ย้อนมองประวัติศาสตร์ผ่านภาพสัตว์และมนุษย์ที่เคยเยือนอวกาศ

ริชาร์ด แบรนสันแห่งบริษัทเวอร์จิน กาแลกติก (Virgin Galactic) และเจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้งบริษัทบลู ออริจิน (Blue Origin) ต่างพยายามเอาชนะกันในศึกแห่งการท่องอวกาศ แต่หารู้ไม่ว่ามีลิงสองตัวเอาชนะพวกเขาได้เมื่อ 62 ปีที่แล้ว

เบเกอร์และเอเบิลคือสัตว์ที่ประสบความสำเร็จในการท่องอวกาศก่อนเบโซสและแบรนสัน

ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 28 พฤษภาคม 1959 จรวดจูปิเตอร์ซึ่งมีลิงขนาดเล็กสองตัวนามว่าเบเกอร์และเอเบิลเป็นผู้โดยสารถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจากฐานที่แหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา หลังผ่านไป 16 นาทีลิงทั้งสองก็ได้ทะยานขึ้นไปในอวกาศเป็นระยะทางกว่า 2,700 กิโลเมตรและแตะระดับความสูงที่ประมาณ 579 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลก ซึ่งถือว่าสูงกว่าระดับวงโคจรปัจจุบันของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

1959 แคปซูลที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันร่างกายของเบเกอร์ขณะโดยสารไปกับจรวดจูปิเตอร์ หลังการปล่อยจรวดในเดือนพฤษภาคม ปี 1959 เบเกอร์และเพื่อนร่วมทางของมันก็กลับมายังโลกอย่างปลอดภัย โดยตกลงมาในบริเวณทะเลของรัฐฟลอริดา ภาพโดย NASA
1959 ลิงกระรอกนามว่าเบเกอร์หรือที่ผู้คนมักเรียกกันว่า “มิสเบเกอร์” และลิงวอกนามว่าเอเบิลถูกส่งไปเยือนอวกาศพร้อมกับจรวดจูปิเตอร์ในวันที่ 28 พฤษภาคม ปี 1959 และเมื่อกลับมายังโลกเบเกอร์ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปี 1984 ภาพโดย NASA

หลังจากที่อยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักระยะหนึ่ง ลิงทั้งคู่ก็ตกลงมายังพื้นโลกอีกครั้ง โดยเบเกอร์ถูกจับใส่ในแคปซูลที่มีขนาดใกล้เคียงกับแก้วเก็บอุณหภูมิขนาดใหญ่ขณะเดินทาง ลิงทั้งสองเผชิญกับแรงกระทำซึ่งรุนแรงกว่าแรงโน้มถ่วงของโลกถึง 38 เท่าขณะที่จรวดดิ่งตัวลง เมื่อจรวดตกลงมายังทะเลในรัฐฟลอริดา เบเกอร์และเอเบิลก็ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากอเมริกามีความพยายามที่จะส่งลิงขึ้นไปอวกาศและส่งกลับมาที่โลกอย่างปลอดภัยมาหลายทศวรรษแล้ว หากแต่ลิงที่ถูกเลือกนั้นมักจะเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติภารกิจหรือเสียชีวิตหลังกลับมาถึงโลกไม่กี่ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้เบเกอร์และเอเบิลซึ่งตกลงมาสู่โลกอย่างปลอดภัยจึงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคู่แรกที่มีชีวิตรอดหลังการท่องอวกาศ

 1957 ไลก้า หรือ “มุกนิก” ที่สื่ออเมริกันเรียกเป็นชื่อของสุนัขสัญชาติโซเวียตซึ่งร่วมเดินทางไปกับดาวเทียมสปุตนิก 2 ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ปี 1957 ไลก้าคือสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่ได้โคจรรอบโลก สหภาพโซเวียตชี้แจงว่ามันมีชีวิตรอดบนอวกาศได้หลายวัน ทว่าความร้อนที่มากเกินไประหว่างการเดินทางกลับโลกเป็นสิ่งที่ทำให้ไลก้าเสียชีวิตหลังยานลงจอดในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ภาพโดย SOVFOTO, UNIVERSAL IMAGES GROUP VIA GETTY IMAGES

อย่างไรก็ตาม เอเบิลเสียชีวิตขณะที่เข้ารับการรักษาหลังกลับถึงโลกได้เพียงไม่กี่วัน ในขณะที่เบเกอร์มีชีวิตอยู่จนถึงปี 1984 เมื่อ เบเกอร์สิ้นอายุขัย ร่างของมันถูกนำไปฝังไว้ที่ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ฯ (U.S. Space and Rocket Center: USSRC) ณ รัฐแอละแบมา

