประวัติการณ์ การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกและชั้นดินเยือกแข็ง การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและความเป็นกรดในทะเลที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก
บัญชีแดงและความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Red List)
ตั้งแต่ปี 1964 องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือ “ไอยูซีเอ็น” (International Union for Conservation of Nature: IUCN) ได้ประเมินสถานะความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลก ซึ่งตามสถานะของบัญชีแดงในปัจจุบัน มีการประเมินสิ่งมีชีวิตไปแล้วกว่า 128,500 ชนิด โดยมีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์กว่า 35,500 ชนิด ประกอบด้วยกลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (Amphibians) มากถึงร้อยละ 40 กลุ่มไม้สน (Conifers) ร้อยละ 34 กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals) ร้อยละ 26 และกลุ่มของปะการัง (Reef Corals) กว่าร้อยละ 33
นอกจากนี้ ในบัญชีแดงยังมีการจัดระดับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตออกเป็น 7 ระดับ โดยชนิดพันธุ์ที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามจะอยู่ใน 3 หมวด (ตัวอักษรสีเข้ม) ดังนี้
ระดับ | สถานะของสิ่งมีชีวิต | ตัวอย่างสิ่งมีชีวิต |
EX | สูญพันธุ์ไปจากโลกอย่างถาวร | เสือโคร่งบาหลี ไทลาซีน นกโดโด้ |
EW | สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ | สิงโตบาร์บารี คางคกไวโอมิง กวางปักกิ่ง |
CR | ความเสี่ยงขั้นวิกฤติและใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง | แรดดำ นกแก้วคาคาโป เต่ามะเฟือง |
EN | ความเสี่ยงขั้นรุนแรงและใกล้สูญพันธุ์ | ช้างเอเชีย โลมาอิรวดี แพนด้าแดง ฉลามวาฬ |
VU | ความเสี่ยงขั้นสูงและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ | หมีขั้วโลก เสือดาวหิมะ พะยูน ม้าน้ำมงกุฎ |
NT | ใกล้ถูกคุกคาม อาจอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ | เพนกวินจักรพรรดิ ฉลามหัวบาตร ตุ่นปากเป็ด |
LC | ความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ | ลิงหางแดง ต้นจันทน์เทศญี่ปุ่น วูล์ฟเวอรีน |
แม้ว่าการสูญเสียช้างเอเชียหรือหนูบ้านไปสักหนึ่งสายพันธุ์อาจดูไม่สำคัญต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ แต่ในธรรมชาติ การขาดหายไปของสิ่งมีชีวิตหนึ่งสายพันธุ์สามารถส่งผลโดยตรงต่อปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อาหารและการหมุนเวียนของสสารในวัฏจักรต่าง ๆ ในระบบนิเวศของโลก มันคือการสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม (Loss of Genetic Variation) ไปอย่างถาวรพร้อม ๆ กัน
หากในอนาคต โลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง การมีอยู่ของระบบนิเวศที่สมดุลและหลากหลาย คือหนึ่งในตัวช่วยที่สำคัญยิ่งต่อความอยู่รอดของทุกชีวิตบนโลกใบนี้
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/endangered-species/
https://www.iucnredlist.org/about/background-history
https://wwf.panda.org/discover/our_focus/wildlife_practice/about_species/
https://blogs.ei.columbia.edu/2019/03/26/endangered-species-matter/
https://www.tdem.toyota-asia.com/index.php?app=news&fnc=attach_download&id=12