ลิ้นและการรับรส – ลิ้น (Tongue) คือ อวัยวะรับสัมผัสที่พิเศษอย่างยิ่งของมนุษย์ ประกอบขึ้นจากชุดกล้ามเนื้อที่สามารถเคลื่อนไหวได้ดี มีเส้นเลือดและเส้นประสาทจำนวนมาก กล้ามเนื้อลิ้นมีรูปร่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวเฉลี่ยประมาณ 10 เซนติเมตร ปกคลุมด้วยชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective Tissue) หนาแน่นและเยื่อบุพิเศษหรือเยื่อเมือกสีชมพูที่เรียกว่า “มิวโคซา” (Mucosa) ทำหน้าที่รักษาความชุ่มชื้นบนพื้นผิวของลิ้น
โครงสร้างของลิ้นสามารถจำแนกออกเป็น 3 ส่วนย่อย คือ
ปลายลิ้นและด้านข้างของลิ้น : ส่วนของกล้ามเนื้อที่สามารถเคลื่อนไหวได้ดี
ด้านหลังของลิ้น : พื้นผิวด้านบนของลิ้น ประกอบด้วยเซลล์ประสาทจำนวนมาก ทำหน้าที่รับสัมผัสและรับรู้รสชาติต่าง ๆ
ฐานหรือโคนลิ้น : ส่วนของกล้ามเนื้อที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับฐานของช่องปาก มีกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่าง ๆ ทำหน้าที่ยึดลิ้นกับกระดูกไฮออยด์ (Hyoid Bone) ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมในลำคอ
พาพิลลาและตุ่มรับรส
บริเวณผิวลิ้นที่มีลักษณะขรุขระประกอบขึ้นจากปุ่มขนาดเล็กที่เรียกว่า “พาพิลลา” (Papillae) กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งลิ้น ทำหน้าที่เพิ่มผิวสัมผัสในการรับความรู้สึกจากอาหารและรับรู้รสชาติต่าง ๆ ผ่าน “ตุ่มรับรส” (Taste Buds) ขนาดเล็ก 4 ชนิด โดยที่ตุ่มรับรสแต่ละชนิดทำหน้าที่รับรสชาติที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นรสหวาน รสขม รสเค็ม และรสเปรี้ยว
ในอดีต ผู้คนจำนวนมากเข้าใจว่าตุ่มรับรสแต่ละชนิดมีตำแหน่งที่เฉพาะเจาะจงบนลิ้น เช่น เราจะรับรู้รสหวานได้จากบริเวณปลายลิ้นที่มีตุ่มรับรสหวาน ตุ่มรับรสเค็มจะอยู่บริเวณด้านข้างลิ้น หรือตุ่มรับรสขมอยู่บริเวณโคนลิ้น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตุ่มรับรสทั้ง 4 ชนิดกระจายตัวอยู่ทั่วทุกบริเวณของลิ้น ตั้งแต่ 2,000 ถึง 10,000 ตุ่ม โดยที่บริเวณต่าง ๆ ที่เฉพาะเจาะจงเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนที่สามารถรับรสชาติดังกล่าวได้ไวกว่าบริเวณอื่นเท่านั้น อีกทั้ง ตุ่มรับรสยังกระจายตัวอยู่ทั้งบนเพดานปากและในลำคออีกด้วย
ตัวอย่างของสารเคมีที่ทำให้ลิ้นเกิดการรับรสได้ ได้แก่ | |
รสหวาน | สารให้ความหวาน เช่น น้ำตาลต่าง ๆ รวมถึงแอลกอฮอล์ โปรตีน และกรดอะมิโนบางชนิด |
รสเปรี้ยว | สารที่มีฤทธิ์เป็นกรด |
รสเค็ม | เกลือที่มีไอออนบวก |
รสขม | สารจำพวกอัลคาลอยด์ เช่น คาเฟอีน และควินิน |
รสกลมกล่อม หรืออูมามิ | กรดกลูตามิก (Glutamic Acid) และกรดแอสปาร์ติก (Aspartic Acid) เช่น ผงชูรส มะเขือเทศสุก ชีส และหน่อไม้ฝรั่ง |
นอกจากนี้ ตุ่มรับรสต่าง ๆ ยังประกอบไปด้วยเซลล์รับรส (Taste Receptor Cells) หรือเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับศูนย์รวมประสาท ซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณทางเคมีที่ได้รับต่อไปยังสมอง เพื่อแปลสัญญาณและความหมายของรสชาติอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยอาศัยประสาทสมองคู่ที่ 7 (Facial Nerve) ซึ่งรับรสจากบริเวณปลายลิ้นและด้านข้างของลิ้นและประสาทสมองคู่ที่ 9 (Glossopharyngeal) จากโคนลิ้น
หน้าที่ของลิ้น
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีความสามารถในการรับรู้สารเคมีต่าง ๆ รอบตัวผ่านทางประสาทสัมผัสและอวัยวะที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะในสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่บนบกอย่างมนุษย์เรา มีลิ้นที่เป็นอวัยวะรับความรู้สึกที่มีลักษณะพิเศษอย่างยิ่ง สามารถทำให้มนุษย์รับรู้ถึงรสชาติและรสสัมผัสจากอาหารและสารต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาทางช่องปาก และทำให้มนุษย์สามารถเพลิดเพลินไปกับอาหารและการกินต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279407/
https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/87663/-scibio-sci-
https://il.mahidol.ac.th/e-media/nervous/3_9.htm