1960 ก่อนที่นีล อาร์มสตรองจะได้เป็นหัวหน้าในภารกิจเจมิไน 8 (Gemini 8) และภารกิจอะพอลโล 11 (Apollo 11) เขาทำหน้าที่เป็นนักบินทดสอบเครื่องบินพลังจรวด X-15 ซึ่งเป็นหนึ่งในการทดลองผลิตเครื่องบินเพื่อศึกษาการบินด้วยความเร็วเหนือเสียงโดยความร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศสหรัฐฯ นาซา และภาคเอกชน เครื่องบิน X-15 นี้ได้สร้างสถิติใหม่ในการบินด้วยความเร็วเหนือเสียงถึงหกเท่า ภาพโดย NASA

ปัจจุบันนี้มีผู้คนกว่า 600 คนที่มีโอกาสได้ออกไปผจญภัยในอวกาศ ซึ่งสถิตินี้ชี้ให้เห็นว่าการเดินทางไปอวกาศกำลังเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลงและเที่ยวบินที่มีมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีองค์กรเอกชนอีกหลายองค์กรที่มุ่งผลักดันให้การท่องเที่ยวอวกาศหรือการทัวร์อวกาศเป็นที่รู้จักมากขึ้น

อนาคตของการเดินทางไปยังอวกาศของมนุษย์จะเป็นอย่างไรต่อไป คนรุ่นต่อ ๆ ไปจะเดินทางไปนอกโลกบ่อยแค่ไหน แล้วการสำรวจอวกาศของเหล่านักสำรวจจะสิ้นสุดลงที่ใด

เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศและทิศทางในการศึกษาเรื่องนี้ต่อไป เนชันแนล จีโอกราฟฟิกจะพาคุณมองย้อนกลับไปยังเบื้องหลังความสำเร็จของของมนุษยชาติในการท่องอวกาศเป็นเวลากว่าหกทศวรรษผ่านภาพเหล่านี้

