นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบราวน์และสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐได้ศึกษาข้อมูลชาวอเมริกันกว่า 491,367 คน อายุระหว่าง 50-71 ปี โดยติดตามเป็นระยะเวลากว่า 15 ปี เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเกิด มะเร็งผิวหนัง แบบเมลาโนมา (Melanoma) กับพฤติกรรมการบริโภคปลาทะเลหรืออาหารทะเลอื่นๆ
ทีมวิจัยพบว่าคนที่กินปลาโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ครั้งต่อสัปดาห์มีความเสี่ยงที่จะเกิด มะเร็งผิวหนัง เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22 และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการพัฒนาผิวหนังผิดปกติที่อาจกลายเป็นมะเร็งได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 โดยเฉพาะกับปลาทูน่า อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่าปลานั้นไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง แต่ตัวการที่แท้จริงคือมลพิษที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ
“เราคาดการณ์ว่าการค้นพบของเราอาจมีสาเหตุมาจากสารปนเปื้อนในปลาเช่น โพลีคลอริเนตเต็ดไบฟีนิล (Polychlorinated biphenyls หรือ PCB มักใช้การผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าและตัวเก็บประจุไฟฟ้า) สารไดออกซิน (Dioxins) สารหนู และปรอท” อึนยอง โช (Eunyoung Cho) แพทย์ผิวหนังจากมหาวิทยาลัยบราวน์กล่าว สารพิษเหล่านี้สามารถหลุดลอดจากโรงงานไปยังธรรมชาติได้อย่างง่ายดาย
เธอเสริมว่า “การวิจัยก่อนหน้านี้พบว่าการที่มีระดับสารปนเปื้อนเหล่านี้สูงขึ้นมีเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังสูงขึ้น” และ “การบริโภคสารปรอทในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่มาจากปลา” โดยเฉพาะปลาที่มีไขมันเช่นปลาทูน่าจะมีแนวโน้มในการปนเปื้อนสารพิษเหล่านี้มากกว่าและจะสะสมอยู่นานหลายปี นักวิจัยได้เรียกร้องให้ต้องทำการตรวจสอบแหล่งเพาะเลี้ยงอย่างละเอียดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนไม่ต้องการให้ผู้คนทั่วไปหลีกเลี่ยงการรับประทานปลาเนื่องจากเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญไม่ว่าจะเป็นโปรตีน โอเมก้า 3 และวิตามินบี รวมทั้งลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ
แมทธิว บราวน์ (Matthew Browne) ผู้บริหารของสถาบันเมลาโนมาออสเตรเลียกล่าวอย่างชัดเจนว่าปัจจัยเสี่ยงที่สุดในการพัฒนามะเร็งผิวหนังคือแสงยูวี “เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะไม่ทำให้สับสนหรือบดบังข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกัน หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บอกไว้อย่างชัดเจนว่า การได้รับแสงแดดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดเพียงอย่างเดียวในการพัฒนาเนื้องอก”
แนวทางและคำแนะนำด้านอาหารในปัจจุบันจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ระบุว่าให้รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ หรือกล่าวง่ายๆ คือราวหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์และเน้นปลาที่มีไขมันต่ำเช่นปลาซาร์ดีนหรือปลาแองโชวี่
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://link.springer.com/article/10.1007/s10552-022-01588-5
https://www.insider.com/eating-fish-linked-to-skin-cancer-risk-mercury-contaminants-study-2022-6