ระบบน้ำเหลือง (Lymphatic System)

ระบบน้ำเหลือง (Lymphatic System)

ระบบน้ำเหลือง ในร่างกายมนุษย์ ทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของระบบต่างๆ โดยเฉพาะ ระบบที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภูมิคุ้มกันของมนุษย์

ระบบน้ำเหลือง (Lymphatic System) คือ หนึ่งในระบบการทำงานย่อยของระบบไหลเวียนโลหิต (Circulatory System) ที่มีหน้าที่ลำเลียงสารและเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสารและก๊าซต่าง ๆ พร้อมทั้งทำงานสนับสนุนระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System) โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตเม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ และช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ภายในร่างกายของมนุษย์

โครงสร้างของระบบน้ำเหลืองประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน ดังนี้

อวัยวะน้ำเหลือง (Lymphatic/Lymphoid Organs) : คือ อวัยวะภายในที่มีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) และมีหน้าที่สนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย ตัวอย่างเช่น

ต่อมไทมัส (Thymus Gland) และไขสันหลัง (Bone Marrow) คือ อวัยวะและเนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่มีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ก่อนส่งเข้าสู่กระแสเลือด

● ต่อมน้ำเหลือง (Lymph nodes) คือ เนื้อเยื่อขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วร่างกายตามทางผ่านของหลอดน้ำเหลือง ทำหน้าที่กรองน้ำเหลือง กำจัดสิ่งแปลกปลอม และป้องกันการติดเชื้อของร่างกาย ดังนั้น เมื่อต่อมน้ำเหลืองเกิดการบวกหรืออักเสบจึงนับเป็นสัญญาณของการติดเชื้อภายในร่างกายนั่นเอง

● ม้าม (Spleen) คือ อวัยวะน้ำเหลืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบริเวณใต้กะบังลม ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดต่าง ๆ และกำจัดเม็ดเลือดแดง รวมถึงเกล็ดเลือดที่หมดอายุ อีกทั้ง ยังมีหน้าที่คอยตรวจจับสิ่งแปลกปลอมที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดอีกด้วย

● ต่อมทอนซิล (Tonsils) ทั้ง 3 ประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวจำนวนมาก มีหน้าที่กำจัดและตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่ผ่านเข้าทางเยื่อบุผิวของช่องปากและช่องจมูก

ระบบน้ำเหลือง, ท่อน้ำเหลือง, น้ำเหลือง, ระบบในร่างกายมนุษย์, ระบบภูมิคุ้มกัน, เม็ดเลือดขาว
อวัยวะน้ำเหลือง ภาพประกอบ : McGill University

น้ำเหลือง (Lymph) : คือ ของเหลวที่ไหลเวียนอยู่ในระบบ มีองค์ประกอบของโปรตีน น้ำ ไขมัน น้ำตาลกลูโคส และก๊าซต่าง ๆ เช่นเดียวกับของเหลวที่ไหลอยู่ในช่องว่างระหว่างเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นของเหลวที่ซึมผ่านผนังเส้นเลือดฝอยออกมาอยู่ในช่องว่างเหล่านี้ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการลำเลียงสารต่าง ๆ เข้าสู่เซลล์

นอกจากนี้ น้ำเหลืองยังทำหน้าที่ลำเลียงเซลล์เม็ดเลือดขาวไปยังจุดต่าง ๆ ภายในร่างกายอีกด้วย

หลอดน้ำเหลือง (Lymph Vessel) : คือ ท่อลำเลียงน้ำเหลืองที่มีลักษณะปลายตัน กระจายอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งนำน้ำเหลืองไหลผ่านต่อมน้ำเหลืองต่าง ๆ ก่อนเข้าสู่หัวใจ หลอดน้ำเหลืองมีลิ้นเปิดปิดที่ช่วยป้องกันการไหลย้อนกลับของน้ำเหลืองคล้ายกับหลอดเลือดดำ

ระบบน้ำเหลืองไม่มีการสูบฉีดเช่นเดียวกับระบบไหลเวียนโลหิต ดังนั้น การไหลของน้ำเหลืองจึงเกิดจากการหดและคลายของกล้ามเนื้อโดยรอบหลอดน้ำเหลือง ส่งผลให้อัตราการไหลของน้ำเหลืองช้ากว่าการไหลเวียนของโลหิต

(a) หลอดน้ำเหลือง (b) น้ำเหลือง
ภาพประกอบ : Essentials of Anatomy & Physiology

 

โดยปกติ จุดเริ่มต้นของการไหลเวียนน้ำเหลือง คือ ท่อขนาดเล็กหรือหลอดน้ำเหลืองฝอย (Lymph Capillaries) ต่าง ๆ ที่มารวมตัวกันเป็นหลอดน้ำเหลืองขนาดใหญ่ ก่อนไหลเข้าสู่ท่อน้ำเหลืองหลักของร่างกาย ได้แก่

● ท่อน้ำเหลืองทางด้านซ้าย (Left Lymphatic Duct) หรือท่อน้ำเหลืองทอราซิก (Thoracic Duct) เป็นท่อน้ำเหลืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทำหน้าที่รับน้ำเหลืองจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ยกเว้นบริเวณทรวงอกขวาแขนขวาและส่วนขวาของหัวกับคอ ก่อนไหลเข้าหลอดเลือดดำที่บริเวณใกล้หัวใจ

● ท่อน้ำเหลืองทางด้านขวา (Right Lymphatic Duct) รับน้ำเหลืองจากส่วนเฉพาะ ได้แก่ ทรวงอกขวา แขนขวา และส่วนของหัวกับคอ ก่อนไหลเข้าสู่หลอดเลือดดำ จนถึงหลอดเลือดดำใหญ่ที่เรียกว่า “เวนาคาวา” (Venacava) และไหลเข้าหาหัวใจ ซึ่งในท้ายที่สุดน้ำเหลืองจะปะปนไปกับเลือดเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิต เพื่อลำเลียงสารต่อไป

ระบบน้ำเหลือง, ท่อน้ำเหลือง, น้ำเหลือง, ระบบในร่างกายมนุษย์, ระบบภูมิคุ้มกัน, เม็ดเลือดขาว
การไหลของน้ำเหลืองและระบบไหลเวียนโลหิต ภาพประกอบ : McGraw-Hill Education

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279395/

http://sci.bsru.ac.th/sciweb/Download/subject/HealthandBeauty/chap-01-2.pdf

http://www.pw.ac.th/bodysystem/imm/page/p1.html


อ่านเพิ่มเติม ระบบไหลเวียนโลหิต ของมุนษย์

Recommend