มกราคม 1961 ก่อนจะส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศ นาซาได้ทดลองส่งลิงชิมแปนซีและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่าง ๆ ไปยังอวกาศด้วยแคปซูลขนส่งภายใต้โครงการเมอร์คิวรี (Project Mercury) โดยในวันที่ 31 มกราคม ปี 1961 แฮม ลิงชิมแปนซีอายุสามปีถูกส่งไปนอกโลกและเดินทางในอวกาศเป็นระยะทางกว่า 643 กิโลเมตร ณ ความสูงร่วม 255 กิโลเมตรจากพื้นโลก การเดินทางในครั้งนี้สำเร็จลงด้วยดีและแฮมก็กลับสู่โลกอย่างปลอดภัยโดยมีเพียงรอยช้ำบริเวณจมูกจากอุบัติเหตุขณะเดินทางเท่านั้น ภาพโดย NASA
พฤษภาคม 1961 ในวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 1961 อลัน เชปเพิร์ดถือว่าเป็นมนุษย์คนที่สองและชาวอเมริกันคนแรกที่ได้เดินทางไปยังอวกาศ หลังจากที่ภารกิจของเชปเพิร์ดสิ้นสุดลง เขาก็เดินทางกลับมายังโลกด้วยแคปซูลฟรีดอมเซเว่น (Freedom 7 ) ซึ่งลงจอดทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก จากนั้นเรือ U.S.S.Lake Champlain ของกองทัพเรือสหรัฐฯ จึงเข้ามารับเชปเพิร์ดและนำยานแคปซูลของเขาขึ้นเรือเพื่อเตรียมตัวกลับไปยังอเมริกา ภาพโดย NASA
1965 วันที่ 8 มีนาคม 1965 อะเลคเซย์ เลโอนอฟจากสหภาพโซเวียตเป็นนักบินอวกาศคนแรกที่ได้เดินบนอวกาศระหว่างปฏิบัติภารกิจวอสคอด 2 (Voskhod 2) นอกจากนั้นเขายังเป็นคนแรกที่วาดภาพในอวกาศอีกด้วย เลโอนอฟใช้ดินสอสีและกระดาษที่พกมาจากโลกวาดภาพพระอาทิตย์ขึ้นจากมุมที่เขาเห็นขณะปฏิบัติภารกิจ ภาพโดย SOVFOTO, UNIVERSAL IMAGES GROUP, GETTY IMAGES
1994 มาร์ค ซี ลี ขณะลอยตัวนอกยานเพื่อทดสอบอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยของกระสวยอวกาศซึ่งถูกส่งออกจากโลกตั้งแต่ปี 1994 ในช่วงปี 1981 – 2001 นาซาประสบความสำเร็จในการส่งกระสวยอวกาศขึ้นไปโคจรรอบโลกถึง 133 โครงการ โดยมีตัวอย่างโครงการที่สำคัญเช่น โครงการซ่อมแซมกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและโครงการก่อสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ ภาพโดย NASA
2001 วันที่ 6 พฤษภาคม ปี 2001 เดนนิส ติโต นักท่องอวกาศได้ฉลองการกลับมาเหยียบพื้นโลกอีกครั้งหลังลงจอดยานสำเร็จที่ประเทศคาซัคสถาน ติโตเป็นนักท่องเที่ยวคนแรกที่ได้ไปท่องอวกาศ เขามอบเงินให้องค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซียหรือรอสคอสมอส ( Russian space agency: Roscosmos) เพื่อเข้ารับการฝึกกับนักบินอวกาศและใช้เวลาราวแปดวันอยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติ ภาพโดย ALEXANDER NEMENOV, AFP, GETTY IMAGES
2004 เบิร์ท รูทัน นักออกแบบเครื่องบินชนิดพิเศษได้นำต้นแบบของเครื่องบินอวกาศหรือสเปซชิปวัน (SpaceShipOne) ออกมาอวดโฉม ณ ที่ทำงานของเขาในเมืองโมฮาวี รัฐแคลิฟอร์เนีย สเปซชิปวันถือเป็นยานอวกาศลำแรกของภาคเอกชนที่บินได้สูงกว่า 100 กิโลเมตรจากพื้นผิวโลก ด้วยเหตุนี้ยานลำนี้จึงชนะรางวัล Ansari X Prize ในวันที่ 4 ตุลาคม ปี 2004 ภาพโดย PHOTOGRAPH BY JAMES A. SUGAR, NATIONAL GEOGRAPHIC IMAGE COLLECTION
2004 เครื่องบินติดตามการทดลองบินประกบสเปซชิปวันหลังจากที่บินในระดับความสูงมากกว่า 100 กิโลเมตรสำเร็จเป็นครั้งแรกในวันที่ 21 มิถุนายน ปี 2004 โดยก่อนที่จะทะยานออกนอกโลกได้นั้น สเปซชิปวันต้องพึ่งไวต์ไนต์ (White Knight) หรือเครื่องบินแม่ในการนำยานขึ้นไปส่ง ณ จุดที่มีความสูงประมาณ 15 กิโลเมตรเหนือพื้นโลกก่อน จากนั้นจึงจะเริ่มใช้เครื่องยนต์ของตัวเองบินขึ้นสู่อวกาศต่อไป ภาพโดย JIM CAMPBELL, POOL, GETTY IMAGES
มกราคม ปี 2021 บลู ออริจิน (Blue Origin) บริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศโดยเจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้งอเมซอน (Amazon) ได้พยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างจรวดอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้เรื่อย ๆ โดยก้าวแรกของบลูออริจินเริ่มจากการสร้างยานอวกาศแบบไป-กลับที่มีชื่อว่านิวเชปเพิร์ด (New Shepard) ขึ้น โดยจุดประสงค์หลักของยานลำนี้คือการท่องเที่ยวและการทดลองเพื่อเก็บผลศึกษา ในวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 2021 บลู ออริจินก็ประสบความสำเร็จกับการนำยานนิวเชปเพิร์ดขึ้นสู่อวกาศพร้อมผู้โดยสารเป็นครั้งแรก ภาพโดย BLUE ORIGIN
กรกฎาคม ปี 2021 ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษผู้ทุ่มเวลากว่า 17 ปีในการทดลองและวางแผนในการใช้เครื่องบินอวกาศรุ่นสเปซชิปทู (SpaceShipTwo) ซึ่งถูกพัฒนามาจากยานสเปซชิปวันในธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศของตน และในวันที่ 11 กรกฎาคม ปี 2021 บริษัทเวอร์จิน กาแลกติกของแบรนสันก็นำหน้าบริษัทคู่แข่งไปด้วยการนำยานวีเอสเอสยูนิตี้ (V.S.S. Unity) พร้อมกับนักบินจำนวนสองคนและผู้โดยสารจำนวนสี่คนรวมแบรนสันทะยานขึ้นสู่อวกาศในระดับความสูงมากกว่า 80 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลก ภาพโดย VIRGIN GALACTIC

เรื่องโดย ไมเคิล เกรชโค
แปลโดย พรรณทิพา พรหมเกตุ
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม มองโลกเปลี่ยนไปเมื่อได้ท่องอวกาศ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.