ระบบกล้ามเนื้อ (Muscular System) ของมนุษย์ประกอบด้วยกล้ามเนื้อทั้งหมดราว 650 มัด ยึดติดกันโดยอาศัยพังผืด กระดูก ข้อต่อ และเส้นเอ็นต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่รองรับอวัยวะภายในและคงร่างกายให้มีรูปร่างอย่างที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ ระบบกล้ามเนื้อยังทำหน้าที่ประสานงานร่วมกับ ระบบโครงร่าง และระบบประสาท เพื่อกำหนดการเคลื่อนไหวของอวัยวะภายในต่าง ๆ ทั้งการเต้นของหัวใจ การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของปอด ขณะหายใจ
รวมไปถึงมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนที่อย่างอิสระของอวัยวะภายนอกอีกด้วย ทั้งการเอียงคอ การผงกศีรษะ และการขยับแขนขาที่ทำให้ร่างกายสามารถทำการเคลื่อนไหวและตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างเหมาะสม
หน้าที่ของระบบกล้ามเนื้อ
กล้ามเนื้อในร่างกายสามารถจำแนกออกเป็น 3 ชนิด คือ
กล้ามเนื้อลาย หรือกล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeletal Muscle) คือ กล้ามเนื้อส่วนใหญ่ของร่างกาย เป็นกล้ามเนื้อส่วนนอกของร่างกายทั้งหมด ประกอบขึ้นจากกลุ่มหรือมัดของเส้นใยกล้ามเนื้อ (Muscle Fiber) จำนวนมาก
เซลล์กล้ามเนื้อโครงร่างมีลักษณะเรียวยาวเรียงตัวไปในทิศทางเดียวกัน รูปทรงคล้ายกระบอก มีนิวเคลียสจำนวนมากเรียงตัวอยู่ตามขอบของเซลล์ ทำให้เกิดลวดลายตามขวาง เป็นกล้ามเนื้อที่ยึดติดอยู่กับกระดูก
เมื่อกล้ามเนื้อโครงร่างหดตัวจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยเฉพาะตามบริเวณข้อต่อต่าง ๆ ทั้งการเคลื่อนไหวของดวงตา การเคี้ยวและการกลืนอาหาร การเคลื่อนไหวของลิ้น หรือการเคลื่อนไหวใบหน้า เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึก
กล้ามเนื้อโครงร่างเป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานอยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ (Voluntary Muscle) ที่ควบคุมโดยระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System)
กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth Muscle) คือ กล้ามเนื้อที่ส่วนใหญ่ประกอบขึ้นเป็นผนังของอวัยวะภายในร่างกาย ทั้งผนังหลอดอาหาร หลอดเลือด และลำไส้
เซลล์ของกล้ามเนื้อเรียบมีลักษณะรูปทรงคล้ายกระสวย พื้นผิวเรียบ ไม่มีลายตามขวาง มีนิวเคลียสอยู่ตรงกลางของเซลล์
เมื่อเกิดการหดตัวจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของอวัยวะภายในที่ช่วยทำให้สสารต่าง ๆ ภายในร่างกายเกิดการเคลื่อนที่
กล้ามเนื้อเรียบเป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานนอกเหนืออำนาจจิตใจ (Involuntary Muscle) ที่ควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) และฮอร์โมนต่าง ๆ
กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Muscle) คือ กล้ามเนื้อที่พบได้เฉพาะบริเวณหัวใจ ประกอบขึ้นจากเซลล์ที่มีลักษณะคล้ายรูปทรงกระบอก มีลายตามขวางจากการเรียงตัวไปในหลากหลายทิศทาง มีหลายนิวเคลียสเช่นเดียวกับกล้ามเนื้อลาย
กล้ามเนื้อหัวใจมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการทำงานของหัวใจและการเคลื่อนไหวของโลหิตที่ถูกสูบฉีดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานนอกเหนืออำนาจจิตใจ (Involuntary Muscle) ควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติและฮอร์โมนต่าง ๆ เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อเรียบ
การทำงานของระบบกล้ามเนื้อ
เมื่อสมองสั่งร่างกายให้เคลื่อนไหว กล้ามเนื้อจะเกิดการหดตัวและคลายตัวจากการกระตุ้นของกระแสประสาท โดยกล้ามเนื้อจะทำงานกันเป็นคู่ในทิศทางตรงกัน (Antagonism) จากจุดเกาะต้นและจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อที่ยึดเกาะกับส่วนปลายทั้ง 2 ด้านของกระดูก
ดังนั้น กล้ามเนื้อมัดหนึ่งหดตัว กล้ามเนื้ออีกมัดหนึ่งจะคลายตัว เมื่อสมองสั่งให้เรางอแขน กล้ามเนื้อแขนด้านบน (Biceps Brachii Muscle) จะหดตัว ขณะที่กล้ามเนื้อแขนด้านล่าง (Triceps Brachii Muscle) จะคลายตัว ซึ่งโดยปกติแล้ว กล้ามเนื้อสามารถหดตัวได้ราว 1 ใน 3 ส่วนของความยาวปกติ ยิ่งมีการหดตัวมาก กล้ามเนื้อจะยิ่งแข็งและหนามากยิ่งขึ้น
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
http://old-book.ru.ac.th/e-book/p/PE244(48)/PE244-5.pdf
http://elearning.psru.ac.th/courses/298/5TheMuscularSystem.pdf
http://www.elfit.ssru.ac.th/rapat_ek/pluginfile.php/63/mod_page/content/89/เรื่อง-กล้ามเนื้อ.pdf